ความเป็น ‘ไทย’ อันไร้เสรี กับมาตรฐานความดีที่แปลกประหลาด ในสายตา องอาจ โล่ห์อมรปักษิณ

"เขมือบซ้อน" สื่อถึงความสงสัยว่าตนถูกครอบงำทางความคิดหรือไม่ แต่ไม่นานก็มีงูอีกตัวคือความคิดใหม่ที่เตรียมเข้ามาครอบงำอีกชั้นหนึ่ง

จบลงไปหมาดๆ สำหรับนิทรรศการชื่อสั้นๆ ว่า ‘ไทย’ ที่ไม่มีลวดลายกระหนกลงรักปิดทองอร่ามตาให้ทัศนาแม้เพียงเล็กน้อย หากแต่เป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่ชี้ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับนิยามความเป็นไทยทั้งแง่บวกและลบ สะท้อนสังคม การเมือง วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่ดูอย่างไรก็ไม่เบื่อเพราะแฝงไว้ด้วยสัญลักษณ์ให้ตีความไม่จบสิ้น ณ  สาทร 11 อาร์ต สเปซ ตลอดเดือนมกราคม 2559

องอาจ โล่ห์อมรปักษิณ ศิลปินเจ้าของผลงานเล่าว่า ต้องการใช้นิทรรศการนี้เป็นภาพสะท้อนสังคมและสิ่งต่างๆ ที่นับว่า ‘เป็นไทย’ ซึ่งมีความหลากหลาย ทว่าแฝงไว้ด้วยปัญหามากมาย ไม่มีกฎกติกาที่เสมอภาคอย่างจริงแท้

“คนไทยคิดว่าเราเจ๋ง แปลก ฝรั่งชอบ ทำอะไรในระบบเก่า วัฒนธรรมเราดีเลิศ ลักษณะอวดอ้างตัวเองซะเยอะ ผมเลยต้องการนำเสนอให้มันฉีกไปเลยว่า หากมองอย่างตรงไปตรงมา สังคมไทยถูกหลอก แม้แต่สังคมดิ่งลงเหว เรายังหลอกกันได้เลยว่ามันจะดีขึ้น” ศิลปินหนุ่มกล่าวอย่างหมดเปลือก แล้วเล่าถึงการเลือกใช้สัตว์บางชนิดเป็นภาพแทนของนามธรรม โดยเฉพาะ “งู” ที่เห็นได้ในงานหลายชิ้น เพราะงูสามารถเขมือบสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองได้ และไม่ได้กินเพียงบางส่วนเหมือนสัตว์อื่น แต่กลืนกินทั้งตัว เลยใช้แทนมนุษย์บางคนและบางกลุ่มที่พยายามครอบงำทุกสิ่ง ไม่ใช่เพียงร่างกาย หากแต่รวมถึงความคิดความเชื่อของคนอีกด้วย

12666520_1113781195329439_1224627544_n

Advertisement

“มีภาพที่เป็นคนนอนชี้ไปที่งู แทนคนที่ถูกครอบงำแต่ไม่รู้ตัว คิดว่าตัวเองมีความสุขทั้งที่ถูกครอบงำอยู่ ส่วนอีกภาพเป็นภาพงูที่มีการเขมือบซ้อน สะท้อนถึงบางคนเห็นบางอย่างที่มันผิดปกติ ก็เริ่มสงสัยว่าตัวเองถูกครอบงำทางความคิดหรือเปล่า แต่ยังไม่ทันไร จะมีงูอีกตัวคือความคิดใหม่ที่เตรียมเข้ามาครอบงำเราอีกทีหนึ่ง”
ยังมีภาพเสือกินเสือ และเสือกินม้า ที่เขาบอกว่า “อารมณ์ประมาณ เสร็จศึกฆ่าขุนพล” สะท้อนการเมืองบางอย่างที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด แต่สังคมปล่อยให้เกิดสิ่งที่ “น่าเกลียด” แบบนี้ขึ้นมาได้

12648112_1113781305329428_669032592_n

 

Advertisement

แตะการเมืองแบบเต็มๆ อย่างนี้ แต่องอาจยืนยันว่าตัวเองไม่ได้สนใจการเมืองเป็นพิเศษแบบเฉพาะเจาะจง ทว่าได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากการซึมซับบรรยากาศยุคเดือนตุลาผ่านหนังสือที่เคยอ่านตั้งแต่เด็ก แล้วจึงค่อยตกผลึกทางความคิด ผ่านการกลั่นกรองจนออกมาเป็นชิ้นงานที่รวมๆ แล้วใช้เวลานานหลายปี โดยเริ่มลงมือสร้างผลงานอย่างน้อย 2-3 ปี โดยไม่ได้มีแค่งานจิตรกรรม แต่ยังมีประติมากรรมชิ้นเด่นอย่าง “กากอย ออฟ ไทยแลนด์” ที่จงใจสะท้อนถึง “ความเชื่อ” ในสังคมไทยผ่านรูปปั้นสัตว์ประหลาดแบบตะวันตกมี “มือกวัก” อีกทั้งหลังศีรษะของประติมากรรมชิ้นนี้มีรูปพระปิดตาอันสื่อถึงนัยยะบางประการ

“เวลารับสิ่งต่างๆ จากต่างประเทศมา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรืออื่นๆ ก็มักเอาความเชื่อดัดเข้าไป แล้วจะควบคุมคนได้ง่าย เมื่อมีความเชื่อ เหตุผลจะถูกลดทอนลงไปทันที ผมไม่ได้แอนตี้ศาสนาพุทธ รู้สึกด้วยซ้ำไปว่าเป็นศาสนาที่มีเหตุผล แต่ประเทศเราเอามาใช้ในลักษณะที่งมงาย เลยเอารูปพระปิดตา เพื่อบอกว่าเนื้อแท้ศาสนาพุทธไม่งมงาย แต่มาอยู่กับคนไทยและระบบที่มีคนพยายามควบคุม เลยกลายเป็นศาสนาที่งมงาย พระปิดตาสื่อถึงว่า พระไม่รับรู้อะไรนะ ที่เอาท่านมาใช้”

สรุปง่ายๆ ว่าความเชื่อในสังคมไทยกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ควบคุมคน

04

อีกหนึ่งชิ้นงานที่ตั้งคำถามสำคัญอย่างประเด็น “ความดี” ด้วยภาพงูสีขาวที่กำลังกลืนกินนก

“มาตรฐานว่าความดีคืออะไร สิ่งไหนที่เป็นบรรทัดฐานในการเป็นคนที่ได้รับการยอมรับในสังคม จะมีแพตเทิร์นอยู่ไม่กี่อย่าง เหมือนเป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งโยงไปถึงการที่สังคมอยากให้มีนวัตกรรม แต่สังคมไทยสร้างไม่ได้ เพราะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่จากความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่ความคิดเราถูกครอบตั้งแต่เกิด แม้แต่ในวงการศิลปะและสายงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในบ้านเรามีปัญหา คือชัดเจนมากว่าดิ้นไม่หลุดจากแบบแผน”

งูกินนก

ไม่เพียงความรู้สึกนึกคิดที่ถูกครอบงำ แต่สังคมไทยยังมีเรื่องราวมากมายที่ไม่สามารถพูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งองอาจนำมาถ่ายทอดบนผืนผ้าใบแล้วตั้งชื่อว่า Shut my mouth up หรือ “ไม่พูด”
“การพูดด้วยเหตุผลคือพื้นฐานของสังคมที่จะพัฒนาไปได้ โดยคนในสังคมเองเป็นผู้ขับเคลื่อน ถ้ามีระบบเหตุผลที่แข็งแกร่ง สังคมจะเคลื่อนไปด้วยตัวของมันเอง แต่นี่เรามีปัญหาจัดๆ มีเรื่องที่เราพูดไม่ได้ ทั้งที่หลายเรื่องเป็นการพูดเชิงปฏิรูปและสร้างสรรค์ที่ควรพูดได้ แต่สังคมเรากลับพูดไม่ได้”

ไม่พูด

สำหรับผลตอบรับกับนิทรรศการนี้ เขาบอกว่าผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติซึ่ง “เก็ต” ในสิ่งที่ต้องการสื่อ โดยในขณะนี้ก็กำลังเตรียมนิทรรศการถัดไป ซึ่งมีการสเกตช์งานล่วงหน้าไว้ในหลายหัวข้อตามแต่ความคิดที่ผุดขึ้นมาอย่างหลากหลาย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จะยังคงอิงกับประเด็นทางสังคม

ทั้งหมดนี้คือความคิดอันเฉียบคมที่ถ่ายทอดผ่านผลงานสร้างสรรค์ ที่อาจสะกิดให้สังคมไทยเจ็บๆ คันๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เต็มปากว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริง!

พื้นที่ของเสรีชน

องอาจ โล่ห์อมรปักษิณ

นิทรรศการไทย

นิทรรศการไทย

องอาจ โล่ห์อมรปักษิณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image