‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ค้านอดีตอธิบดีกรมศิลป์ เชื่อ ‘วัดเจ้าฟ้า’ อยู่บนเขาพนมยงค์ ไม่ใช่วัดเขาดิน

‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ค้านอดีตอธิบดีกรมศิลป์ เชื่อ ‘วัดเจ้าฟ้า’ อยู่บนเขาพนมยงค์ ไม่ใช่วัดเขาดิน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม เวลาประมาณ 13.30 น. ที่คูเมืองอู่ตะเภา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี มีการบันทึกเทปรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘สุนทรภู่ตามรอยพระเจ้าตากไปวัดเจ้าฟ้าของพระเจ้าเสือ เมืองอู่ตะเภา หนองแซง-หนองแค สระบุรี’ ดำเนินรายการ โดยนายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวี

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน กล่าวว่า ชื่ออู่ตะเภาตั้งตามนิทานท้องถิ่นที่มีตัวเอกคือ ‘พระเจ้าอู่ตะเภา’ เป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี บริเวณนี้เต็มไปด้วยชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวกับหนองน้ำ หรือแอ่งที่มีน้ำขังตลอดปี เช่น หนองแค และหนองแซง นับเป็นพื้นที่ซึ่งมีหนองน้ำมากที่สุด เป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวพันกับที่มาของชื่อจังหวัดสระบุรี ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีสระน้ำจำนวนมากก็เป็นได้ โดยชื่ออู่ตะเภานี้คือส่วนช่วยไขปริศนาที่ตั้งของ ‘วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์’ ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า ซึ่งแต่งโดยเณรหนูพัด บุตรชายของสุนทรภู่ แต่ต่อมาถูกเหมารวมว่าเป็นผลงานสุนทรภู่

จากนั้น เดินทางต่อไปยังวัดสนมไทย บริเวณเขาพนมยงค์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี โดยนายสุจิตต์ กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.2505 นายธนิตย์ อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากร เคยตั้งข้อสันนิษฐานว่า วัดเจ้าฟ้า คือวัดเขาดิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมา นายเปลื้อง ณ นคร และคณะนักปราชญ์สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ทำให้เชื่อกันเช่นนั้นตลอดมา อย่างไรก็ตาม จากภูมิศาสตร์ของวัดเขาดินและข้อความที่พรรณนาในนิราศขัดแย้งกัน ทั้งการที่ต้องรอนแรม ปีนโขดหิน และระยะเวลาการเดินทาง ตนจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นวัดในจังหวัดสระบุรีมากกว่าโดยเคยเชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าคือ วัดพระพุทธฉาย แต่ล่าสุด ตนออกสำรวจใหม่ และค้นคว้าหลักฐานต่างๆ ทางจากข้อความในวรรณคดีเรื่องดังกล่าวประกอบอีกทั้งร่องรอยอื่นๆ พบว่า วัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์นั้นมีความเป็นไปได้ว่า คือ วัดสนมไทย

Advertisement

โดยเฉพาะข้อความในนิราศท่อนที่ระบุว่า “พอเย็นจวนด่วนเดินขึ้นเนินโขด ถึงตาลโดดดินพูนเป็นมูลสูง”

พบว่ามีความใกล้เคียงกับสภาพภูมิประเทศบริเวณวัดแห่งนี้มากกว่า เนื่องจากไม่ได้อยู่บนภูเขา แต่อยู่ช่วงเนินหรือปลายเขาที่พื้นที่ยกสูงไม่มากนักและมีก้อนหินใหญ่น้อยมากมาย ที่โดดเด่นคือหินขนาดใหญ่ 3 ก้อนเรียงกันที่ดูมีลักษณะพิเศษ ซึ่งในสมัยโบราณมักถูกเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า เจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ ยังมีความหมายเชื่อมโยงกับ ‘พระเจ้าเสือ’ แห่งกรุงศรีอยุธยา

Advertisement

“อากาศคือ ท้องฟ้า นาถนรินทร์คือ ที่พึ่งของมวลเทวดา ในคำให้การชาวกรุงเก่ากับคำให้การขุนหลวงหาวัด เรียกพระเจ้าเสือว่าพระศรีสุริเยนทร์ ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ เจ้าฟ้าอากาศคือใคร ก็คือพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นผู้เป็นใหญ่แห่งท้องฟ้า นี่คือสิ่งที่ตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ บริเวณนี้ที่เรียกกันว่าเขาพนมยงค์ จริงๆ แล้วเดิมคือคำว่าพนมโยง หมายถึง เป็นพื้นที่เชื่อมต่อ หรือโยงกับเขาลูกใหญ่ ปรากฏในสมุดภาพไตรภูมิ สมัยอยุธยา ในพระราชพงศาวดารบอกว่า พระเจ้าเสือเคยเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ทั้งหมดนี้ชี้ว่าเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์คือพระเจ้าเสือแน่นอน” นายสุจิตต์กล่าว

นายสุจิตต์กล่าวว่า สุนทรภู่เป็นคนชอบเล่นแร่แปรธาตุ ตามหายาอายุวัฒนะและระบุไว้เองว่าได้ ‘ลายแทง’ เรื่องวัดเจ้าฟ้าจากเมืองเหนือ ซึ่งหมายถึงภาคกลางตอนบนไม่ใช่ล้านนา เล่าถึงพระเจ้าตะเภาทองไปเที่ยวบนเขา พบก้อนหินมหึมาสีขาว จึงสร้างวัดบนเขา ตั้งชื่อว่าวัดเจ้าฟ้าอากาศนาถนรินทร์ สอดคล้องกับภูมิศาสตร์วัดสนมไทย

นายสุจิตต์กล่าวอีกว่า จากการขุดค้นของกรมศิลปากร ยังพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ชี้ให้เห็นว่าเคยมีวัดตั้งอยู่บนเขาพนมยงค์ ประกอบกับเส้นทางที่ปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า ใกล้เคียงกับเส้นทางพระเจ้าตากสิน บ่งชี้ว่าวัดเขาดินตั้งอยู่ในแถบนี้ไม่ใช่อยุธยา

นายขรรค์ชัยกล่าวว่า ในช่วง พ.ศ.2525 หรือเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ตนเดินทางมาที่วัดสนมไทยเกือบทุกสัปดาห์ เพื่อพบ ‘หลวงปู่วัย’ ซึ่งช่วยรักษาอาการเจ็บปวดที่หลังให้ตนและชาวบ้านจำนวนมาก เป็นพระภิกษุชื่อดังที่ผู้คนให้ความเคารพมาก แต่ในขณะนั้นตนไม่ได้นึกถึงประเด็นเรื่องวัดเจ้าฟ้า การที่นายสุจิตต์นำหลักฐานต่างๆ มาเปิดเผยในครั้งนี้ นับเป็นการชำระประวัติศาสตร์ใหม่ด้วยวรรณคดี

ทั้งนี้ รายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ประจำเดือนธันวาคม เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี ในวันอังคารที่ 31 ธันวาคม เวลา 14.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image