คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส : เมื่อ “แผลเก่า” ถูกสะกิดที่อินเดีย

(Photo by Dibyangshu SARKAR / AFP)

การชุมนุมประท้วงกฎหมายว่าด้วยสัญชาติพลเมืองฉบับแก้ไขใหม่ของอินเดีย (ซีเอเอ) เริ่มต้นที่รัฐอัสสัม รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แล้วลุกลามออกไปอย่างรวดเร็ว ในหลายๆ รัฐรวมทั้งที่เขตปกครองเดลี ที่ตั้งของเมืองหลวงของประเทศ

ในหลายๆ จุด การชุมนุม เดินขบวนประท้วงไม่ได้เป็นไปโดยสันติ เกิดการปะทะกันบ่อยครั้ง หลายหนกลายเป็นการตะลุมบอนหมู่ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม และมีอีกหลายครั้งที่การชุมนุมีการปะทะกันหนักหน่วง จนลงเอยด้วยเหตุจลาจล มีการเผารถยนต์ รถโดยสาร และเกิดการบาดเจ็บหนักจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตประปรายที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง แม้ยังไม่มีตัวเลขแถลงอย่างเป็นทางการ แต่มีผู้ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงครั้งนี้แล้วไม่น้อยกว่า 10 ราย

แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ได้รับบาดเจ็บไปหลายสิบราย ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัฐอัสสัม ถึงกับจำเป็นต้องส่งกำลังทหารเข้าประจำการ เพื่อรักษาความสงบ

เหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อสภาสูงของอินเดียผ่านร่างแก้ไข กฎหมายว่าด้วยสัญชาติพลเมือง ของอินเดีย (ซีเอบี) ด้วยคะแนนเสียง 125 ต่อ 105 เสียง เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ร่างเดียวกันนั้นผ่านโลกสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรอินเดีย ที่รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรค ภราติยะชนตะ (บีเจพี) ครองเสียงข้างมากอยู่ในเวลานี้ให้ความเห็นชอบอย่างรวดเร็วในอีก 2 วันถัดมา นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ก็ลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมายใหม่ในเวลาไม่ช้าไม่นาน

Advertisement

ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวร่างกฎหมายกลายเป็นเป้าในการชุมนุมประท้วง ต่อต้านอยู่ก่อนแล้วโดยหลายรัฐในอินเดีย โดยเฉพาะรัฐทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีชายแดนต่อเนื่องกับบังกลาเทศ ประเทศที่แยกตัวออกจากอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1971 นี่เอง

กฎหมายใหม่ดังกล่าวเป็นการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสัญชาติพลเมืองฉบับเดิมของอินเดียที่ประกาศใช้มานาน 64 ปี ตามกฎหมายเดิมดังกล่าว ใครก็ตามที่ไม่มีพาสปอร์ต อินเดีย หรือหนังสือเดินทางที่ถูกต้อง หากเดินทางเข้าประเทศ หรือใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเกินกว่าเวลาที่กฎหมายอนุญาตไว้ ถูกยึดถือเป็น “ผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” ทั้งหมด

โทษทัณฑ์ของการละเมิดดังกล่าวคือ การถูกจับกุมคุมขังหรือเนรเทศ หรือทั้งสองประการ

Advertisement

กฎหมายเดิม เปิดช่องทางให้ยื่นขอสัญชาติพลเมืองอินเดียให้กับคนต่างแดนได้ แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่ ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียมาแล้ว “อย่างน้อย” 11 ปี

กฎหมายใหม่ที่ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติม กำหนด “ข้อยกเว้น” เอาไว้ ให้กับ “ประชากรจากชุมชนคนกลุ่มน้อยใน 6 ศาสนา” ประกอบด้วย ฮินดู, ซิกข์, พุทธ, เชน, ปาร์ซี และคริสเตียน หากคนเหล่านั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่ามาจากประเทศหนึ่งประเทศใดใน 3 ประเทศ คือ ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน และบังกลาเทศ และใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียมาแล้ว 6 ปีก็สามารถได้รับสัญชาติอินเดียอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้

นักกฎหมายและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอินเดีย ชี้ว่า กฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตามที เป็นกฎหมายเลือกปฏิบัติ ต่อต้านศาสนาอิสลาม พร้อมๆ กับที่ขัดกับหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยอีกต่างหาก

การที่การแสดงออกถึงการต่อต้านรัฐบาลอินเดียในครั้งนี้ก่อหวอดขึ้นที่รัฐอัสสัมนั้น ไม่ได้เป็นเหตุบังเอิญแต่อย่างใดทั้งสิ้น ตรงกันข้าม อัสสัม เป็นรัฐที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาการชุมนุมประท้วงต่อต้าน “ต่างชาติ” ครั้งใหญ่ที่สุด รุนแรงที่สุดในอินเดีย ซึ่งยืดเยื้อนานร่วม 6 ปีในช่วงทศวรรษ 1980 ที่่ผ่านมา

ครั้งนั้นมี “พลเรือน” ถูก “ฆาตกรรม” เพราะเหตุรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนานับเป็นเรือนพัน และนำไปสู่การทำความตกลงระหว่างรัฐบาลกลางของอินเดียกับกลุ่มผู้ประท้วงในปี 1985 ว่าด้วยการให้สัญชาติอินเดียต่อผู้ที่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าใช้ชีวิตอยู่ หรือเดินทางเข้ามาก่อนหน้าวันที่ 24 มีนาคม 1971 อันเป็นช่วงเวลา 1 วันก่อนหน้าที่ บังกลาเทศ จะแยกตัวเป็นประเทศอิสระ

ความตกลงดังกล่าว ส่งผลให้มีการจัดเตรียมบัญชีรายชื่อของบุคคลที่ขึ้นทะเบียนไว้ เรียกว่า “ทะเบียนพลเมืองแห่งชาติ” (เนชันแนล รีจิสเตอร์ ออฟ ซิติเซนส์-เอ็นอาร์ซี) ซึ่งเริ่มเตรียมขึ้นทะเบียนพลเมืองในอัสสัมมาตั้งแต่ปี 1951 เรื่อยมา โดยที่ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การขึ้นทะเบียนดังกล่าวนี้เหมือนถูกลืมเลือนไปแล้ว

แต่พอถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลบีเจพี นำเอาบัญชีรายชื่อตามทะเบียนเอ็นอาร์ซีที่ “ปรับปรุงใหม่” แล้วนี้ มาบังคับใช้เป็นครั้งแรก ในรัฐอัสสัมอีกเช่นกัน

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ มีพลเรือนอัสสัมเกือบ 2 ล้านคน กลายเป็นคนไร้รัฐ เพราะต้องถูกถอนสัญชาติอินเดียและอยู่ในข่ายต้องเนรเทศ เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนเอ็นอาร์ซีดังกล่าวนี้

รัฐบาลอินเดียระบุว่า ซีเอเอกับเอ็นอาร์ซี เป็นเรื่องสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

ซีเอเอ เป็นเรื่องของการเปิดช่องทางพิเศษสำหรับช่วยเหลือ “เพื่อมนุษยธรรม” ต่อ “ชนกลุ่มน้อย” ใน 6 ศาสนาดังกล่าว “ซึ่งถูกลงทัณฑ์เพราะการนับถือศาสนา” ภายในประเทศหรือภายในสังคมของประเทศทั้ง 3 ประเทศนั้นเท่านั้น

เอ็นอาร์ซีเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง ทางการอินเดีย ยืนยันว่านี่เป็นเพียงมาตรการ “เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ผู้ที่แรกซึมเข้ามา (ด้วยวัตถุประสงค์ไม่ดี) ในอินเดียต้องถูกจำแนก และขับออกไปนอกประเทศ” ทั้งหมด ภายในปี 2024 นี้

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าวโดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้น ก็ชี้ให้เห็นว่า ซีเอเอ และเอ็นอาร์ซี นอกจากจะเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างชัดเจนแล้ว ยังรวมกันแสดงให้เห็นถึง “วาระซ่อนเร้น” ที่รัฐบาลแนวทางชาตินิยมฮินดูกำลังใช้กฎหมายทั้งสองประการดำเนินการอยู่ในเวลานี้

นั่นคือการทำอินเดียให้กลายเป็นรัฐฮินดู ด้วยการค่อยๆ ลดความสำคัญและผลักไสมุสลิมในอินเดียออกไป!

ในทรรศนะของนักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญหลายคน เห็นว่า การที่กฎหมายว่าด้วยสัญชาติพลเมือง (ซีเอเอ) ของอินเดีย ละเลย ศาสนาอิสลาม ของชาวมุสลิมเอาไว้นั้นสะท้อนถึงเจตนาเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในอินเดียราว 200 ล้านคนอย่างชัดเจน

นอกจากนั้นในทันทีที่นำเอาซีเอเอมาบังคับใช้ควบคู่ไปกับเอ็นอาร์ซี ยิ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามที่ชัดเจนต่อการทำให้ชาวมุสลิมกลายเป็นคนไร้รัฐ ไม่มีสัญชาติ และในที่สุดก็ต้องถูกขับออกจากอินเดีย

ทั้งนี้เป็นเพราะหากนำเอาเอ็นอาร์ซีมาบังคับใช้ในทุกรัฐ ทั่วประเทศอินเดียภายในปี 2024 อย่างที่ อมิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทยของอินเดียแถลงไว้จริง ผู้ที่ไม่มีชื่อขึ้นทะเบียนอยู่ในเอ็นอาร์ซี ก็จะถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่มโดยอัตโนมัติ กลุ่มแรกคือผู้ไม่มีชื่อในทะเบียนเอ็นอาร์ซีที่เป็นชาวมุสลิมกับอีกกลุ่ม ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นมุสลิม

คนในกลุ่มหลัง ซึ่งส่วนใหญ่อาจเป็น “เบงกาลีฮินดู” หรือศาสนาอื่นๆ จะได้รับการคุ้มครอง ยื่นขอคงสถานะความเป็นพลเรือนอินเดีย พำนักอยู่ในประเทศต่อไปได้ขอเพียงแค่เคยใช้ชีวิตอยู่มาเพียง 6 ปีเท่านั้นเอง

ส่วนคนมุสลิม ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนเอ็นอาร์ซี กลับไม่ได้สิทธิเหมือนกันดังกล่าว

ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ยังลุกลามต่อไปถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดมีการ “หลั่งไหลกันเข้ามา” ของชาวฮินดูจากบังกลาเทศ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดทางชาติพันธุ์และการแบ่งกลุ่มตามภาษาพูดในพื้นที่รัฐต่างๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ประท้วงรุนแรงอยู่ในเวลานี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐอัสสัม ซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษาพูดและศาสนา สูงที่สุดรัฐหนึ่งในอินเดีย

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า รัฐธรรมนูญของอินเดียนั้นกำหนดให้อินเดียเป็นรัฐในเชิงโลกวิสัย หรือเซกคิวลาร์ สเตท กล่าวคือเป็นรัฐที่มีความเป็นกลางทางศาสนา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากศรัทธาในศาสนาที่แตกต่างกัน “ปะทุ” ขึ้นมาอย่างรุนแรงในอนาคตอีกครั้ง

กฎหมายซีเอเอและเอ็นอาร์ซี ไม่เพียงสะกิดแผลเก่าที่ว่าขึ้นมาใหม่อีกครั้งเท่านั้น ยังทำลายหลักการที่บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญไปจนหมดสิ้นอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image