ค่านิยมพื้นฐานและความร่วมมือ ไทย-สหภาพยุโรป ภายใต้ PCA

ค่านิยมพื้นฐานและความร่วมมือ

ไทย-สหภาพยุโรป ภายใต้ PCA

ปลายปี 2565 หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ในความร่วมมือสองฝ่าย คือ การลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทย-อียู (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) หลังจากที่ใช้เวลาในการเจรจากันมายาวนานกว่า 18 ปี ซึ่ง PCA ที่ผู้นำไทย-อียูเป็นสักขีพยานในการลงนามร่วมกัน เป็นร่างที่มีการปรับปรุงให้สะท้อนถึงความร่วมมือและประเด็นระดับโลกใหม่ๆ ตามสถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรอบด้าน

ก่อนหน้าที่คณะรัฐมนตรีจะนำร่าง PCA ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบในการให้สัตยาบัน กระทรวงการต่างประเทศได้เดินหน้าจัดกิจกรรมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นเวทีที่ 2 หลังจากเวทีแรกที่ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างกรอบความตกลง PCA ในภาพรวม และรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและข้อท้าทายในความร่วมมือกับอียูภายใต้ร่าง PCA

Advertisement

การสัมมนาในหัวข้อ “ค่านิยมพื้นฐานและความร่วมมือภายใต้ PCA” ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศและศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมกว่า 70 คน จากกว่า 30 หน่วยงาน และมีผู้ร่วมอภิปรายจากหลากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย นายกิตติ วะสีนนท์ วุฒิสมาชิกและรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ น.ส.สมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป ผศ.ดร.กษิร ชีพเป็นสุข รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิฟรีดริช เนามัน สำนักงานประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม

นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กล่าวว่า ค่านิยมพื้นฐานร่วมของไทยและอียูที่ปรากฏในร่างกรอบความตกลง PCA โดยเฉพาะในประเด็นการเมือง สิทธิและเสรีภาพ และความมั่นคง นับเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในด้านอื่นๆ กับอียูต่อไป เพราะค่านิยมเหล่านี้มีความสำคัญต่อความร่วมมือระหว่างกัน การหารือในประเด็นนี้จะช่วยให้เข้าใจร่างความตกลงดังกล่าวมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาแนวทางในการดำเนินความร่วมมือกับอียูเมื่อต้องนำร่าง PCA ไปสู่การปฎิบัติ ค่านิยมพื้นฐานในร่าง PCA ไทย-อียู ดังกล่าวมีความสำคัญต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับอียูอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อไทยอย่างรอบด้าน และยังมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของไทยในระยะยาวอีกด้วย

Advertisement

นายอสิยังได้เปิดตัว website tab อันใหม่บนหน้าเว็บไซต์กรมยุโรป https://europetouch.mfa.go.th ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู เพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลและให้ความคิดเห็นต่อร่าง PCA ไทย-อียูได้ โดยเว็บไซต์นี้จะประกอบไปด้วยข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ประวัติการเจรจา การลงนามร่างกรอบความตกลงเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก PCA ตลอดจนผลการสัมมนาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู ทั้งยังมีช่องรับความคิดเห็นต่อร่างกรอบความตกลง PCA ไทย-อียู เพื่อให้ผู้สนใจสามารถส่งข้อคิดเห็นเข้ามาได้ และยังมีลิงก์ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ PCA ที่ได้รวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเพิ่มเติม

ในช่วงการอภิปราย ที่ประชุมตระหนักถึงความสำคัญของการยึดมั่นในค่านิยมพื้นฐานอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความร่วมมือไทย-อียูภายใต้ PCA อาทิ หลักการประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ หลักนิติธรรม ซึ่งจะเป็นกุญแจที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกับอียูในด้านอื่นๆ ต่อไป ค่านิยมเหล่านี้เป็นสิ่งที่อียูยึดถือโดยปรากฏในสนธิสัญญาและปฏิญญาต่างๆ ของอียู และยังเป็นสิ่งที่อียูส่งเสริมในการดำเนินโยบายต่างประเทศ โดยเป็นมาตรฐานสากลด้วย บริบทโลกที่เปลี่ยนไปทั้งการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalisation) และการแยกขั้วอำนาจ ทำให้อียูเร่งที่จะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่ยึดถือคุณค่าชุดเดียวกัน โดยร่าง PCA เป็นหนึ่งในเครื่องมือนั้น

การเจรจาร่าง PCA ถือเป็นการเดินหมากทางยุทธศาสตร์ที่ดีของไทย และไทยก็ได้ประโยชน์ด้วยจากความร่วมมือในประเด็นที่หลากหลายและทันสมัย รวมถึงในประเด็นท้าทายระดับโลกต่างๆ ที่ต้องอาศัยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศระหว่างกันเพื่อรับมือ ในมุมมองทางกฎหมาย ไทยและอียูเจรจากันอย่างเท่าทัน อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของไทย การมี PCA ทำให้ไทยมีมาตรวัดการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ทัดเทียมกับความเป็นสากล และความร่วมมือในร่าง PCA ไทย-อียูเป็นโอกาสทางการค้า รวมถึงเป็นทางเลือกทางนโนยบายต่างประเทศของไทยด้วย

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามร่าง PCA ไทย-อียู ผู้อภิปรายมองว่า เป็นโอกาสให้ไทยได้เรียนรู้ประเด็นใหม่ๆ ซึ่งอาจสามารถกลายเป็นประเด็นทางความมั่นคงได้ ไทยจะได้เรียนรู้วิธีคิดของอียูที่แต่ละประเด็นที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงใช้โอกาสนี้ในการแสวงหาประโยชน์จากนโยบายมุ่งอินโด-แปซิฟิกของอียู ในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมองว่า การมีช่องทางหารือกับอียูจะเป็นโอกาสให้อียูมีความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของไทย ในขณะเดียวกัน ไทยก็ได้เรียนรู้จากอียูและประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ความร่วมมือด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนจะช่วยให้ SMEs ของไทยมีความตระหนักรู้เรื่องนี้และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ส่วนในด้านอาวุธ ไทยจะสามารถเข้าถึงข่าวกรองของฝ่ายอียู ได้รับความช่วยเหลือในด้านการบังคับใช้กฎหมาย เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ และการเสริมสร้างขีดความสามารถของไทยเอง

ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับข้อท้าทายของไทยในการร่วมมือกับอียู โดยไทยต้องเน้นการพัฒนาคน เสริมสร้างทักษะทางภาษาอังกฤษให้กับเจ้าหน้าที่เทคนิคตลอดจนผู้ปฏิบัติ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ๆ ของอียู เช่น กฎหมายลดการทำลายป่า มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน การติดตามท่าทีอียูต่อสถานการณ์ทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนในไทย และเน้นสานสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกอียูที่สำคัญหรือที่ให้ความสำคัญกับไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือและนำร่าง PCA ไทย-อียู ไปสู่การปฏิบัติ

น.ส.สมฤดี พู่พรอเนก รองอธิบดีกรมยุโรป กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีกว่าที่ผ่านมาบริบทโลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ก่อนหน้านี้เราพูดถึงระบบพหุภาคี แต่ตอนนี้กลายเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศเล็กๆ ที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้รับความนิยมมาก แต่ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือการทวนกลับของกระแสโลกาภิวัฒน์ (deglobalization) การทำให้เกิดความหลากหลาย (diversification) ทุกคนกำลังมุ่งหาแหล่งทรัพยากรใหม่ หุ้นส่วนใหม่ๆ อียูก็เช่นกัน ที่ได้พยายามเปลี่ยนจากตลาดจีนและรัสเซียที่เคยพึ่งพิงมาเป็นตลาดเอเชียและตลาดในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

อีกประเด็นคือเรื่องตลาดเสรี การเปิดตลาด ซึ่งพูดกันมากเรื่องการทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) แต่ปัจจุบันเท่านั้นไม่พอ กลายเป็นว่าขณะนี้จะทำอย่างไรให้มีการค้าควบคู่ไปกับความยั่งยืน ตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน คน สัตว์ สิ่งของ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้น ที่สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นสำคัญของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป

ขณะนี้ยังมีการหันกลับมาพูดถึง Autonomy อียูได้หันกลับมาดูตัวเอง หรือหาทางพึ่งพิงตนเองอย่างมีกลยุทธ์ มีการออกแผนปฏิบัติการทางทหารความมั่นคงของตนเอง และมีการตอบรับกับประเด็นที่สำคัญของโลกเรื่องการค้า การทำ European Green Deal ทำอย่างไรให้มีการเปลียนผ่านสีเขียว วิกฤตความขัดแย้งทำให้ต้องหันมาเร่งเรื่องลดคาร์บอน ทำทุกอย่างให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ประเทศต่างๆ หันมาพูดถึงเรื่องค่านิยมที่เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความร่วมมือกัน

การจัดทำ PCA ครั้งนี้ถึงมีความสำคัญ อียูมองไทยว่าเราเป็นตลาดที่เขาสามารถจะหันมาใช้เป็นแหล่งผลิตได้ เขามองว่าไทยเป็นประเทศที่ยึดมั่นในหลักการและค่านิยมเช่นเดียวกัน เรื่องหลักประชาธิปไตยและสิทธิต่างๆ เรามีคุณค่าที่ใกล้เคียง และเราเป็นประเทศที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสีเขียวเหมือนกันจากบีซีจีโมเดล บนพื้นฐานหลักการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเราสามารถที่จะร่วมมือกันได้

อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่า PCA ยกร่างโดยอียู ดังนั้นในเรื่องของหลักการและแนวคิดต่างๆ เรียกได้ว่ามีอียูเป็นศูนย์กลาง ถ้าเรายอมรับในสิ่งนี้ได้ก็จะเข้าใจว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการใช้เอกสารนี้ และเราต้องตระหนักว่าเรากำลังเจรจากับกลุ่มที่มีความทันสมัยและก้าวหน้าเป็นลำดับต้นๆ ของโลกในประเด็นระหว่างประเทศ

รองอธิบดีกรมยุโรปยืนยันว่า ไทยก็มีหลักการในการเจรจา เอกสาร PCA เป็นไปตามขอกฎหมายไทยในทุกเรื่อง ไม่มีอะไรที่เราเจรจาแล้วนอกเหนือไปจากกฎหมายที่เรามีอยู่ในปัจจุบันหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศที่เรามีอยู่ ฉะนั้นขอให้มั่นใจได้ว่าเอกสาร PCA ไม่มีอะไรเกินเลยไปกว่าสิ่งที่่ไทยปฎิบัติได้ รวมถึงการเจรจาก็เป็นไปอย่างเท่าเทียม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image