ประเมินฝีมือ กกต. บนสมรภูมิเลือกตั้ง’66

หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการและอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประเมินความพร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนการจัดการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 14 พฤษภาคม

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

หากมองบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับหลายชุดที่ผ่านมา ควรจะยกย่องชุดแรกเป็นแบบอย่างในการทำงานเชิงรุก อาทิ การรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การให้ความรู้ การให้ข้อมูล รวมถึงความตรงไปตรงมาในการปฏิบัติหน้าที่ แต่หลังจากนั้นเริ่มถดถอย ทุกคนมองว่ามีการเมืองเข้าไปแทรกแซงในกลไกการเลือกตั้ง ที่หนักสุดคือ กกต.ชุดนี้มีกระบวนการที่มาที่ไป ถูกตั้งคำถาม เห็นการทำงานในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กระทั่งจะมีการเลือกตั้งในปี 2566 เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงน่าสงสัย การเลือกตั้งครั้งนี้หลายคนทิ้งน้ำหนักไปที่เป้าหมายแรกไม่ใช่นักการเมืองกลับกลายเป็น กกต. เนื่องมาจาก กกต.หมดความน่าเชื่อถือ

Advertisement

บทบาท กกต.ผิดไปจากเดิม ที่มาที่ไปของ กกต.ชุดปัจจุบันไม่สัมพันธ์กับกลไกของประชาชนเลย เช่น การฟังเสียงประชาชน ภาคประชาสังคม องค์กรภาคประชาสังคมที่มีบทบาทในการเลือกตั้งที่ช่วยกันกลั่นกรองเฟ้นหาตัวผู้ที่จะเป็น กกต. เพราะองค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่จะรู้ใครเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นอย่างดี แต่ว่ากลไกการได้มาของ กกต.ไม่ได้เอาปัจจัยตามที่กล่าวมาเป็นองค์ประกอบและพิจารณา เป็นการวางคุณสมบัติไว้ที่ คสช.ทั้งหมด ได้คนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เหมือนกับเอาทหารไปเป็นหมอรักษาคนไข้ เอาหมอรักษาสัตว์ไปทำอาหาร ทุกคนมีความสามารถ แต่เอาไปทำงานในสิ่งที่ไม่มีความรู้ จึงไม่เข้าใจเรื่องคอนเซ็ปต์การเลือกตั้ง จึงทำงานแบบนักรบห้องแอร์ มีการวางบอร์ดเป็นแบบใหญ่ ในฐานะกำกับควบคุมระดับนโยบาย แล้วปล่อยให้สำนักงาน กกต.ทำงานในเชิงปฏิบัติ หากมองว่าจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ ถือว่าทำได้ แต่ผลพวงที่ออกมาจะมาในเชิงลบมากกว่า กกต.ชุดอดีตที่ผ่านมาจะมีการแบ่งการทำงานอย่างชัดเจน ชุดปัจจุบันไม่พบว่ามีการสื่อสารกับสังคมแต่อย่างใด ที่สำคัญ กกต.ชุดนี้ไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง จึงต้องวางตัวแบบลอยตัวไปก่อน แล้วให้สำนักงาน กกต.ทำงาน

ความพร้อมของ กกต.กับการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ คิดว่า กกต.พร้อมในฐานะที่เป็นกลไกในความรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้ง แต่ประสิทธิภาพจะคาดหวังได้มากแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องไปดูที่หน้างาน และจะเห็นความชัดเจนหากมีความบกพร่องเกิดขึ้น

ความกังวลใจของการทำงานและบทบาทของ กกต.ผมกังวลใจมาตลอด นับจากนี้ไปการบริหารงานเลือกตั้ง การนับคะแนน การแจกใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม อาจจะมีเรื่องเกิดขึ้นตามมามากมาย มีการร้องเรียนของพรรคการเมืองจำนวนมาก ประเด็นสำคัญคือการร้องเรียนไปสู่การยุบพรรคการเมือง จึงอยากให้มีการพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน

Advertisement

ส่วนเรื่องข้อเสนอแนะ กกต. มองว่า กกต.ต้องแสวงหาพันธมิตรให้มากที่สุด จะทำเฉพาะกลุ่มข้าราชการคงไม่พอ ต้องร่วมมือกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันทางการศึกษาให้มามีส่วนร่วมในการติดตามเกาะติดสถานการณ์การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความโปร่งใส และระยะยาวหาก กกต.มองตัวเองล้มเหลว กกต.ก็ต้องถอดบทเรียนเพื่อกู้ภาพลักษณ์

ท้ายสุดบทบาทของ กกต.ชุดนี้หากมีการเปรียบเทียบกับการทำงานหลายชุดที่ผ่านมาคงต้องมองที่มาของ กกต. ต้องดูในเรื่องคุณสมบัติว่า กกต.มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเลือกตั้งหรือไม่ กกต.ทุกคนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และทำงานเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาตลอด รวมทั้งสนใจงานเลือกตั้ง จุดสำคัญคือกลไกการได้มาของ กกต.จะต้องยึดโยงกับประชาชน และจุดสำคัญถึงแม้ว่าจะมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วก็ตาม จะต้องได้รับความไว้วางใจจากสังคมอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลดีในเรื่องการขอความร่วมมือกับสังคม ผลที่ตามมาการทำงานของ กกต.ก็ปราศจากข้อสงสัย ซึ่งแตกต่างกับ กกต.ชุดนี้ไปหาใครก็กังวลใจ ไม่มีใครอยากจะทำงานด้วย โดยมีผลพวงมาจากการแต่งตั้งของ คสช.

สดศรี สัตยธรรม
อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ตอนนี้ กกต.ควรเป็นผู้ออกมาแถลงมากกว่าองค์กรอื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานและความพร้อมในทุกอย่าง เนื่องจากก่อนการเลือกตั้งทุกครั้งต้องมีการแถลงอยู่แล้วว่าได้จัดการอะไรไปได้แล้วบ้าง ขณะนี้เหลืออีกไม่กี่วันเท่านั้น คาดว่าใกล้ๆ นี้ กกต.คงจัดแถลง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมีการแถลงเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองทั้งหมด 19 เรื่อง และผลระยะเวลาที่ กกต.จะต้องดำเนินการนั้นนับตั้งแต่มีการยื่นคำร้องเข้ามาจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 76 วันแต่ กกต.ก็ยังไม่มีปฏิกิริยาอะไร ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากมีการยุบพรรคก่อนการเลือกตั้งจะทำให้พรรคนั้นหมดไปทันที และกรรมการบริหารของพรรคที่ถูกยุบก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี แต่ กกต.ก็ยังไม่ได้แถลงเรื่องนี้ออกมา ประเด็นนี้ไม่ควรปล่อยให้เป็นที่สงสัยของประชาชน และถ้าไม่มีการยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง กกต.ก็ควรแถลงโดยเร็วเพื่อความสบายใจของทุกพรรคการเมืองที่ถูกร้องให้ยุบพรรค

ประเด็นต่อมาคือการเลือกตั้งล่วงหน้า กกต.ก็ยังไม่ได้แถลงว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเท่าไร มีปัญหาหรือเรื่องที่ต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเคยมีประเด็นที่พูดกันคือการส่งบัตรเลือกตั้งซ้ำซ้อน ก็ยังไม่มีการแถลงให้เกิดความชัดเจน ควรมีการระบุถึงสถานทูตทุกประเทศว่ามีความพร้อมหรือไม่ในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมถึงการส่งบัตรเลือกตั้งกลับมาได้ทัน ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในการเลือกตั้งปี’62 ที่บัตรมาถึงหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้ว ปัญหานี้สำคัญมาก มีเจ้าหน้าที่หลายคนถูกลงโทษ สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสสำคัญของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรโดย กกต.เองควรทำให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาของสถานทูตแต่ละแห่งก็ควรมีการรวบรวม จัดทำเป็นข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบว่าสมควรหรือไม่ที่จะต้องมีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรต่อไปในอนาคต เพราะถ้ามีอุปสรรคและได้ไม่คุ้มเสียในเรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ควรต้องมีการประเมินผลของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้เกิดความชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ที่ผ่านมา เคยมีประเทศในแอฟริกาที่บางรัฐมีคนมาเลือกตั้งน้อยกว่าที่รายงานตัวไว้ เราจะทำอย่างไรให้คนไทยนอกราชอาณาจักรมาใช้สิทธิครึ่งหนึ่งก็ยังดี สิ่งเหล่านี้ กกต.ยังไม่ได้แถลงออกมา

กรณีของบัตรเลือกตั้งที่มีการพิมพ์เกินกว่า 7 ล้านฉบับนั้น กกต.ควรออกมาแถลงถึงเหตุผล เพราะการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนนั้นมีความจำเป็น เนื่องจากในบางหน่วยเลือกตั้งหากมีการส่งบัตรไปน้อยกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีการนำบัตรจากส่วนกลางเพิ่มเข้าไป แต่ไม่ควรจะเกิน 10% ของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง การที่พิมพ์เกินไปถึง 7 ล้านฉบับ ก็คงต้องมองดูว่ามีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างไร และบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์เกินไปหลังจากการเลือกตั้งแล้วจะมีวิธีการทำลายบัตรที่เหลืออย่างไรจะได้ไม่เกิดประเด็น และสำคัญที่สุดคือแม้แต่เลขาฯกกต.เองก็ไม่มีการออกมาพูดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเลือกตั้ง

เท่าที่เคยเป็น กกต.มาจะมีการแถลงในวันเลือกตั้งทุก 2 ชั่วโมงว่าปัญหาหรืออุปสรรคของแต่ละหน่วยเลือกตั้งเป็นอย่างไร จะเป็นการผลัดเปลี่ยนกันแถลง ไม่ใช่ให้ทุกอย่างโยงไปทางสื่อมวลชน หาก กกต.เป็นผู้แถลงเองจะทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า กกต.มีความระมัดระวังในการควบคุมการเลือกตั้ง และได้ออกไปดูแลหน่วยเลือกตั้งไหนบ้าง ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

ประชาชนต้องการเห็นว่า กกต.ลงพื้นที่จริงและเป็นผู้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าปัญหาและอุปสรรคของแต่ละเขตเป็นอย่างไร

ส่วนการรวบรวมคะแนนหลังจากปิดหีบเลือกตั้ง ควรจะมีการรายงานเป็นระยะไป แต่การรายงานน่าจะต้องมีการผูกพันว่าเป็นการรายงานที่ยังไม่เป็นทางการเพื่อจะได้มีการตรวจสอบอีกครั้งว่าผลของการลงคะแนนเป็นอย่างไร และเสร็จไปเท่าไรในคืนวันเลือกตั้ง

ตรีเนตร สาระพงษ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

กระบวนการสู่ความเป็นประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ และผู้จัดการในระหว่างทางคือ กกต. ในฐานะผู้ถือกติกาและบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกา เพื่อให้เจตนารมณ์ศักดิ์สิทธิ์ของประชาชน ส่งตัวแทนของเขาให้ไปทำหน้าที่แทนในฝ่ายนิติบัญญัติในสนามการเลือกตั้ง คุณสมบัติที่สำคัญของ กกต.คือความเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพล หรือการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดหรือพรรคใดเป็นการเฉพาะ

ขณะนี้เรื่องที่ทำแล้วถูกตั้งคำถามว่าอาจมีการทุจริต เช่น พิมพ์บัตรเกินจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องที่ชวนสงสัยว่าพิมพ์มาเพื่ออะไร เบาๆ หน่อยก็อาจถูกมองว่าทำงานไม่เป็น วางแผนไม่เป็นถึงต้องพิมพ์ออกมามาก แรงๆ หน่อยก็อาจถูกถามว่าเอามาช่วยเหลือใคร ยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีช่องโหว่จากหน่วยเลือกตั้งไปถึงจุดนับคะแนน และกระบวนการนับคะแนนที่อยู่ในที่สว่าง-เปิดเผย ก็ยิ่งทำให้คลุมเครือ มีช่องโหว่จากการขนหีบบัตรไปจนถึงการนับคะแนน เรื่องเหล่านี้ต้องนำแสงสว่างส่องเข้าไปให้เกิดความโปร่งใส และควรลดสิ่งที่เป็นดุลพินิจลงก่อนที่จะเป็นการทำตามใจแต่อ้างหลักการ

จากข้อกังวลที่ออกมารายวัน เมื่อประเมินจากจำนวนคน งบประมาณ และการจัดการถึงความพร้อมของ กกต.กับการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ก็น่าจะเชื่อว่า กกต.มีความพร้อมระดับหนึ่งในแง่การจัดการเชิงกายภาพ แง่ความโปร่งใสถือเป็นความกังวลใจอาจมีคำถามอยู่มากว่าเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ และยิ่งผลโพลออกมาว่าฝ่ายประชาธิปไตยน่าจะชนะการเลือกตั้ง กกต.ก็อาจตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้ว่าจะวางกับดักฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกลวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสงสัยเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง หรือเป็นหมากตัวหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดเพื่อยุบพรรคการเมือง เหล่านี้ล้วนเป็นข้อสงสัยที่มีมูลที่ทำให้ผลการประเมินการทำงานของ กกต.อาจไม่สู้ดีนัก

ในสนามเลือกตั้งมีเดิมพันสูง มีการแข่งขันสูงไม่มีใครยอมใคร กกต.จึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่า กกต.ไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบนักการเมือง หรือให้ใบแดงหรือใบต่างๆ ในสนามเลือกตั้งเพียงฝ่ายเดียว แต่นักการเมืองผู้เล่นในสนามเลือกตั้งซึ่งเดิมพันสูงจะเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ตรวจสอบทุกก้าวย่างของ กกต. ดังเช่นที่พรรคเพื่อไทยจัดตั้งศูนย์ปราบทุจริตเลือกตั้ง ดูเสมือนว่าสปอตไลต์ของศูนย์นี้ส่องมาที่ กกต. เช่นนี้ตัว กกต.เองก็เดิมพันสูงเช่นกัน

กกต.จึงควรยึดหลักการสากลทั้งในการปฏิบัติงานและการพิจารณาเรื่องร้องเรียน และควรตระหนักอยู่เสมอว่าตนเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ ดังนั้น ความเป็นอิสระมาเป็นเกราะกำบังให้ตนเอง ผลปลายทางของการไม่รอบคอบ บกพร่อง หรือพิจารณาอย่างรวบรัดตัดตอน หรือกรณีร้ายแรงด้วยการบิดเบี้ยวกติกา คือโทษอาญา รวมถึงอาจต้องชดใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐกรณีที่ถูกนักการเมืองฟ้องร้องหลายสิบล้าน

นอกจากนั้นควรยึดหลักความโปร่งใส เช่น ในการขนหีบบัตร หรือการนับคะแนนอาจใช้วิธีการบันทึกวิดีโอ หรือไลฟ์สดตลอดเวลาทุกขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่ไม่กระทบสิทธิผู้อื่นออกสู่สาธารณะ หรือควรมีตัวแทนภาคประชาชน หรือตัวแทนฝ่ายการเมืองร่วมสังเกตการณ์ตลอดเวลาจนกว่าจะนับคะแนนเสร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image