‘ตื่นเถอะ’ เสียงเรียกหาสติ กับคำถามและความหวัง ที่ฝากไว้ให้แวดวงบันเทิง

“เพราะเราเห็นว่าคนทำสื่อ คนในวงการ มีอิทธิพลต่อผู้ชมเป็นจำนวนมาก” นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ ธรากร กมลเปรมปิยะกุล หัวหน้าโครงการ WE ONENESS หรือโครงการขับเคลื่อนสังคมแห่งการตื่นรู้สู่หนึ่งเดียวกัน ของมูลนิธิสหธรรมมิกชน จัดเวิร์กช็อปสร้างแกนนำคนบันเทิงและนักเขียน เพื่อการตื่นรู้ สู่สุขภาวะทางปัญญา

เวิร์กช็อปที่ ทาริกา ธิดาทิตย์, อรุโณชา ภาณุพันธุ์, ธิติมา สังขพิทักษ์, พิมมาดา บริรักษ์ศุภกร และคนในแวดวงซึ่งเป็นทั้งผู้จัด นักแสดง คนเขียนบท ฯลฯ อีกราว 20 คน เข้าร่วมเมื่อวันก่อน

เวิร์กช็อปซึ่งคนทำเล่าว่า จัดขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า แม้ปัจจุบันจะ “เห็นแนวโน้มที่ดี ที่สื่อหลายรายการเริ่มใส่สาระ สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม แต่อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ อยากให้ผู้ผลิตรายการ หรือผู้เป็นดารามีประสบการณ์ส่วนตัวในการเรียนรู้ตนเอง”

เรียนเพื่อ ‘ตื่นรู้’ มีสติ เท่าทันอารมณ์ ความคิด และความรู้สึก

Advertisement

ซึ่งสุดท้ายแล้วเชื่อว่าทั้งหมดนั้นจะส่งผลถึง ‘งาน’

“ทุกอย่างตัวตั้งต้นที่สำคัญที่สุดคือ ความมีสติ ถ้ามีสติในชีวิตประจำวัน ในฐานะผู้ผลิต เขาก็จะมีการไตร่ตรองมากขึ้น ดาราเองก็จะไตร่ตรองมากขึ้นในการรับบท หรือในการแสดงต่างๆ นักเขียนก็จะมีการใคร่ครวญและละเอียดลออมากขึ้นในการทำงาน”

“แล้วเขาจะรู้ ว่าบางทีที่เขาทำสื่อ มันรุนแรงเกินไป”

Advertisement

ไม่เถียงที่หลายครั้ง สิ่งต่างๆ ที่มีการนำเสนอแบบแรงๆ ดังกล่าว จะสร้างให้เกิดกระแสพูดต่อ เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่เหล่าผู้คนสนใจ-เขาว่า

แต่ “บางครั้งมันทำให้เกิดสิ่งที่ตรงข้ามด้วย”

“ทำให้คนขาดสติง่าย”

ตลอดเวลา 2 วัน 1 คืนของเวิร์กช็อปนี้จึงมีกระบวนการหลายอย่าง ที่จะทำให้เห็นว่า การมีสติ กับไม่มีสติ แตกต่างกันขนาดไหน

จากนั้นก็วาดหวังว่า ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ก็น่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

“ในครั้งนี้เราได้นิมนต์พระมา 2 รูป (พระไพศาล วิสาโล และพระสมทบ ปรกฺกโม) ท่านได้ให้สติและแง่คิดที่น่าสนใจกับผู้ผลิต ว่าบางทีการทำสื่อที่สร้างอกุศลจิตให้กับผู้ชม มันจะอยู่อย่างยาวนานมาก ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่พูดแล้วหายไป สมัยนี้มันเกิดการดูซ้ำ เท่ากับเราทำสิ่งไม่ดีซ้ำลงไปในสังคม ซึ่งตรงนี้เราอาจสร้างความตระหนักให้เขาเห็นได้ ส่วนเขาจะเลือกทำรายการในรูปแบบนั้นต่อไปไหม มันเป็นเรื่องค่านิยมของวงการ”

“เพราะทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูที่นโยบายของช่อง ว่าเขาเอาอะไรมาเป็นตัวล่อผู้ชม ต้องยอมรับว่าบางทีความรุนแรง คนที่เคยชินหรือว่าเสพติดความรุนแรง จะมีความสุขกับสิ่งนั้น พระอาจารย์ท่านก็เทศน์นะ ว่าเหมือนเขาชอบกินอาหาร แต่เขาไม่รู้ ว่าอาหารที่ดีกว่า มีอยู่”

“ก็ต้องแล้วแต่ผู้จัด ว่าจะยังป้อนอาหารที่เจือด้วยสารที่ไม่ดีต่อร่างกายต่อไปอีกไหม”

เป็นคำถาม และความหวังที่เขาทิ้งท้ายไว้

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image