หนุ่มSMEs ตาม ‘โกลเด้นบอย’ เป็นปี ชี้เทคนิคโบราณสุดล้ำ เชื่ออยู่กทม.-บุรีรัมย์ มาตรฐานไม่ต่าง

หนุ่มSMEs ตาม ‘โกลเด้นบอย’ เป็นปี ชี้เทคนิคโบราณสุดล้ำ เชื่ออยู่กทม.-บุรีรัมย์ มาตรฐานไม่ต่าง

สืบเนื่องรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รับมอบมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ 1.ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy และ 2.ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ เดอะ เมท (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยกรมศิลปากร ได้เชิญชวนประชาชน ร่วมชมความงามของ ‘โกลเด้นบอย’ และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไปนั้น

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ชั้น 2 ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเข้าชมงานวันที่ 4 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ หลังมีการเคลื่อนย้ายประติมากรรมทั้ง 2 รายการ จากพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย มาจัดแสดงที่ห้องศิลปะลพบุรี มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมารับชมอย่างหนาแน่น เต็มห้องจัดแสดง

โดยประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy จัดแสดงอยู่บริเวณกลางห้อง และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จัดแสดงอยู่บริเวณขวามือของห้อง ซึ่งทั้ง 2 ประติมากรรมยังคงได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ โดยทางผู้เข้าชมสามารถถ่ายภาพนิ่งของประติมากรรมทั้ง 2 แต่ขอความร่วมมือจากผู้เข้าชมงดถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือถ่ายคลิปวิดีโอของประติมากรรมทั้ง 2

Advertisement

นายวุฒิชัย สายรัตน์ อาชีพธุรกิจส่วนตัว ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า ส่วนตัวติดตามเรื่องโกลเด้นบอย มาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี ตั้งแต่ที่ทางเดอะเมท สืบทราบว่าเป็นของประเทศไทยและอยากจะทำการส่งคืน ซึ่งวันนี้มารับชมของจริงเป็นครั้งแรก รู้สึกว่าเป็นศิลปะที่สวยงามมากและทำให้เกิดความสงสัย ว่าคนในสมัยโบราณใช้มีวิทยาการ เทคโนโลยี ไหนในการสร้างรูปหล่อแบบนี้ออกมาไดั

นอกจากนี้ ยังรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับสิ่งที่เป็นของคนไทยคืนมา ทำให้คนไทยมีโอกาสได้รับชม ได้เก็บรักษาด้วยตัวเอง และทำให้เกิดความสนใจมากขึ้นด้วย

Advertisement

“ในเรื่องของการนำกลับไปจัดแสดงที่ถิ่นฐานเดิม อย่างจังหวัดบุรีรัมย์ ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการเก็บรักษา ซึ่งถ้าอยู่ในมือของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จะกลับไปอยู่ที่บุรีรัมย์ หรือที่กรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างกัน เพราะว่ามาตรฐานการรักษาของพิพิธภัณฑสถานต้องทำได้ดีอยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าสามารถนำกลับไปอยู่ที่ถิ่นฐานเดิมได้คงจะเป็นเรื่องที่ดี

ซึ่งการนำกลับจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัด และบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เชื่อว่าคนในประเทศที่สนใจจะเดินทางไปตามหาโกลเด้นบอย ที่ถิ่นฐานเดิมด้วย” นายวุฒิชัยกล่าว

อ่านข่าว : คิวยาว รอสบตา ‘โกลเด้นบอย’ ล้นห้องศิลปะลพบุรี วันที่ 4 กระแสยังแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image