ขุดพบอิฐสลัก “ใบหน้า” ปริศนา เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว นักโบราณฯชี้เก่าถึงยุคศรีวิชัย มีหงส์-ดอกไม้ด้วย

สืบเนื่องกรณี นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้เปิดเผยถึงการพบหลักฐานใหม่ที่แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นเมืองท่าสำคัญสมัยศรีวิชัย นายอาณัติ กล่าวว่า เขาศรีวิชัยเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่มีการขุดค้นมานานนับสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานล่าสุด มีการพบหลักฐานใหม่ซึ่งไม่เคยพบมาก่อน โดยโบราณวัตถุสำคัญได้แก่ จักร ทำจากโลหะสำริด และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง รวมถึงวัตถุที่มีแหล่งผลิตจากประเทศอินเดีย สะท้อนว่าพื้นที่แถบนี้เป็นเมืองท่าขนาดใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากในสมัยศรีวิชัยซึ่งรุ่งเรืองจากการค้าทางทะเล โดยมีข้อสันนิษฐานกันว่าเป็นรัฐโบราณซึ่งในเอกสารจีนเรียกว่า ‘พันพัน’ โดยปัจจุบันคืออำเภอพุนพิน ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ ได้เปิดเผยภาพและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพบโบราณวัตถุหลายอย่าง อาทิ เศษเครื่องถ้วยจีนราชวงศ์ถัง ประมาณ 300 ชิ้น เคลือบสีเขียว บางชิ้นวาดลวดลายอกไม้ ทั้งแบบขูดขีดและกดประทับให้เกิดลาย, เศษภาชนะดินเผาจากเปอร์เซีย เคลือบสีเขียวอมฟ้า ราว 50 ชิ้น และเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินจำนวนมาก ชิ้นเด่นคือ เครื่องใช้ในพิธีกรรม เช่น กุณฑี หม้อพรมน้ำ คนโท เชื่อว่าเป็นของนักบวช

นอกจากนี้ ยังพบอิฐแกะสลักลวดลายต่างๆ เช่น รูปดอกไม้, รูปใบหน้าคน มีปาก ตา จมูก และรูปหงส์ ซึ่งหากพบเพียงชิ้นเดียวจะดูไม่ออกว่าเป็นภาพใด ต้องนำมาต่อกัน 3 ชิ้น ทำให้นึกถึงปราสาทหมี่เซิน ในศิลปะจามปาประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความนิยมแกะสลักบนอิฐ ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ต้องศึกษาต่อไป

Advertisement

ด้าน ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านลูกปัดและประวัติศาสตร์โบราณคดีภาคใต้ แสดงความเห็นว่าข้อสันนิษฐานของนายภาณุวัฒน์ มีความเป็นไปได้ เนื่องจากชาวจามนิยมสร้างศาสนสถานด้วยอิฐ แล้วสลักลวดลายบนเนื้ออิฐ จึงอาจเชื่อมโยงกันบางส่วน อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ได้เห็นภาพวัตถุดังกล่าว

อนึ่ง แหล่งโบราณคดีนี้มีพื้นที่เฉพาะบนเขากว้างประมาณ 800 เมตร โดยครอบคลุมไหล่เป็นบริเวณกว้าง พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนยุคศรีวิชัย คือ ราวพุทธศตวรรษที่8-10 หรือ พ.ศ. 700 กว่าๆ- 900 กว่าๆ สืบเนื่องมาถึงสมัยศรีวิชัยซึ่งสิ้นสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 18 พร้อมๆกับการสิ้นสุดของอารยธรรมขอมโบราณ

อิฐสลักรูปหงส์
อิฐสลักรูปหงส์ ซึ่งต้องนำมาวางต่อกันหลายชิ้น
อิฐสลักรูปหงส์ มองเห็นรูปร่างอย่างชัดเจน
อิฐสลักลวดลายพันธุ์พฤกษา

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image