ศิริพจน์ ชี้ โกลเด้นบอย ‘ผีบรรพชน’ ราชวงศ์มหิธรปุระ – ไขปม ทำไมต้องบ้านยาง?

ศิริพจน์ ชี้ โกลเด้นบอย ‘ผีบรรพชน’ ราชวงศ์มหิธรปุระ – ไขปม ทำไมต้องบ้านยาง?

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ห้องประชุมอาคารข่าวสด สโมสรศิลปวัฒนธรรม จัดงานเสวนา “ตามหา ‘Golden Boy’ เทพแห่งที่ราบสูง?” โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีร่วมให้มุมมอง ได้แก่ นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี, ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

เวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศภายในงาน มีผู้เดินทางมาลงทะเบียนรับฟังเสวนาอย่างล้นหลาม โดยบางส่วนเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชนในหมวดประวัติศาสตร์โบราณคดีและการเมือง ซึ่งนำมาวางจำหน่ายภายในงาน พร้อมทั้งสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรมในราคาพิเศษลด 15 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการร่วมด้วย อาทิ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ โดยผู้บริหารเครือมติชนให้การต้อนรับ นำโดย นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), น.ส.ปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน, นายวรศักดิ์ ประยูรศุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน, นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด เป็นต้น

สำหรับโกลเด้นบอย คือโบราณวัตถุ 1 ใน 2 ชิ้นที่นำกลับสู่ประเทศไทยได้สำเร็จ หลังเกิดกระแสการทวงคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Met) ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 ธันวาคม 2566 ว่าจะส่งโบราณวัตถุ 2 ชิ้น (อีกชิ้นคือประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสูง) กลับคืนสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นมาตุภูมิ และหนึ่งในนั้นคือ ‘โกลเด้นบอย’ ที่ประเมินว่าราคาอาจสูงถึง 100 ล้านบาท

Advertisement

นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวว่า ประติมากรรมสำริดกลุ่มประโคนชัยไม่เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานราชการว่าเป็นของจริงหรือไม่ เนื่องจากเป็นของที่ไม่ได้มาจากการขุดค้นทางโบราณคดี แต่มีชื่อเสียงมาก ถือเป็นประติมากรรมกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ ‘โกลเด้นบอย’

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงข้อสงสัยที่ว่า โบราณวัตถุดังกล่าวเป็นของปลอมหรือไม่ ?

Advertisement

นายศิริพจน์กล่าวว่า นายแลตช์ฟอร์ด พ่อค้าโบราณวัตถุจะทราบได้อย่างไรว่ามีศาสนาพุทธแบบพระศรีอริยเมตไตรยเป็นหลักกระจายอยู่ในพื้นที่อีสานใต้ ทั้งนี้ คนทำประติมากรรมดังกล่าวเชี่ยวชาญมาก เพราะต้องใช้เทคนิคขั้นสูง

นายศิริพจน์กล่าวว่า ตนเชื่อว่าประติมากรรมชิ้นนี้คือ เชษฐบิดร หรือผีบรรพชน หรือผีประจำตระกูลของราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีอำนาจปกครองพื้นที่ในดินแดนแถบอีสานใต้และเขมรในยุคโบราณ ซึ่งเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญต่อราชวงศ์นี้คือ ‘กษิตินทราคาม’ ซึ่งสันนิษฐานว่า เมืองแห่งนี้คือบริเวณบ้านยางในปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีการสร้างประติมากรรมอย่างโกลเด้นบอยมาประดิษฐานไว้ในสถานที่ที่เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของราชวงศ์มหิธรปุระ

“การที่เขาทำรูป Golden Boy ไปตั้งอยู่ที่บ้านยาง เพราะว่ามันเป็นที่ที่เป็นกษิตินทราคาม คือถิ่นฐานดั้งเดิมของชัยวรมันที่ 6 ถูกต้องแล้ว อุทัยทิตยวรมันที่ 2 เป็นลูกของสุริยวรมันที่ 1 สุริยวรมันที่ 1 มาจากไหน มาจากโน่น ติดเวียดนาม มันคนละทางกัน

อุทัยทิตยวรมันที่ 2 เวลาจะสร้างรูปสนองพระองค์ของตัวเองก็ต้องไปสร้างตรงโน้น จะมาสร้างอะไรที่บ้านยาง ไม่ได้ มันไม่ใช่ถิ่นฐาน”

“การประดิษฐานรูปไว้ตรงไหน มันมีนัยยะของมันเอง จริงๆ โกลเด้นบอยสำคัญมาก ในฐานะที่เป็นรูปของพระเชษฐบิดร และเป็นต้นวงศ์มหิธรปุระ” นายศิริพจน์กล่าว

อ่านข่าว : ของไทยแน่ๆ! นักโบราณต่อจิ๊กซอว์ ‘โกลเด้นบอย’ ฟังธง ‘ชัยวรมันที่ 6’ ล้านเปอร์เซ็นต์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image