“ธำรงศักดิ์” สงสัย พระเจ้าตากหวังกลับอยุธยา เหตุไม่สั่งรื้ออิฐมาสร้างกรุงธนฯ

“ธำรงศักดิ์” สงสัย พระเจ้าตากหวังกลับอยุธยา เหตุไม่สั่งรื้ออิฐมาสร้างกรุงธนฯ

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ 13.00 น. ที่ท้องพระโรง พระราชวังเดิม ภายในกองบัญชาการกองทองทัพเรือ ถนนวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ มีการจัดงานบรรยายสารณะ หัวข้อ “ตามรอยพระเจ้าตากสินมหาราช ณ กรุงธนบุรี” โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และบริษัทโตโยตา มอเตอร์ส จำกัด มีผู้สนใจร่วมฟังจำนวนมาก ทั้งประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และนักวิชาการ

ผศ.ดร ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวตอนหนึ่งว่า ช่วง 2-3 ทศวรรษท้ายๆ ของกรุงศรีอยุธยายังไม่ชัดเจน แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีก็สามารถช่วยให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น

“ยุคกรุงธนบุรี เป็นประวัติศาสตร์ที่เปิดช่องให้ศึกษามากมาย เป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่สนุก มีสิ่งที่ชวนให้ตั้งคำถามและหาคำตอบ เช่น ทำไมพระเจ้าตากสามารถเป็นกษัตริย์ได้เมื่ออายุเพียง 33 ปี ทั้งยังเป็นคนที่อยู่ไกลจากศูนย์กลาง อำนาจของอยุธยา สิ่งที่เราไม่เคยคิดกันคือ การเสียกรุงเพราะอังวะนั้น ได้มีการพาชนชั้นนำของอยุธยาเกือบ 900 คน รวมถึงเชื้อพระวงศ์รวมแล้วกว่า 2,000 และคนแสนกว่าคนไปพม่า การเสียกรุงฯ คือการการนำพาชนชั้นนำเดิมออกไปเท่ากับเปิดช่องให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ขึ้นมาได้” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กองทัพพม่า ยังเอาชุดความรู้ราชสำนักไปหมด เอกสารพม่าระบุว่า แม้แต่ตำราอาหารก็นำไปด้วย ดังนั้น การก่อร่างสร้างตัวเมืองธนบุรี จึงก่อร่างสร้างขึ้นบนฐานที่ค่อนข้างว่างเปล่า

“พระเจ้าตากสินทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นทั้งพ่อค้าและนักรบ เป็นพ่อค้า ที่ต้องมาเป็นนักรบ ทรงให้ความสำคัญเรื่องความมั่งคั่ง ช่วงสงครามประชาขนอดอยาก พอตั้งเมืองได้แล้ว มีการแจกจ่ายข้าว และเสื้อผ้า โปรดให้ขุนนางนำกำลังพลทำนา มีบันทึกในพงศาวดาารฉบับพัน จันทนุมาศ ซึ่งพออ่านอย่างละเอียดจะมองเห็นกรุงธนบุรีทั้งหมด เขื่อว่า ส่วนใหญ่เขียนในสมัยพระเจ้าตากสินแล้วชำระสมัยรัชกาลที่ 1 พงศาวดารฉบับนี้ ให้ภาพของพระเจ้าตากสินเป็นกษัตริย์ทั้งเล่ม แม้ในวันประหารพระองค์ก็ตาม” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ยังกล่าวถึงประเด็นของกำแพงและป้อมปราการของเมือง ว่า ตนพบว่าเมืองธนบุรี มีป้อมมาก่อนแล้ว โดยมีการปรับปรุงเมืองครั้งใหญ่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโดยช่างชาวฝรั่งเศส ครั้นเมื่อพระเจ้าตากสถาปนากรุงธนบุรีในปี 2313 ทรงขยายเมือง 2 ฟากฝั่ง นำลำต้นทองหลางปักเป็นแนวกำแพงเมือง และมีหลักฐานเพิ่มว่า มีการเปลี่ยนแปลงในพ.ศ. 2316 จากไม้ทองหลางเป็นกำแพงก่ออิฐถือปูน

Advertisement

“จากแผนที่พม่าซึ่งส่งสายลับมาเขียน จะเห็นว่ามีกำแพงอิฐถือปูน อิฐเอามาจาก หนึ่งเมือง สองค่าย หนึ่งเมือง คือเมืองพระประแดง ส่วนสองค่ายคือ ค่ายพม่าที่อยุธยา ได้แก่ ค่ายสีกุก บางไทร และค่ายโพธิ์สามต้น ต่อมา กำแพงเมืองกรุงธนบุรีถูกสลายเมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ผมเล่าเรื่องนี้เพื่อชี้ว่า พระเจ้าตากไม่ได้สั่งรื้อกำแพงอยุธยา เป็นไปได้ไหมว่าทรงมีความคิดที่จะกลับไปอยุธยา” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ ตั้งคำถามปิดท้าย

 

จากซ้าย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ศุภวรรณ ชวรัตนวงศ์ วิทยากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image