การเมือง ‘ภาคประชาชน’ VS การเมืองใน ‘เลือดสีน้ำเงิน’ การปะทะกันของ ‘การเมืองแห่งความทรงจำ’

หนึ่งในความนิยมศึกษาทางมนุษยศาสตร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  คือการศึกษาถึง “ความทรงจำ” ซึ่งเป็นการศึกษาตามคตินิยมหลังสมัยใหม่ที่เข้ามาพัฒนาการศึกษาถึงอดีตในแง่ว่า อดีตไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่อดีตเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม อดีตเกิดขึ้นเพื่อรับใช้ปัจจุบัน

ความทรงจำจึงลักษณะที่เป็นอัตวิสัยสูง เพราะประกอบสร้างขึ้นผ่านการคัดสรร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เลือกความทรงจำนั้นๆขึ้นมาด้วย ในขณะที่ประวัติศาสตร์นั้น ทำหน้าที่ในการตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือและคุณค่าในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์ต่อความทรงจำ ปิแอร์ นอร่า (Pierre Nora) จึงมองว่า การเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์นั้น หมายถึงความตายของความทรงจำ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองระดับหนักหน่วง อย่างที่เราคงไม่ต้องเท้าความให้มากความอีกแล้ว ต่างฝ่ายต่างประกอบสร้างความทรงจำของตนขึ้นมา โดยมีแหล่งความทรงจำ ปรากฏอยู่มากมายในลักษณะที่แตกต่างกันไป นอกจากการศึกษาถึงความขัดแย้งในปัจจุบันแล้วนั้น ยังมีความพยายามศึกษาย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ในอดีตที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป

ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23 ที่จัดขึ้นถึงวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคมนี้นั้น มีหนังสือสองเล่มที่น่าสนใจมาก คือ ‘การเมืองภาคประชาชน’ และ ‘เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ’ ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน

Advertisement

ทั้งสองเล่มเหมือนจะพูดถึงการเมืองในคนละยุคสมัยกัน แต่มีจุดหนึ่งที่เราเห็นว่ามีร่วมกัน คือการศึกษาพื้นที่ของความทรงจำในแต่ละเหตุการณ์ เป็นการเมืองของความทรงจำที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ในการเมืองภาคประชาชน โดย อุเชนทร์ เชียงแสน โปรยปกไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ความคิดและปฏิบัติการของนักต่อสู้ทางการเมือง นับจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจนถึงปรากฏการณ์สนธิ”

Advertisement

เข็มนาฬิกาเคลื่อนเพียงวินาที ก็นับเป็นอดีตแล้ว และนี่คืออดีตที่ใกล้ตัวเราอย่างยิ่ง เป็นอดีตที่ทำให้เห็นภาพปัจจุบันและอาจโยงถึงอนาคตได้อย่างชัดเจน

ผู้เขียนเล่าว่า งานชิ้นนี้ถักทอขึ้นจากสองช่วงชีวิต คือชีวิตช่วงทำกิจกรรมนักศึกษาในปี 2540 ซึ่งเริ่มมีคำถามบางอย่างเกิดขึ้นต่อกิจกรรมทางการเมืองและข้อจำกัดของขบวนการเคลื่อนไหวโดยรวม และช่วงเรียนปริญญาโทในปี 2549 ที่ก่อนหน้าเพียง 1 ปี คือ 2548 มีการเกิดขึ้นของสิ่งที่ผู้เขียนเรียกว่า “ขบวนการสนธิ” ที่ก่อตัวเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สิ่งที่ฟูกฟักและซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหน้าของนักอุดมคติ ผู้เสียสละ และนักปฏิวัติ ได้เผยตัวออกมา ด้วยแรงผลักดันจากการเมืองภายนอกและความขัดแย้งภายใน ผู้เขียนจึงมองว่า หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การโค่นล้มทักษิณ การสนับสนุนรัฐประหาร หรืออะไรก็ตามที่ฉุดลากการเมืองไทยให้ถอยหลังจนทุกวันนี้ เป็นด้านมืดหรือความเลวร้ายแล้ว “การเมืองภาคประชาชน” ก็ไม่ใช่จุดเปลี่ยนหรือละทิ้งหลักการของพวกเขา แต่เป็นการเปิดเผยตัวของบางสิ่งที่ซุ่มซ่อนมายาวนานแล้วปะทะกับสถานการณ์ใหม่ที่ท้าทายต่อหลักการที่เคลือบฉาบไว้อย่างสวยหรู และนำไปสู่คำถามที่ว่าคนเหล่านี้กลายเป็นสิ่งตรงข้ามกับสิ่งที่เคยอ้างหรือยึดถือเป็นอุดมคติได้อย่างไร

จริงๆแล้วเนื้อหาน่าสนใจทุกบท แต่ที่สะดุดใจมากคือบทที่ 4 ว่าด้วยยุทธศาสตร์การเมืองไทย กับการสถาปนาการเมืองภาคประชาชน ที่ผู้เขียนนั้นได้แยกออกมาต่างหาก เพื่อเน้นไปที่ความคิดหรือวาทกรรมของนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้เคนที่เกี่ยวข้อง โดยมีหมุดหมายอยู่ที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมากในฐานะจุดเปลี่ยนทางการเมืองไทยและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม  ซึ่งในเนื้อหาประกอบด้วยยุทธศาสตร์การเมืองไทยของนักวิชการ ปัญญาชน ที่เสนอความคิดและข้อถกถียงที่เกี่ยวข้อง และการสถาปนาการเมืองภาคประชาชน เหนือประชาธิปไตยตัวแทน ที่เป็นองค์ประกอบความคิดซึ่งนำไปสู่การสรุปรวบยอดตกผลึกเป็นการเมืองภาคประชาชน โดยหลักๆศึกษา 3 คนคือ เกษียร เตชะพีระ , นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ธีรยุทธ บุญมี โดยใช้หลักฐานจากคอลัมน์ในผู้จัดการรายวัน มติชนรายวัน มติชนสุดสัปดาห์ และเนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นหลัก

มาที่เล่ม เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ โดยปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ กันบ้าง เล่มนี้เห็นถึงการปะทะกันทางการเมืองของความทรงจำอย่างชัดเจนมากๆ

ที่ผ่านมามีงานที่ศึกษาเกี่ยวกับคณะผู้ก่อการ “กบฎบวรเดช” หรือ “กลุ่มเลือดสีน้ำเงิน” มาแล้วไม่น้อย และมีการให้ความหมายกับกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกันคือ  “อ้ายกบฏผู้ดี” “พวกนิยมระบอบเก่า” รวมถึง พวกปฏิปักษ์ปฏิวัติที่ต้องการรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในหนังสือเล่มนี้ ปฐมาวดีได้สืบค้นหลักฐานใหม่เพื่อศึกษาให้เห็นความคิดและภาพใหม่ในอีกมุมมองของกลุ่มเลือดสีน้ำเงิน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคณะราษฎร บทที่น่าสนใจมากๆสำหรับเราคือบทที่ 5 บทสุดท้าย ที่ว่าด้วย การเมืองเรื่องความทรงจำ : ว่าด้วยการช่วงชิงการนิยามอดีตของกลุ่มเลือดสีน้ำเงิน ที่มุ่งพิจารณาการต่อสู้ทางการเมืองของบุคคลในกลุ่ม ที่แสดงออกในการสร้างความหมายของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิวัติ 2475 กบฏบวรเดช 2476 คณะราษฎร และบุคคลสำคัญในคณะราษฎร และยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ความหมายทางการเมืองซึ่งเกิดจากบทบาทของคนกลุ่มนี้ ยังมีบางส่วนที่ถูกผลิตซ้ำจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะความหมายอันเกิดจากความรู้หรือความทรงจำที่บุคคลในกลุ่มนี้เสนอต่อสังคมผ่านบทความ บันทึกความทรงจำ และนวนิยาย เห็นชัดมากกว่าหลายความหมายที่ถูกสร้างขึ้น ยังคงถูกเลือกมาใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน

สงครามแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำระอุขึ้นทุกวัน เราคงมีงานวิจัยเจ๋งๆให้อ่านกันอีกเยอะแน่ๆ

 

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image