เปิดกลยุทธ์ ‘#ดมเรียกสติ’ โฆษณาแบบวิน-วิน-วิน ที่ความสำเร็จครึ่งหนึ่งมาจาก ‘โน้ส อุดม’

กลายเป็นที่พูดถึงทั่วโลกออนไลน์ สำหรับโฆษณาชุด #ดมเรียกสติ ของยาดม เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์ ที่ได้ โน้ส-อุดม แต้พานิช มาเป็นพรีเซ็นเตอร์

โดยตัวแรก “พี่โน้สขอออออ… ก่อนลงไปมีเรื่องกับใคร สูดหายใจลึกๆ” ที่จับประเด็นความใจร้อนบนท้องถนนมาเล่นนั้น ผ่านไป 2 สัปดาห์มียอดวิวในแฟนเพจเฟซบุ๊ก “PeppermintField” สูงกว่า 7 ล้านวิว ส่วนตัวถัดมา “พี่โน้สขอระลอกสอง อยากลาออกเมื่อไร…สูดหายใจลึกๆ” ซึ่งพูดเตือนสติคนรุ่นใหม่ที่เอะอะจะลาออก ผ่านไปไม่กี่วันก็ทะลุ 3 ล้านวิวไปเรียบร้อย

ที่สำคัญทั้งสองคลิปวิดีโอยังกวาดเสียงชื่นชมในฐานะ “โฆษณาสร้างสรรค์สังคม” ไปครอง

แน่นอนว่ากว่าจะออกมาเป็นเบื้องหน้าที่ดูสนุก ขำๆ แต่เนื้อหาชวนให้ฉุกคิด ย่อมต้องผ่านการคิดไตร่ตรอง กลั่นกรองของคนเบื้องหลัง ซึ่ง “มติชน” จะพาไปเปิดกระบวนการสู่ความสำเร็จนี้ผ่านปาก ป๋อม-กิตติ ไชยพร ครีเอทีฟแห่ง ชูใจ & มานะ หนึ่งในผู้สร้างสรรค์โฆษณา

Advertisement

โดยเขาว่า “ที่มาก็เป็นการทำงานโฆษณาขายของทั่วไปเหมือนที่ทำกัน แล้วลูกค้า (เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์) ดีลกับพี่โน้สอยู่แล้ว ช่วงนั้นช่วงมิถุนา 59 ก่อนจะมี หมู่ พี่โน้สได้เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์เป็นสปอนเซอร์ พี่โน้สก็มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ลูกค้า”

ทว่าสิ่งแตกต่าง คือ “โจทย์” ที่ได้รับมานั้นต้องการให้ภาพของ “ยาดม” เป็นมากกว่าสิ่งช่วยบรรเทาอาการวิงเวียน เมารถ เมาเรือ เมื่อมารวมกับปณิธาณของชูใจ & มานะ ความยากจึงทวีคูณเข้าไปอีก

“ชูใจฯ ทำโฆษณา แต่ก็ทำงานเพื่อสังคมด้วย วิธีคิดของชูใจฯ รู้สึกว่าโฆษณา นอกจากขายของแล้วต้องให้ประโยชน์อื่นๆ มากกว่าในแง่สินค้า เพราะโฆษณามีพลังของสื่อที่สามารถถ่ายทอดอะไรดีๆ สาระประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ เหมือนดูหนังแล้วได้แรงบันดาลใจ ได้ข้อคิด”

Advertisement

“งานชูใจฯทุกงานต้องเป็นแบบนี้ ต้องมีคาแร็กเตอร์โฆษณาแบบวิน-วิน-วิน คือลูกค้าได้ขายสินค้า คนซื้อสินค้าได้สินค้าดี คนดูได้ข้อคิดที่ดี” กิตติเน้นย้ำ

ที่ผ่านมาเราๆ เลยได้เห็นโฆษณา “คนอร์” ชุด “Flavour of Home (เมื่อปิ่นโตออกเดินทาง)” ที่ดูจบ ลูกๆ ผู้ห่างบ้านมาอยากกลับไปกินข้าวฝีมือแม่ทันที หรือโฆษณาของ “แอดไวซ์” ที่ไม่ยอมขายแท็บเล็ตให้เด็ก 5 ขวบ เพราะช่วงอายุนั้นความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญกว่า

ส่วนครั้งนี้ “ต้องมาคิดว่ายาดมจะสร้างประโยชน์อย่างไร ซึ่งจริงๆ มันมีภาพลักษณ์ไม่ดีเกี่ยวกับการดมยาดมมันเสียบุคลิก เราก็มาคิดจนมีทีมงานคนหนึ่งพูดขึ้นมาตอนเบรนสตรอมว่ามันมีหลักธรรมะอันหนึ่งที่ให้เราอยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับลมหายใจ นั่งสมาธิ หายใจเข้าหายใจออก”

“เราได้คำว่า ‘อยู่กับลมหายใจ’ ขึ้นมาอันดับแรก เจอแล้วต้นตอไอเดีย ‘เป๊ปเปอร์มิ้นท์ ฟิลด์ต้องการให้คนไทยอยู่กับลมหายใจ’ แต่มันอาจจะเซอร์เรียล ก็ศึกษาเพิ่มแล้วพบว่าพระเคยเทศน์ไว้ว่าการอยู่กับลมหายใจ คือ การมีสติ ระลึกตลอดเวลา รู้ตัวตลอดเวลา การคิดยับยั้งชั่งใจ”

“คำพวกนี้มาหมดเลยพอมาบวกกัน อยู่กับลมหายใจ-โน้ส อุดม-สติ กลายเป็น ดมเรียกสติ” กิตติเล่า

มิหนำซ้ำความคิดนี้แก้โจทย์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพลักษณ์ที่การดมยาดมไม่ใช่เรื่องเสียบุคลิก แต่เป็นวิธีรวบรวมสติ หรือเรื่องหน้าที่ของสินค้าซึ่งมากกว่าแค่แก้อาการวิงเวียน แถมยังสอดคล้องกับกระแสสังคมในปัจจุบันซึ่งคนขาดสติกันมากขึ้น

เมื่อได้ไอเดียก็จัดการวางโครงเรื่อง โดยลงตัวที่ 3 เหตุการณ์กับโฆษณา 3 ตัว คือ “ความใจร้อนบนท้องถนน”, “การลาออกจากงานของคนรุ่นใหม่” และ “วัยรุ่นฆ่าตัวตายเพราะอกหัก” ซึ่งอันหลังจะเผยแพร่ในวันสองวันนี้

โน้ต อุดม1

อย่างไรก็ตามกิตติบอกด้วย “งานนี้พิเศษตรงว่า พี่โน้สขอเป็นครีเอทีฟด้วยเหมือนเป็น ‘ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์’ เราเอาไอเดียไปเล่า แกชอบบอกว่าดีๆ มีประโยชน์ ที่ชูใจฯคิดคือ 50% เป็นส่วนคอนเซ็ปต์ โครงสร้าง ส่วนที่เติมเต็มคือฝั่งพี่โน้ส โครงที่วางไว้คือให้พี่โน้สค่อยๆ นวดอีกฝ่าย คอยรับและรุก ทำให้เขายอมจำนนให้ได้ด้วยเหตุผล การห้ามเป็นการเตือนสติไม่ใช่ฉุดรั้งไม่ให้ทำ ทำให้เห็นว่าผลจากการกระทำของเธอในวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง สังเกตว่าทุกเรื่องสุดท้ายตัวแสดงจะคิดได้เองหมด”

“แล้วไอเดียนี้ถ้าเปลี่ยนคนนั่งในรถเป็นพระ หนังจะเฉยๆ มาก มันก็จะจืดๆ พอเป็นพี่โน้สเลยมีการพูดยุส่ง กวนๆ แดกดัน มีมุขตลกด้วยทำให้เอ็นเตอร์เทน ‘สติ’ เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและคนมักจะลืมและไม่รู้ตัว เป็นหลักง่ายๆ พระพุทธเจ้าสอนไว้ แต่ถ้าเราสอนแบบศาสนาพูดให้น่าเบื่อ คนไม่ฟังเหมือนรายการธรรมะวันอาทิตย์ แต่นี่เหมือนพี่โน้สกำลังเทศน์ เป็นธรรมะแบบหมู่”

ถึงอย่างนั้นคนทำไม่วายบอก “ตอนคิดเรื่องนี้ชอบที่มันมีประโยชน์กับคนดู แล้วก็ทำให้ยาดมดูดีขึ้น ส่วนจะป๊อปไหม ฮิตไหมตอบไม่ได้ แต่ก็หวังว่าจะมีคนชอบ”

ดังนั้นเมื่อผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็นจึงนับว่าเหนือความคาดหมาย ซึ่งแม้จะดีใจกับยอดวิวหลักล้าน แต่เขากลับภูมิใจกับที่หลายคนดูแล้วใจเย็นลง หรือตัดสินใจไม่ลาออกจากงานมากกว่า

“งานที่เราทำเป็นเรื่องการสร้างทัศนคติ สร้างจิตสำนึก เราไม่ได้หวังถึงขั้นว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ถ้ามีสักคนฉุกคิดได้ เห็นหนังแล้วไม่ลาออก รอให้หางานได้ก่อน หรือถ้าโดนปาดหน้าแล้วใจเย็น เราจะภูมิใจตัวลอย เพราะมันจะเปลี่ยนทัศนคติ กระตุ้นเตือนคนดู ผมเชื่อว่าเขาดูครั้งเดียวเขาก็จะจำ พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ภาพในหนังจะแว้บในหัว หนังก็จะทำงาน” กิตติเชื่อมั่น

ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าการใส่ “ประโยชน์ต่อสังคม” เข้าไปในโจทย์ทำให้การทำงานยากขึ้น แต่ “คุ้มค่าที่จะทำ”

“เราตั้งโจทย์ยาก ตอนลูกค้าบรีฟไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้ต้องมีสาระ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องดีๆ ถ้าเขาขายของได้”

“ฟีดแบ๊กโฆษณาชุดนี้เป็นกำลังใจมากๆ ให้เราทำงานต่อไป แต่ถ้าฟีดแบ๊กไม่ดีเราก็จะทำต่อไป ไม่คิดมาก เราคิดว่าเราทำสิ่งที่เราชอบก่อน ถ้าเลือกจากสิ่งที่เราชอบ อย่างน้อยทำออกไปจะมีคนชอบคือเรา ส่วนที่เหลือเป็นโบนัส”

โบนัสจากโฆษณาที่วิน-วิน-วิน กันไปทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image