นักวิชาการคาใจ พิพิธภัณฑ์สหรัฐคืนทับหลังผิดประเทศ? เชื่อของไทยไม่ใช่เขมร แนะหาทางออกร่วม

สืบเนื่องกรณี พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน หรือเดอะ เมท (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) สหรัฐอเมริกา ประสานเตรียมส่งสอบโบราณวัตถุแก่กัมพูชา 14 รายการ และโบราณวัตถุไทย 2 รายการ ได้แก่ ประติมากรรมพระศิวะสำริด ที่รู้จักในชื่อ Golden Boy (โกลเดน บอย) และ ประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 (อ่านข่าว อธิบดีกรมศิลป์ เผย ‘ยังไม่ชัด’ โกลเดน บอย มาวันไหน แจงปม ทำไมทวงช้า?)

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตถึงทับหลังชิ้นหนึ่งซึ่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันเตรียมส่งคืนกัมพูชาว่า หากพิจารณารูปแบบศิลปะ เชื่อว่าเป็นของไทย ไม่ใช่กัมพูชา สอดคล้องกับศิลปะแบบบาปวนที่มีความใกล้เคียงกับทับหลังปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา และปราสาทเมืองต่ำ  จังหวัดบุรีรัมย์  โดยเป็นลวดลายที่หาได้ยากในกัมพูชา

“ลวดลายแบบนี้หาได้ยากในกัมพูชา หากมาเปรียบเทียบดูจะพบว่า ทับหลังที่เด่นชัดที่สุดที่พระปราสาทพระวิหาร และปราสาทเมืองต่ำ ตัวลวดลายมีความใกล้เคียงมากกว่าในกัมพูชา  ดังนั้น ทับหลังชิ้นนี้ หากให้ผมเชื่อ ผมเชื่อว่าเป็นของประเทศไทย แต่ทางสหรัฐอเมริกาส่งคืนให้กับกัมพูชา

ครั้งหนึ่งที่ตัวแทนฝ่ายกัมพูชาพยายามขอให้ฝ่ายไทยร่วมมือกันทวงโบราณวัตถุจากต่างประเทศคืน ขอให้ได้กลับมาก่อนแล้วมาพิจารณาร่วมกันตามหลักฐานว่าอันไหนของไทย อันไหนของกัมพูชา เพราะผู้ถือครองมักต่อสู้ว่าไม่ใช่ของกัมพูชา หากทางกัมพูชาทวง และไม่ใช่ของไทย หากไทยทวงคืน

Advertisement

ปัญหานี้จะง่ายขึ้นมาหากร่วมมือกัน และไม่ต้องสร้างความลำบากใจให้กลับรัฐบาลอเมริกาที่เขาพร้อมช่วยเหลือ หรือแม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติออสเตรเลียที่ส่งโบราณวัตถุมาให้ตรวจสอบ 70 กว่ารายการ ซึ่งกัมพูชาแม้จะได้คืนจากออสเตรเลียหลายชิ้น แต่ก็พบปัญหาการอ้างสิทธ์บางชิ้นก็ไม่ได้คืนแม้ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมเขมรก็ตามที

ทับหลังชิ้นนี้กำหนออายุได้อย่างหยาบ ๆ ว่าอยู่ในแบบศิลปะเขมรแบบบาปวน แต่หากจะกำหนดให้ละเอียดลงไป จะพบว่ามีความใกล้เคียงกับทับหลังของปราสาทพระวิหาร ในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 มากกว่าทับหลังในรุ่นลูกคือ พระเจ้าอุทัยทิตยวรมัน และพระเจ้าหรรษวรมัน

ตัวอย่างที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือที่ปราสาทเมืองต่ำในส่วนของพื้นที่ต่อเติมจากกลุ่มปราสาทอิฐ 5 หลัง ได้แก่ ระเบียงคดและซุ้มประตูทางเข้าทั้งหมดพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้ต่อเติมจากปราสาทอิฐในรัชสมัยพระเจ้าชัยวีรวรมัน

Advertisement

รู้ได้อย่างไร ว่าเป็นเช่นนั้น พื้นที่ทางความรู้นี้คงไม่เพียงพอจะอธิบายรายละเอียดได้ แต่โปรดทราบว่า ต้องมีประสบการณ์จากการดู และสำรวจปราสาทเขมรมากพอในแต่ละประเทศที่เขามีวัฒนธรรมเขมรสร้างไว้ ไม่ใช่สักแต่เรียนมาจะรู้เท่ากันหมด แต่ที่ควรรู้เท่าทันกันคือ ควรทำอย่างไรจะได้มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้กลับคืนประเทศต้นทางอย่างที่ควรจะเป็น และหากมีข้อสงสัยก็แลกเปลี่ยนการจัดแสดงตามเวลาที่เหมาะสม” นายทนงศักดิ์ กล่าว

อ่านข่าว เปิดเบื้องหลังได้คืน 2 บร.วัตถุ ‘นอกโพย’ ย้อนปม ‘โกลเดน บอย’ 100 ล. ชาวบ้านขุดขายฝรั่งล้านเดียว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image