สาปศิลป์ … ค้นรหัสของคำสาปผ่านเปลือกแห่งศิลปะ

ชื่อของ นภ ดารารัตน์ อาจไม่ใช่ชื่อที่คุ้นหูคนอ่านวรรณกรรมไทยมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ผลงานของเขาจะอยู่ในสายงานแปลซะมากกว่า แต่หนังสือแปลฝีมือเขาหลายเล่มได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักอ่าน เพราะความน่าสนใจของประเด็นและเนื้อหา อาทิ  ‘เทคโนโลยี: ประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์, ฮิสทีเรีย, และออร์กัสซั่มของผู้หญิง’, ‘พิภพชัชวาล’ และเล่มล่าสุดที่กำลังจะออกมาเร็วๆนี้อย่าง  ‘ชาติคืออะไร’

ในวันที่นภ ดารารัตน์ มีผลงานรวมเรื่องสั้นเรื่องแรกอย่าง ‘สาปศิลป์’ จึงไม่พลาดที่จะหยิบมาอ่านพร้อมกับความคาดหวังในระดับหนึ่ง

ก่อนพบว่าเป็นความคาดหวังที่ไม่เกินเลย

สาปศิลป์เป็นรวมเรื่องสั้นที่ประกอบด้วยเรื่องสั้น 8 เรื่อง ที่หลายเรื่องมีความเชื่อมโยงกันผ่านตัวละคร ซึ่งตัวละครทั้งหลายก็เวียนวนอยู่ในโลกแห่งศิลปะสมชื่อเรื่องนั่นล่ะ ทั้งศิลปิน นักเขียนนิยาย นักเขียนบทละคร นักถ่ายภาพ ผู้กำกับหนัง นักออกแบบท่าเต้นบัลเลต์ ผู้ชื่นชมงานศิลปะทั้งหลาย และแน่นอนว่าฉากและบรรยากาศของเรื่องก็หนีไม่พ้นแวดวงนี้ท่ามกลางบรรยากาศที่หม่นมัวราวกับท้องฟ้าที่ทาบทับไปด้วยเมฆหมอกแห่งความหม่นเศร้า

แต่ไม่ต้องกลัวไปว่าถ้าไม่ชื่นชอบงานศิลปะ แล้วจะไม่มีความสุขกับการอ่าน เพราะน้ำเสียงของผู้เล่าที่เล่าผ่านกลวิธีการนำเสนอที่หลากหลายนั้นน่าสนใจมาก โดยท่ามกลางเปลือกนอกที่ห่อหุ้มความงดงามของศิลปะแขนงต่างๆไว้นั้น สิ่งที่นภ ดารารัตน์เล่นล้อใน ‘สาปศิลป์’ ไม่ใช่การชื่นชมศิลปะอย่างเลิศลอย เพราะท่ามกลางหนังสือ บทกวี ภาพเขียน ภาพถ่าย เครื่องดนตรี รูปประติมากรรม สูจิบัตรแนะนำนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานศิลปะ น้ำเสียงของเรื่องเล่ากลับเป็นไปในเชิงตั้งคำถาม เหมือนกำลังปรายตามองด้วยความฉงนแกมเย้ยหยันในบางครั้ง เป็นน้ำเสียงที่ก้าวข้ามการเล่าเรื่องศิลปะ ไปเป็นการเล่าเรื่องของมนุษย์ผ่านงานศิลปะ

นภ ดารารัตน์แสดงภาพของกระบวนการทำงานของศิลปิน ด้วยการสร้างงานศิลปะประเภทต่างๆ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ประติมากรรม ละคร จิตรกรรม ดนตรี โดยบทบาทของทั้งผู้สร้างและผู้เสพถูกผู้เขียนหยิบมาใช้ในการตั้งคำถามถึงงานศิลปะบางประเภทอย่างน่าสนใจ ทั้งการตั้งใจชมงานศิลปะ การต้องมนตราคำสาป การเข้ามีส่วนร่วมในงานเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต แม้กระทั่งการวิจารณ์งานศิลปะ ที่ล้อเลียนนักวิจารณ์บางคนซึ่งมักวงเล็บไทยคำอังกฤษคำ แบบตั้งใจให้ดูยากและดูปราดเปรื่องหรือการก้าวเข้ามาเป็นผู้กำกับชื่อดัง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีแรงบันดาลใจใหญ่โตมากมายเหมือนบทสัมภาษณ์ที่เราเคยอ่านๆนั้น ซึ่งทุกประเด็นที่ผู้เขียนยกมาเล่นในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้น ล้วนแต่ทำให้อ่านไปก็ขำไปในอารมณ์ขันของการเสียดสี ที่ไม่ใช่แค่เสียดสีศิลปิน แต่เสียดสีแม้กระทั่งตัวเราที่กำลังนั่งอ่านเรื่องสั้นเหล่านั้นอยู่ตอนนี้ด้วยซ้ำ

Advertisement

แต่ที่เราชื่นชมที่สุดในสาปศิลป์ คือการการนำเอาเรื่องเล่าทางศาสนาในพระคัมภีร์ เทพปกรณัมกรีก มหากาพย์ วรรณคดีของเชกสเปียร์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ถูกจัดไว้ในประเภทของสูง มาแปรให้เป็นในลักษณะของงานคอลลาจตัดแปะ บางเรื่องสร้างโลก 2 โลกขึ้นมาขนานและสลับฉากกัน โดยที่อีกโลกมีกลิ่นอายของโลกอนาคต ความแฟนตาซีในโลกของดวงดาวต่างๆ

จริงๆมีหลายเรื่องที่เราชอบมาก แต่ด้วยพื้นที่จำกัดขอยกเรื่องหนึ่งที่ยังติดในใจเรา เรื่องนั้นชื่อว่า ‘จำหลัก จารึก’ (Rhythm and Monument) เล่าเรื่องถึงศาสตราจารย์ทางศิลปะและวรรณคดีคนหนึ่งที่ชื่อว่าแพทริเซีย เมื่อเธอจากไปมีคนปั้นรูปปั้นของเธอไว้ตามมุมต่างๆในเมือง เพือให้คนจดจำ แต่สำหรับเจอร์รีซึ่งเป็นอาจารย์ด้านนี้และเป็นคนใกล้ชิดเธอแล้วนั้น รูปปั้นเหล่านั้นไม่มีความหมายเลย คนจดจำผ่านงานคือสิ่งที่ดีสุดส่วนความทรงจำส่วนตัวของเขากับแพทริเซียนั้นก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่เขาจะเก็บไว้คนเดียว อย่างไม่จำเป็นต้องไปให้คนอื่นร่วมจดจำผ่านวัตถุใดๆ

Advertisement

อ่านแล้วนึกถึงเทพปกรณัมของศิลปินที่ว่างานศิลปะทำให้ผู้สร้างยิ่งใหญ่และเป็นอมตะ ซึ่งแม้กระทั่ง ฌอง ปอล ซาร์ตร์เอง ก็อยากเป็นอมตะด้วยการทิ้งผลงานไว้ให้คนรุ่นหลัง คือการสร้างความเป็นอมตะผ่านผลงาน …แล้วความอมตะจริงๆของผู้สร้างอยู่ที่ไหนกันแน่นะ ที่ความตั้งใจของคนสร้าง หรือความปรารภนาดีของคนเสพ

ถึงจะเป็นเรื่องแรกของผู้เขียน แต่ชัดเจนมากว่าวิธีคิดและฝีมือไม่ธรรมดา รวมเรื่องสั้นในสาปศิลป์แทบทุกเรื่องสนุกมาก สนุกกับการค้นหารหัสของน้ำเสียงที่ผู้เขียนซ่อนเอาไว้ในเรื่องเล่าแต่ละเรื่อง เป็นรหัสของคำสาปที่ทำให้เราสะดุดใจและถ้าไม่ค้นให้เจอคงนอนไม่หลับ

เหมือนกำลังประลองกำลังกับคนเขียนเลย

ดอกฝน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image