กมธ.ร่วมไทย-ลาว ครั้งที่ 22 ฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปด้วยกัน

กมธ.ร่วมไทย-ลาว ครั้งที่ 22 ฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปด้วยกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (เจซี) ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – ลาว ครั้งที่ 22 กับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสปป.ลาว ซึ่งถือโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ นับเป็นการเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเองของคณะผู้แทนจากต่างชาติคณะแรกหลังไทยเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนายสะเหลิมไซยังได้เข้าเยี่ยมคาราวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย

การประชุมเจซีถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านในทุกมิติ และการประชุมเจซีไทย-ลาวซึ่งมีขึ้นหลังจากว่างเว้นไปนานถึง 3 ปีครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การฟื้นฟูอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไปด้วยกัน” ที่สอดคล้องกับสภาพการณ์โลกในปัจจุบัน และยังเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญเพื่อฉลองครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือรอบด้าน และผลักดันความร่วมมือเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของประชาชน ควบคู่กับการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนหลังโควิด-19 ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนกำหนดแนวทางของความร่วมมือในระยะต่อไปอีกด้วย

Advertisement

น.ส.อาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ได้สรุปสาระสำคัญที่ได้มีการหารือในที่ประชุมซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เริ่มจากประเด็นแรกที่มีความสำคัญยิ่งคือ “ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูที่มั่นคงและยั่งยืนของทั้งสองประเทศ” ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าไปได้แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังแสดงเจตนารมณ์ที่จะกระชับและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจของกันและกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ รวมทั้งวางรากฐานสำหรับความร่วมมือในสาขาใหม่ที่มีศักยภาพ

ในประเด็นด้านการค้า ทั้งสองประเทศได้คงเป้าหมายการค้าร่วมกันที่ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายไปถึงปี 2568 มีการเร่งรัดการพิจารณายกระดับจุดผ่านแดนและการกลับมาเปิดจุดผ่านแดนที่ทั้งสองฝ่ายปิดไปชั่วคราวหลังโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างกัน เพราะการค้าชายแดนคิดเป็นมูลค่ามากกว่าร้อยละ 96 ของการค้าไทย-ลาว โดยมูลค่าการค้าชายแดน 2 ประเทศในปี 2563 อยู่ที่ 189,836 ล้านบาท (ราว 6,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตลอดจนช่วยให้วิถีชีวิตของประชาชนตามแนวชายแดนสามารถกลับสู่สภาวะปกติ

ขณะที่ในด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกและคุ้มครองนักลงทุนระหว่างกัน และเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินระหว่างประเทศ

Advertisement

นอกจากนี้ยังเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงไร้รอยต่อระหว่างกันในมิติต่างๆ ให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมให้มีการเชื่อมต่อระบบรางของสองประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน หลังจากที่ลาวจะเปิดการเดินรถไฟลาว-จีน รอบปฐมฤกษ์ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ และมีการหารือ 3 ฝ่ายร่วมกับจีนเพื่อเชื่อมโยงระบบราง ทั้งยังจะเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การประสานมาตรฐานและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการขนส่งระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เร่งรัดการเปิดใช้งานพื้นที่ควบคุมร่วม ณ จุดผ่านแดนถาวรหรือด่านสากลที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศให้มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่ประชุมยังพูดคุยถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาทักษะและขีดความสามารถของบุคลากร ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจ Start Up และเสริมสร้างเครือข่ายนักธุรกิจและเครือข่ายผู้ให้บริการ พัฒนาเมืองคู่มิตรอัจฉริยะ (Smart Cities) ภายใต้เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) ตลอดจนความร่วมมือตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ในเรื่องการอำนวยความสะดวกการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน ที่ประชุมสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาความพร้อมและกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและการไปมาหาสู่ของประชาชน โดยในระยะแรกอาจมุ่งเน้นการเดินทางในลักษณะเช้าไปเย็นกลับในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และนครหลวงเวียงจันทน์

สานต่อความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการแบ่งปันข้อมูล การแจ้งเตือนล่วงหน้าหากจะมีการดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลต่อระดับน้ำ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศลุ่มน้ำโขงในด้านการบริหารจัดการน้ำ

ประเด็นที่สองคือ “ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงเพื่อส่งเสริมความมั่นคงร่วมกัน” ซึ่งมีการหารือตั้งแต่การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน อาทิ การยกระดับความเข้มงวดการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ให้มีการปรึกษาหารือและประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกลไกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสองประเทศทั้งในระดับส่วนกลางและระดับท้องที่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแก้ไขปัญหาต่างๆ ความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
ส่งเสริมความร่วมมือด้านแรงงานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยจะมีการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเข้าแรงงานลาวอย่างถูกกฎหมายอีกครั้งเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย ส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้มากขึ้น โดยไทยพร้อมสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพไทย-ลาว ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแบบครบวงจรแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

ประการสุดท้ายคือ “ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในระดับประชาชน” ฝ่ายลาวได้ขอบคุณภาครัฐและเอกชนไทยที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในรูปของเงินบริจาค เครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลตามแนวจังหวัดและแขวงชายแดนไทย -ลาว ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และยังมีความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยไทยพร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทให้กับลาว

รัฐมนตรีทั้งสองยังทำพิธีส่งมอบศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและศูนย์รองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุเบื้องต้นและส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลเมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ และส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมการรองรับผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แก่โรงพยาบาลเด็ก นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมฉลอง 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอีกด้วย

นายดอนกล่าวว่า การประชุมเจซีไทย-ลาวครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีของมิตรประเทศเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง ลาวถือเป็นเพื่อนบ้านที่มีความใกล้ชิดกับไทย เราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน และประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญยิ่ง การหารือจึงเป็นการปูทางไปสู่ความร่วมมือหลังการแพร่ระบาดของโควิด เป็นการพูดคุยด้วยการมองไปข้างหน้า โดยยึดประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศเป็นที่ตั้ง

ภาพการจัดฉลองวันเกิดย้อนหลังให้กับนายสะเหลิมไซ ซึ่งเต็มไปด้วยรอยยิ้มยินดีของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งไทย-ลาว ยิ่งตอกย้ำสิ่งที่รองนายกฯและรมว.กต.ดอนบอกว่า “บรรยากาศของการประชุมเป็นไปด้วยดี และสะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีส่วนช่วยในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี และทำให้ความร่วมมือทุกอย่างราบรื่นไปได้” เหมือนบรรยากาศแห่งความสุขเมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2562 ที่ได้มีการจัดงานวันเกิดให้นายสะเหลิมไซเช่นเดียวกัน

ฉลองวันเกิดปี2564
ฉลองวันเกิดปี2562

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image