มองอินเดีย ผ่าน ‘คังคุไบ’ ฟีเวอร์ เล่าอีกมุมของ ผู้หญิง ชา และ กามธิปุระ

มองอินเดีย ผ่าน ‘คังคุไบ’ ฟีเวอร์ เล่าอีกมุมของ ผู้หญิง ชา และ กามธิปุระ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คังคุไบ” กลายเป็นกระแสฮอตฮิต ในหมู่คนไทยไม่น้อย

หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องดัง Gangubai Kathiawadi หรือ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ได้ออกฉายผ่าน เน็ตฟลิกซ์ คนไทยไม่เพียงพูดถึงหนัง แต่ยังพากันหยิบส่าหรีสีขาว มาสะบัดโพสต์ท่า สวมแว่นตาดำ แต้มจุดแดง โคฟเวอร์เป็น “คังคุไบ” กันทั่ว กระทั่งคนดังทั้งหลาย ก็ไม่พลาดโคฟเวอร์กันรัวๆ

หญิงแกร่งแห่งมุมไบ หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “คังคุไบ” นำแสดงโดย อาเลีย บาตต์ นักแสดงสาววัย 29 ปี นำเสนอเรื่องราวของ “คังคุไบ กฐิยาวาฑี” หรือ นายหญิงแห่งกามธิปุระ ผู้ถูกคนรักหลอกให้มาขายบริการ ก่อนกลายเป็นผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับหญิงขายบริการในเมือง กามธิปุระ ทั้ง 4,000 คน จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น ราชินีมาเฟีย

ความฮอตฮิตนี้ กลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ไปกว่า 10 ล้านครั้ง จากข้อมูลของ บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE พบว่าในเวลาเพียง 10 วัน มีการพูดถึงทั้งสิ้น 11,947,168 เอ็นเกจเมนต์จาก 8,017 แอ็กเคานต์ เฉลี่ยมีการพูดถึง 1,800 ข้อความต่อวันเลยทีเดียว

Advertisement

จะเรียกว่า ฟีเวอร์ที่สุดในช่วงนี้ก็คงไม่ผิดนัก

นอกจากจะสนใจโคฟเวอร์เป็น คังคุไบ แล้ว 1 ในสิ่งที่คนสนใจ คงไม่พ้นวัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องราวของ Sex Worker ในอินเดีย ที่คนไทยหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นชินกับอินเดีย ในแง่มุมเหล่านี้มากนัก มติชนออนไลน์ ได้ชวน ดร.เพชรดา ชุนอ่อน อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิษย์เก่าอินเดีย มากระเทาะเปลือกเรื่องอินเดีย ผ่านภาพยนตร์เรื่อง คังคุไบ

Advertisement

รู้จัก คังคุไบ ตัวจริง

อย่างที่หลายคนพอจะรู้กัน “คังคุไบ” ดัดแปลงมาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ก่อนจะขยายออกเป็นภาพยนตร์ความยาว 2 ชั่วโมงครึ่ง ดร.เพชรดา ได้เริ่มเรื่องเล่าว่า คังคุไบ นั้น หากใช้ภาษาสมัยใหม่ เขาก็คือคนชายขอบ ที่มีชื่อในหนังสือเรื่อง Mafia Queens of Mumbai ที่ตีพิมพ์ปี 2011 ซึ่งคนเขียนเป็นนักข่าว ที่ไปหาข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และไปดูข้อมูลตามสถานีตำรวจ รวมออกมาเป็นประวัติผู้หญิง 13 คนที่อยู่ในมุมไบ ในช่วงเวลาต่างๆกัน

ใน 300 หน้าของหนังสือนั้น มีเรื่องราวของคังคุไบอยู่เพียง 20 กว่าหน้าเท่านั้น

ด้วยความเป็นคนชายขอบนี้เอง ที่ดร.เพชรดา บอกว่า คนไม่ค่อยมีการบันทึกเรื่องของชาวบ้าน Impact ที่เกิดขึ้น ก็อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ระดับชาติ เป็นการรับรู้ของคนในท้องถิ่น คือเป็นคนสำคัญระดับท้องถิ่น พูดง่ายๆ คือ เจ้าแม่ในย่านนั้น ที่ต่อสู้เพื่อไม่ให้ธุรกิจของเขาต้องปิด ลองนึกดูว่า หากเปิดสถานบริการแบบนี้ สิ่งที่คนต้องมีคือต้องเป็นคนฟาดมากๆ สร้างอิทธิพล คอนเนคชั่น ใต้โต๊ะตำรวจ ถึงนักการเมืองท้องถิ่น ถึงจะอยู่รอด

“อ้างอิงจากหนังสือ เขาดูแลลูกๆเขาอย่างดี ต่อสู้ เป็นคนมีคุณธรรมระดับหนึ่ง แต่ในแบบของมาดาม ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น”

“สัญลักษณ์ของคังคุไบ คือส่าหรีขาวขลิบทอง รถเบนท์ลีย์ และ ฟันทอง”

คังคุไบ ภาพจาก jagrantv

ส่องวงการหนัง บอลลีวู้ด

ศิษย์เก่าอินเดีย ให้ข้อมูลไว้ว่า ในปีหนึ่งบอลลีวู้ด จะผลิตหนังปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 300 เรื่อง รายได้เป็นหมื่นล้านบาท คนไทยอาจจะคุ้นชินกับหนังเกาหลี ฝรั่ง แต่คนอินเดียอยู่ทั่วโลก หนังเหล่านี้ส่งขายคนอินเดียในแต่ละพื้นที่ คอนเทนต์อะไรทำหนังได้ เขาจะไปขุดมา

“และหนังจากชีวประวัติ สร้างจากชีวิตคนจริงๆ เป็นพล็อตที่คนชอบมาก”

และว่า วัฒนธรรมการดูหนังในโรงของคนอินเดีย จะมีพักครึ่ง ให้คนได้ไปดื่มชา 10 นาที ก่อนกลับเข้ามาดูใหม่ เป็นจริต ทำให้หนังอินเดียแต่ละเรื่องยาว แทบไม่เห็นหนังอินเดียที่ยาวต่ำกว่า 2 ชั่วโมงเท่าไหร่

“คนอินเดีย ขยี้ดราม่าเก่ง มีหนังดีๆเยอะ ภาพยนตร์เรื่องนี้ หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงดัง อาจด้วยผู้กำกับคนนี้ทำหนังสวย องค์ประกอบศิลป์ดีมาก ทุกอย่างจะถูกออกแบบมา พอลงเน็ตฟลิกซ์ คนที่เคยคิดว่าหนังอินเดียประหลาด แบบที่ตัดมาตามอินเตอร์เนต ก็อาจมองว่า โปรดักชั่นสวย ตื่นเต้น ยิ่งบทของนางเอกที่จะเฟียสๆ คนก็อาจจะชอบ”

 

หนัง ความบันเทิงอันดับ 1 กับคำถาม “ไม่เต้นได้ไหม”

ในภาพยนตร์เรื่อง “คังคุไบ” ผู้ชม จะได้เห็นภาพ นางเอก สะบัดผ้า ดึงดูดสายตาผ่านการเต้นทั้งฉากเปิดตัว และฉากงานนวราตรี ที่พาให้คนเพลิดเพลิน เช่นเดียวกับหนังอินเดียหลายเรื่อง ที่ “ฉากเต้น” กลายเป็นซิกเนอเจอร์ บางเรื่องไม่เต้น ก็ยังมีเพลงที่ทำให้คนจดจำ

ทำให้หลายคนถามว่า “ไม่เต้นได้ไหม”

วัฒนธรรมการเต้นนี้ ดร.เพชรดา บอกว่า ฉากเต้นเป็นซิกเนเจอร์ของหนังอินเดียจริงๆ แต่หนังที่ไม่เต้นไม่ใช่ไม่มี แต่จะเป็นหนังดราม่าเข้มข้น ดูแล้วจิตตกไป 1-2 อาทิตย์

“ด้วยความที่หนังเป็นเอนเตอร์เทนอันดับ 1 ของอินเดีย มากกว่าโทรทัศน์ เขาชอบดูหนังมาก อย่างมีหนังที่พูดภาษาทมิฬ หรือ พูดภาษาเบงกาลี เหล่านี้ผลิตกันมาปีละเป็นร้อยเรื่อง แต่บอลลีวูดจะใหญ่สุด ปีละไม่ต่ำกว่า 300 เรื่อง”

“การเข้าโรงหนัง เป็นความบันเทิงอันดับ 1 และมีหลายระดับ 20 รูปีก็มี เขาเน้นบันเทิง เต้น เป็นเอนเตอร์เทน ที่จะสื่อความในใจตัวละคร บางเรื่องพระเอกนางเอก กำลังสบตาหวาน อยู่ดีๆก็ตัดไปเต้นกลางปิระมิด ไม่เกี่ยวกับเรื่องเลย แต่เป็นการสื่อความในใจว่าได้ตกหลุมรักแล้ว หรือฉากงานนวราตรี ก็เป็นการเต้นจริงๆ”

และว่า “ส่วนตัวคิดว่า อาจจะเกี่ยวกับแนวคิดภักติ ในฮินดู ที่มีการบูชาเทพเจ้าด้วยการเต้นรำ หนังอาจจะเกี่ยวกับความเชื่อตรงนี้ แต่คนอินเดียเก่ง เห็นเฉยๆ รูปร่างอ้วน ก็เต้นพริ้วมาก เขาขายเอนเตอร์เทน ส่วนหนังที่ขายไอเดียก็มีเยอะ อย่างคนไทยก็ฮิตเรื่อง PK”

YouTube/@Saregama Music

อาเลีย บาตต์ และ สัญชัย ลีลา

อาเลีย เกิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1993 เติบโตที่นครมุมไบของอินเดีย เป็นลูกสาวของผู้กำกับหนัง “มาเหช บาตต์” และนักแสดงหญิงเชื้อสายอังกฤษ-ฮินดู “โซนี รัซดาน” เป็นเหตุผลที่อาเลียได้ถือสัญชาติอังกฤษ เริ่มเข้าวงการด้วยบทศิลปินเด็กในเรื่อง Sangharsh ในปี 1999 ก่อนจะโด่งดังในหนังเรื่อง Student of The Year ปี 2012 จากบท ชนายา สิงคาเนีย

เธอ เป็น 1 ในนักแสดงค่าตัวแพงของบอลลีวูด ว่ากันว่าเธอได้รับค่าตอบแทน 90 ล้านบาทต่อ 1 เรื่อง มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า 60 ล้านคน

ดร.เพชรดา กล่าวว่า อาเลีย ถือได้ว่าเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ อาจจะยังไม่ได้เป็นตัวแม่ในบอลลีวูดมากนัก เพราะจริงๆแล้ว วงการนี้ นับได้ว่าเป็นวงการที่ทรงอิทธิพลมาก หากไม่มีคอนเนคชั่น เข้าไปเป็นดารายาก จะมีนามสกุลอยู่ไม่เท่าไหร่ที่คุมวงการ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ลูกเข้าวงการได้เพราะพ่อแม่อยู่ในวงการ บางคนเล่นดีก็มีคนชอบ

“บทนี้ ทำให้ อาเลีย ได้ชื่อว่าเป็นดารามากฝีมือมากขึ้น”

“ขณะที่ สัญชัย ลีลา ผู้กำกับนั้น จะมีชื่อในด้านการทำหนังโปรดักชั่นปัง องค์ประกอบศิลป์ดี ลงดีเทลทุกอย่าง เน้นการทำหนังที่ภาพสวย”

 

ว่าด้วย Sex Worker และกฎหมายอินเดีย

Sex Worker นับเป็น 1 ในข้อถกเถียง ที่ถูกหยิบมาพูดถึงสิทธิของผู้ทำอาชีพนี้ ภายหลังจากที่หนังได้ออกฉาย ในเรื่องนี้ ดร.เพชรดา บอกว่า อาชีพนี้ นับได้ว่ามีมานานแล้ว เคยมีการบัญญัติถึงการเก็บภาษีนับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหราช หรือ ราชสำนักที่รับหญิงขายบริการสูงวัยเข้าทำงาน

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความย้อนแย้งในสังคมอินเดีย กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญนั้น อาชีพนี้ถูกกฎหมาย ขณะเดียวกัน ก็มีกฎหมายอื่นๆโดยรอบ ก็บอกว่าบริบทอื่นๆโดยรอบนั้นผิด

“นั่นคือ โสเภณี ถูกกฎหมาย แต่การขายบริการมันผิด ต้องหลบๆซ่อนๆ ไม่สามารถทำให้เห็นในที่สาธารณะ หากพบเห็นผิดกฎหมาย 2.การเปิดสถานบริการ หรือ ซ่อง มันผิดกฎหมาย ผู้ชายที่พบว่าอยู่กับผู้หญิงที่เป็นโสเภณี ก็ยังผิดกฎหมายนอกจากพิสูจน์ได้ว่าเป็นญาติ หรือ แต่งงาน”

“คือพูดไม่ได้เต็มปาก ว่ามันถูกกฎหมายนั่นเอง”

ผู้หญิงขายบริการ ส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือ อยู่ในชุมชนเสื่อมโทรม แออัด ในเมืองใหญ่ของอินเดียอย่าง มุมไบ เดลี กัลกาตา เซนไน กลุ่มนี้จะยากจน บางคนแอบมาขาย หารายได้ บางคนสามีก็รู้ ที่โดนหลอกมาก็มีบ้าง แม้ว่าจะผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ แต่หากตำรวจไม่รู้ก็อยู่แบบนั้น

อีกกลุ่มหนึ่ง จะเป็นกลุ่มชนชั้นสูงหน่อย มีการศึกษา จบปริญญา เพราะรายได้มันดี กลุ่มนี้อาจจะแค่ไปนั่งเป็นเพื่อนผู้ชายรวยๆ อาจไม่ได้ให้บริการทางเพศก็ได้ ซึ่งกลุ่มในชุมชนเสื่อมโทรม จะน่าเป็นห่วงกว่า ทั้งการแพร่ระบาด จากโรคเอดส์ต่างๆ

“กลุ่มคนขายบริการนี้ อาจเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ด้วยสถานะทางการเงิน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยากจน ต้องเข้าว่า อินเดีย ประชากรเยอะ ทรัพยากรจำกัด แง่หนึ่งมันไม่สามารถพาคนทั้งประเทศไปพร้อมๆกันได้ คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังก็เยอะ คนอินเดียมากกว่า 50% ยากจน รายได้ต่อหัวน้อยมาก” ดร.เพชรดา กล่าว

เข้าใจ “หญิง” ในอินเดีย

“ประเทศอินเดียค่อนข้างย้อนแย้ง”

ดร.เพชรดาว่าไว้ ก่อนขยายความว่า อินเดีย มีกฎหมายหลายฉบับนับแต่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ผู้หญิงมีสิทธิมีเสียง เขามี อินทิรา คานธี เป็นนายกฯหญิงคนแรกก่อนไทยนานมาก ทั้งยังเป็นนายกฯหญิงเหล็ก และมีผู้หญิงในทุกสายอาชีพ อย่างนักบินอวกาศ ก็มีผู้หญิง

แต่กลับกัน สังคมเขาอนุรักษ์นิยมมาก ออกไปเรียน ไปทำงานนอกบ้านแล้ว สังคมก็คาดหวังให้ทำหน้าที่แบบผู้หญิง บริการสามี เลี้ยงลูก ผู้หญิงอินเดียกดดันมาก ต้องฟาดฟันในที่ทำงาน เพื่อพิสูจน์ตัวเอง กลับบ้านก็ดูแลสามี มันอาจจะไม่ใช่ 100% แต่ในชาวบ้านที่ไม่มีการศึกษา สังคมเป็นปิตาธิปไตยเต็มๆ

“ลูกชายเรียกว่าเป็นเทวดา ที่มีพี่สาว น้องสาว ต้องรับใช้ เอาข้าวไปเสิร์ฟให้ สิ่งนี้ยังมีอยู่ แม้อาจไม่ทั้งหมด”

“เรื่องความรุนแรงในสังคมนั้น ก็ยังมี รวมไปถึงเหยื่อที่ถูกกระทำซ้ำ อย่างครั้งหนึ่งมีข่าวหญิงถูกข่มขืน ฉุดขึ้นรถ ปรากฏว่าคนก็มองว่า แต่งตัวโป๊ ทั้งๆที่เขาใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ บางพื้นที่ในอินเดีย แค่แต่งแขนกุด ก็ถูกหาว่าแต่งตัวโป๊แล้ว”

 

สินสอด สู่ขอ และความรุนแรง

ในภาพความทรงจำของคนไทย ที่ว่าผู้หญิงอินเดียต้องไปสู่ขอผู้ชายนั้น ดร.เพชรดา บอกไว้ว่า จริงๆเรื่องนี้เป็นกฎหมายแล้วว่ามีความผิด ตั้งแต่ช่วงปี 1960s แต่ในความจริง การแต่งงานเป็นการตกลงกันระหว่าง 2 ครอบครัว ก็ยังมีการตกลงเรื่องสินสอด บ้างเป็นอสังหาริมทรัพย์ เงินสด เครื่องประดับ ทีวี พัดลม แล้วแต่ตกลง หากตำรวจจับได้ก็มีความผิด ติดคุก ปรับตามคุณค่าของ

“กรณีที่จะเป็นข่าว ก็คือการดีลกันไม่ลงตัว ผู้ชายโวย ผู้หญิงไม่ได้ให้ตามที่ตกลง เรื่องนี้ถึงแม้จะน้อยลง แต่ว่าก็แก้ไขได้ลำบาก เพราะมีกฎหมาย แต่ไม่ศักดิ์สิทธิ”

ก่อนว่า หลายครั้งที่สินสอด กลายเป็นต้นเหตุความรุนแรงในครอบครัว นำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม พอฝ่ายหญิงไม่ให้ตามที่ตกลงแต่แรก ก็โดนครอบครัวฝ่ายชายทารุณกรรม ด่า ทำร้ายร่างกาย หนักเข้าก็ฆ่า บ้างหญิงก็ฆ่าตัวตาย เพื่อหนีความกดดันในสิ่งนี้ ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อมักเป็นหญิงในกลุ่มที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม

กับกรณีข่าวดังช่วงที่ผ่านมา เมื่อครอบครัวฟ้องลูกชายและลูกสะใภ้ ที่ไม่มีทายาทให้นั้น ดร.เพชรดา บอกว่า เป็นเพราะหลักอาศรม 4 คนอินเดียคอนเซอร์เวทีฟมาก ถึงเวลาเรียนก็ต้องเรียน ถึงเวลาต้องแต่งงาน มีลูก หาก 30 แล้วยังไม่แต่งงาน จะถูกมองบน และเมื่อแต่งงานก็จะถูกพ่อแม่จัดหาให้ที่ว่าเหมาะสมกันแล้ว

“เพื่อนนักวิชาการที่อินเดียบางคน ยังอิจฉาคนไทยเรื่องนี้ กว่าครึ่งในอินเดีย เป็นการคลุมถุงชน ใครที่ได้แต่งงานด้วยความรัก ก็จะภูมิใจมาก”

ชนชั้นวรรณะ หรือจะสู้ฐานะ

ในภาพจำของคนไทย อินเดียแบ่งออกเป็น 4 วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ นักบวช นักวิชาการผู้มีความรู้ , กษัตริย์ ผู้ปกครอง นักรบ ข้าราชการ , แพศย์ เหล่านักธุรกิจ พ่อค้า และ ศูทร กรรมกร เกษตรกร ชาวนา

ซึ่งเรื่องนี้ อาจจะไม่เข้มข้นมากนักในปัจจุบัน

ดร.เพชรดา กล่าวว่า ในอินเดียขณะนี้ ความเป็นวรรณะ อาจจะไม่ได้เข้มข้นมากขนาดนั้น เพราะมีกฎหมายว่าด้วยการห้ามเหยียด ทั้งด้วย วรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา สิ่งนี้ผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามยังมีผลต่อทัศนคติของคนจำนวนมากอยู่ อย่างตอนเลือกตั้ง มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึง พรรค บีเจพี หรือรัฐบาลปัจจุบัน ก็นำเรื่องนี้มาหาเสียง ว่า เข้าใจพวกวรรณะต่ำ เข้าใจรากหญ้า

“เวลาจะหาคู่ เกณฑ์ที่พ่อแม่จะดูก็คือ วรรณะ ที่ผ่านมาเคยมีคอลัมน์ตามหนังสือพิมพ์ เขายังระบุว่าเป็นวรรณะไหน ซึ่งเรื่องนี้ปัจจุบันก็น้อยลง”

“อย่างไรก็ตาม ในอินเดีย จะมีการแบ่งกลุ่มคือ พวกคนธรรมดา กับ กลุ่มด้อยโอกาส ที่มีจัณฑาล ชนเผ่าคนยากจน กลุ่มหลังนี้มักถูกเหยียด อินเดียก็จะมี System of Reservation ที่รัฐบาลจะให้โอกาสมากกว่า ให้ทำงานในที่ราชการ ได้โควต้ามหาวิทยาลัย”

“แต่อย่างไรก็ตามแม้มีกฎหมายเหล่านี้ เวลาจะสมัครอะไรก็มีช่องที่ให้เขียนวรรณะ คนก็ตีความอยู่ดี อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ยังมีความพยายาม ในอนาคตเรื่องนี้คงเบาบางลง เพราะคนรุ่นใหม่มองว่าเรื่องนี้โบราณ เขาอยากเป็นอิสระขึ้น วรรณะสำคัญน้อยลง ก็เหมือนเพียงนามสกุล ทุกวันนี้ สถานะทางเศรษฐกิจ มีผลแซงหน้าวรรณะไปแล้ว”

 

ราเซียไบ สู่ ฮิจรา อีกหนึ่งภาพของอินเดีย

หนึ่งในตัวละคร ที่หลายคนติดตาต้องใจ คงเป็น “ราเซียไบ” ผู้บัญญัติตนว่า หญิงก็ไม่ใช่ ชายก็ไม่เชิง คู่แข่งของนายหญิงคังคุ ที่เป็นอีกภาพสะท้อนหนึ่งในสังคมอินเดีย

ฮิจรานี้ ดร.เพชรดา กล่าวว่า ก็คือ กะเทยที่แต่งหญิง เป็นทรานส์เจนเดอร์ ที่แปลว่า ขันที ปรากฏในประวัติศาสตร์อินเดียนับแต่ศตวรรษที่ 2-3 แล้ว เป็นผู้ชายที่ชอบแต่งหญิง ปัจจุบันกลุ่มนี้ก็ยังคงเป็นคนชายขอบ ยิ่งในพื้นที่ห่างไกล อาจจะถูกรุมประชาทัณฑ์ โดนคนในบ้านกระทืบเพื่อปลุกความเป็นชาย ทำให้คนกลุ่มนี้มักจะออกจากบ้านมาอยู่รวมกลุ่มด้วยกัน

อย่างไรก็ตาม การขาดโอกาสทำให้เขาต้องทำอาชีพอย่างขอทาน หรือ ขายบริการ ในรถไฟอินเดีย ฮิจรา มักจะมาร้องเพลง ขอเงิน หากไม่ให้ก็จะสาปแช่ง ซึ่งคนอินเดียถือว่า การถูกคนเหล่านี้แช่งจะอัปมงคลมาก

แต่ปัจจุบัน อินเดีย ได้แก้กฎหมายใหม่ปี 2014 ให้คนกลุ่มนี้เป็น 3rd Gender มีตัวตนมากขึ้น ลงการเมืองท้องถิ่นบ้าง รวมตัวได้รับสิทธิเข้าเรียน ทำงาน มากขึ้น

ขณะที่ LGBT ผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น กฎหมายระบุว่า สามารถให้เป็นเพศไหนก็แสดงตามนั้นได้ ไม่ผิดกฎหมาย จากที่ช่วงอาณานิคม การเป็นเกย์นั้นผิดกฎหมาย เพราะผิดธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริง มักไม่ค่อยจะเปิดเผยตัว หรือ ต้องรวยเท่านั้นถึงได้รับการยอมรับหากเป็นเกย์ ก็มีการเดินขบวนของกลุ่ม LGBT ใน ไพรม์มันส์ อยู่

“กลุ่มคนเหล่านี้ มักจะผลักดันตัวเองไปอยู่ในเมืองใหญ่ ด้วยเหตุผลว่า ทัศนคติของคนสมัยใหม่กว่า ยอมรับได้มากกว่านั่นเอง”

วัฒนธรรมการกินชา เจาะจมูก และ แต้มสีแดง

ในภาพยนตร์นั้น เราจะได้เห็น “คังคุไบ” เทชาใส่จานรอง ก่อนจะดื่มชา เรื่องนี้ ศิษย์เก่าอินเดีย บอกว่า ส่วนใหญ่ชาอินเดีย หรือเรียกว่า จาย chai จะเป็นชานมที่ต้มในหม้อแบบเดือดพล่าน ไม่ได้ใช้วิธีรินน้ำร้อนใส่ใบชาแบบคนอังกฤษ ทำให้อุณหภูมิชาร้อนมาก คนอินเดียเลยเทชาใส่จานรองเพื่อให้เย็นลงถึงค่อยดื่ม

“ไม่ได้เกี่ยวกับการเหยียด เหมือนที่หลายคนเอาไปตีความ”

และว่า เอาเข้าจริงคนอินเดียมากินชาหลังได้รับเอกราชด้วยซ้ำ ตอนเป็นอาณานิคม ชาตินิยมรุนแรงมาก คนอินเดียบอยคอตสิ่งต่างๆที่คนอังกฤษนิยม พอได้เอกราช ชา คริกเก็ต ก็รับมาเยอะมาก อย่างชา ในรถไฟจะมีคนเข็นรถ เอาชาใส่กาเดินหิ้วขาย ใส่จอกพลาสติกจิบกัน 1-2 รูปี ตลอดวัน

กับ การเจาะจมูก ที่ได้เห็นกันนั้น อ.เพชรดา บอกว่าเป็นไปเพื่อความสวยงาม ว่าเป็นสาวแล้ว ส่วน การแต้มสีที่หน้าผาก ตามหลักเป็นการแต้มบอกว่าแต่งงานแล้ว ใช้สีเหมือนเฮนนาที่เป็นผงๆ และจะแต้มไปตามแสกผม แต่ปัจจุบันเป็นแฟชั่น ที่พาหุรัด มีขายแบบสำเร็จรูปที่นำมาแปะหน้าผากได้ด้วย

ส่วนสาหรีสีขาวนั้น สีขาว นับได้ว่าเป็นสีแห่งความบริสุทธิ แต่โดยทั่วไปแล้ว ชาวบ้านจะไม่ค่อยนิยมใส่ เพราะต้องทำมาหากิน อีกแง่หนึ่ง สีขาวคือสีไว้ทุกข์ เป็นแม่หม้ายที่ต้องไว้ทุกข์ให้สามีไปชั่วกาล แต่กับ คังคุไบ นั้น อ้างอิงจากหนังสือ จะชอบใส่สาหรีสีขาวคลิปทอง ที่แสดงออกถึงความไฮโซ มีกระดุมทอง

กามธิปุระ แท้จริงคือเมืองคนงาน

ดร.เพชรดา ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่กลัวคนไทยเข้าใจผิด คือ จะคิดว่า กามธิปุระ คือ กามารมณ์ แต่ไม่ใช่ กาม ของฮินดี แปลว่างาน กามธิปุระ เป็นภาษามารฐี เพราะมุมไบ ใช้ภาษามารฐีเป็นภาษาหลัก กามทิต แปลว่าคนงาน เพราะเป็นย่านคนงานก่อสร้าง เขาเป็นเมืองท่าใหญ่ ข้าหลวงอังกฤษก็สร้างสิ่งต่างๆ ที่มาสร้างสะพานเชื่อมเกาะริมทะเล ส่วนแหล่งขายบริการมันตามมา เพื่อรองรับคนงานตรงนี้

ทั้งยังให้ความรู้เรื่องคำว่า ไบ๋ (BAI) ที่เรียกขาน คังคุ ไว้ว่า คำนี้แปลว่า ท่านหญิง ในประวัติศาสตร์ใช้เรียกเชื้อพระวงศ์ ในเชิงยกย่อง แต่กรณีนี้ ไบ๋ นำมาเรียกว่า คุณแม่ มาดาม ส่วนไบ๋ อีกคำหนึ่ง ภาษาอังกฤษคือ BHAI ซึ่ง แปลว่าพี่ชาย จะออกเสียงคนละอย่างกัน จะเห็นได้ว่ามีฉากที่เรียก ลาลา ว่า ไบ๋ เช่นกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image