รู้จักไทรอยด์เป็นพิษ-ALS โรคร้ายที่ทำให้ปทุมวดี โสภาพรรณ ต้องรักษาตัวยาวนาน ก่อนเสียชีวิต

รู้จักไทรอยด์เป็นพิษ- ALS โรคร้ายที่ทำให้ปทุมวดี โสภาพรรณ ต้องรักษาตัวยาวนาน ก่อนเสียชีวิต

ก่อนหน้านักแสดงอาวุโส ปทุมวดี โสภาพรรณ จะเสียชีวิต เธอป่วยเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษและ ALS ซึ่งทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลนานหลายปี ทั้งนี้ในส่วนโรค ALS นั้น นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยให้ข้อมูลไว้ว่า เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลังที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ มีความผิดปกติทำให้กล้ามเนื้อตามแขนและขาอ่อนแรงลง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด กล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรง หายใจลำบาก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 4-6 คน ต่อประชากร 100,000 คน และจะมีโอกาสพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ประมาณ 1-3 คน ต่อปี โรคนี้มักจะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

ระยะเริ่มต้นผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามือ เท้า แขนขาอ่อนหรือไม่มีแรง เช่น เดินแล้วล้มบ่อย ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ขึ้น จากนั้นอาการจะเริ่มรุนแรงขึ้น โดยมีอาการกล้ามเนื้อแขนและขาลีบ รับประทานอาหารลำบาก พูดไม่ชัด ระยะที่สองอาการจะหนักขึ้นจนลามไปถึงระบบหายใจ ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีอาการเหนื่อยง่ายจากกล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรง ระยะสุดท้ายผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องให้อาหารและน้ำทางสายน้ำเกลือ และอาจเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว

แพทย์เตือนกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคร้าย-ไม่ควรละเลย

ส่วนโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่าเป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป เมื่อร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนมากเกินความต้องการ จะมีสภาวะเป็นพิษจนส่งผลต่อร่างกายในด้านต่างๆ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วย เช่นเหนื่อยง่าย ใจสั่น ขี้ร้อนง่าย เหงื่อออกมาก หงุดหงิดหรือนอนไม่หลับ โรคไทรอยด์เป็นพิษมักพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5-10 เท่า ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง อาจไม่มีอาการแสดงใดๆ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ไม่ค่อยแสดงอาการอย่างชัดเจนมากนัก จึงต้องหมั่นสังเกตและตรวจเช็คอาการป่วยที่ตัวเองเป็น หากพบว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

Advertisement

ด้าน นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี เคยให้ข้อมูลไว้ว่า ไทรอยด์เป็นพิษ มักมีอาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกหรือเห็นก้อนขนาดใหญ่ที่บริเวณคอ ส่วนในรายที่มีอาการตาโปนร่วมด้วยเรียกว่า โรคคอพอกตาโปน พบได้บ่อยที่สุดประมาณร้อยละ 60-80 ของผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษทั้งหมด อาการโดยทั่วไปจะเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ใจสั่น มือสั่น ขี้ร้อน อาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ร่างกายมีการเผาผลาญสูงกว่าปกติ น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว บางรายอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยคล้ายท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะต้นแขนและต้นขา ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ ในบางรายที่เป็นเรื้อรังจะเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงทำให้กระดูกอ่อนแอ กลายเป็นโรคกระดูกพรุน เพราะร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากไป จนส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมแคลเซียม แม้จะเป็นเพียงในบางรายและพบไม่บ่อยมากนัก แต่ควรระวังไว้

ในภาวะที่ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติ ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นเร็วมากผิดปกติ มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส อาเจียน ท้องเสีย ตัวและตาจะเหลือง สับสนมึนงงอย่างรุนแรง มีภาวะขาดน้ำและอาจช็อก นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบในระยะท้ายๆ อาจมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย สาเหตุมาจากหัวใจเต้นเร็วและเต้นผิดจังหวะ ดังนั้นเมื่อพบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพบแพทย์

สธ.เตือน ‘ไทรอยด์’ เป็นพิษ เสี่ยงภาวะซ้อนอันตรายถึงชีวิต

Advertisement

ไทรอยด์พิษในคุก กินเมนูซ้ำถึงตาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image