PCA กับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า

PCA กับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า

หลังจากที่ไทยได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (อียู) และรัฐสมาชิก (PCA) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนภายในของแต่ละฝ่ายก่อนที่จะมีการให้สัตยาบันเพื่อให้ PCA มีผลบังคับใช้ได้จริง หนึ่งในภารกิจที่กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด คือการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจต่อสาธารณชนใประเด็นความร่วมมือในมิติต่างๆ ภายใต้ PCA ซึ่งจะกลายเป็นร่มใหญ่ที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอียูในอนาคต ทั้งยังจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันต่อไปในอนาคต ที่ในขณะนี้ได้มีการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาขึ้นแล้ว

อียูเป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐ มีมูลค่าการค้ารวม 41,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 7 ของมูลค่าการค้าไทยจากสถิติในปี 2565 และจากสถิติในช่วยเดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 ประเทศสมาชิกอียูยังมีมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยราว 673.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจาก ญี่ปุ่น ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ไทยต้องกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับอียูในประเด็นเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ไม่นานมานี้ กรมยุโรป จึงได้จัดสัมมนา PCA ขึ้นอีกครั้ง โดยคราวนี้เน้นไปในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นการเฉพาะ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงเหตุผลหลัก 3 ประการที่ไทยต้องส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอียูประกอบด้วย ประการแรกคือไทยกำ ลังเจรจา FTA กับอียูที่ถือเป็นผู้เล่นสำคัญของเศรษฐกิจโลก ด้วยพลังของประเทศสมาชิก 27 ประเทศ ทำให้ GDP ของอียูสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือ 17.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 612.1 ล้านล้านบาท รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน การที่อียูเป็นคู่ค้าลำดับที่ 5 และเป็นคู่ลงทุนอันดับ 2 ของไทย เมื่อการเจรจา FTA สิ้นสุดลง อียูจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นอีก เราจึงต้องร่วมกันพิจารณาว่าไทยมีความพร้อมสำหรับ FTA แล้วหรือไม่ อย่างไร และเราจะใช้ความร่วมมือกับอียูมาสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ ได้หรือไม่ อย่างไรด้วย

Advertisement

 

ประการที่ 2 อียูเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก อาทิ ซีแบม หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism-CBAM) ซึ่งเป็นกฎหมายของอียูที่เรียกเก็บค่าคาร์บอนจากสินค้านำเข้าบางชนิด อียูยังกำลังกำหนดให้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นกฎหมายด้วย อาทิ สินค้าเกษตรจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า การทารุณกรรมสัตว์ หรือการใช้สารเคมีอันตราย สินค้าทั่วไปต้องสนับสนุนการรีไซเคิล ทุกบริษัทในห่วงโซ่การผลิตของอียูต้องกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือเรียกว่า Corporate Sustainability Due Diligence Directiveเป็นต้น ทำให้ต้องคิดต่อไปเพิ่มเติมว่าองค์กรต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายเหล่านี้ของอียูหรือไม่

น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

ประการที่ 3 อียูกำลังสนใจอาเซียนอย่างมาก ในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันที่มีแนวโน้มของการแบ่งขั้ว ระหว่างประเทศมหาอำนาจ บริษัทในอียูมองอาเซียนเป็นพันธมิตรและเป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เห็นได้จากการที่บริษัทจำนวนมากได้ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียน และอียูกำลังให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้ากับประเทศในอาเซียนอีกด้วย เราคงต้องมาดูว่าไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน และจะใช้ความเชื่อมโยงกับอียูได้อย่างไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และมองดูด้วยว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากพลวัตของประเด็นต่างๆ ใน PCA ได้หรือไม่อย่างไร

Advertisement

ด้าน นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป กล่าวว่า อียูให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ออกแผนยุทธศาสตร์ European Green Deal ซึ่งจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในอียูให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการอย่างรอบด้าน แน่นอนว่า ยุทธศาสตร์ Green Deal นี้จะทำให้ภาคเอกชนอียูมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของตนเอง อียูจึงได้ออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อบังคับให้ต่างชาติที่ส่งออกสินค้าเข้าไปยังตลาดอียูต้องมีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันด้วย โดยกฎหมายอียูที่น่าจะกระทบภาคเอกชนไทยอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (Regulation on Deforestation-Free Products: EUDR) และซีแบม อย่างไรก็ตาม อียูจะออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกฎหมายเดิมที่มีอยู่ก็จะมีการขยายขอบเขต โดยอาจครอบคลุมสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศก็กำลังพิจารณาออกกฎหมายในหลักษณะเดียวกัน ดังนั้น เอกชนไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรการสีเขียวเหล่านี้ให้ได้อย่างทันท่วงที เพราะสอดคล้องกับแนวนโยบายและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลและของประเทศไทยด้วย

นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป

PCA เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ดังนั้น ประเด็นความร่วมมือใดๆ ใน PCA จึงเป็นมากกว่าเพียงการระบุความต้องการที่จะทำงานร่วมกัน แต่เป็นพันธกรณีที่จะร่วมมือกันผลักดันประเด็นต่างๆ ที่ระบุใน PCA แม้ภาครัฐจะเป็นฝ่ายปฏิบัติ ขณะเดียวกันเราเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนสามารถแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดความร่วมมือที่อยากาจะเห็นและที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ในภาพรวมข้อบทด้านเศรษฐกิจใน PCA ครอบคลุมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอียูและประเทศสมาชิกแทบทุกด้าน อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้า ความร่วมมือด้านศุลกากร การค้าดิจิทัล การลงทุน ภาคการเงิน การส่งเสริมธุรกิจ SME ความร่วมมือทางธุรกิจ มาตรฐานสินค้าเกษตร ระบบการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ตลอดจนประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา

เนื้อความในแต่ละประเด็นมีใจความหลักคล้ายกัน คือการย้ำความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายที่จะมีความร่วมมือระหว่างกัน โดยรูปแบบความร่วมมือนี้มักระบุเป็นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ หรือแนวปฏิบัติที่ดี หรือเป็นการดำเนินโครงการร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ แต่ละข้อบทจะมีการระบุกรอบคร่าวๆ ว่าจะร่วมมือในประเด็นย่อยใดบ้างในสาขาที่ได้กล่าวมา ประเด็นหลักๆ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจจาก PCA แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1.การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกันในด้านที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองฝ่าย อาทิ นโยบายการเกษตร ความปลอดภัยด้านอาหาร นโยบายการบริโภค และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 2.การกระชับความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถระหว่างกัน อาทิ ในด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ระบบอาหารที่ยั่งยืนระหว่างกัน ศุลกากร ทรัพย์สินทางปัญญา และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ STI ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีและเป็นเลิศของอียูในด้านเหล่านี้ 3.การส่งเสริมการเข้าถึงตลาดของกันและกัน ซึ่งรวมถึงการค้า การบริการ และการค้าดิจิทัล และ 4.การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการเงินและการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย

กรมยุโรปประเมินว่ากฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของอียูจะเป็นมาตรการที่จะกระทบเกษตรกรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรยางพารากว่า 1.7 ล้านครัวเรือน เนื่องจากกฎหมายนี้จะส่งผลให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรไทย 7 ประเภท ได้แก่ ยางพารา น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง จำเป็นต้องให้ข้อมูลและหลักฐานเพื่อยืนยันว่าสินค้าถูกต้องตามกฎหมายไทยและไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ดังนั้น ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มนี้ให้สามารถจัดทำข้อมูลดังกล่าวพร้อมเอกสารรับรองได้ทันท่วงทีก่อนที่กฎหมายนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงสิ้นปีนี้

เพื่อผลักดันให้อียูร่วมมือกับไทยในการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสำหรับกฎหมายดังกล่าวให้กับเกษตรกรไทย เราสามารถอ้าง 3 ข้อบทใน PCA เพื่อให้อียูมีความร่วมมือกับไทยในประเด็นนี้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.ข้อบทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Environment and Natural Resources) ซึ่งกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า (Article 43, 3(e)) 2.ข้อบทเกี่ยวกับการเกษตรกรรม (Agriculture, Livestock, Fisheries and Rural Development) ที่กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการหารือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกต่อการค้าสินค้าเกษตร (Article 45, 1(b)) และ 3. ข้อบทเกี่ยวกับ MSMEs ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs ซึ่งรวมถึงเกษตรกรไทยที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ด้วย ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่า เราสามารถนำ PCA มาผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูและประเทศสมาชิกให้เป็นไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อเราสูงสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อ PCA เริ่มมีผลบังคับใช้ เราสามารถล็อบบี้อียูโดยอ้างข้อบท PCA ที่เกี่ยวข้องได้ ปัจจุบัน เว็บไซต์ของกรมยุโรปที่ europetouch.mfa.go.th เปิดให้ทุกคนดูข้อมูลเกี่ยวกับ PCA จึงขอให้ทุกองค์กรในไทยที่ต้องการจะริเริ่มความร่วมมือกับอียูหรือกับประเทศสมาชิกอียู ตรวจสอบก่อนว่าสามารถใช้เนื้อความใน PCA ไปผลักดันข้อริเริ่มดังกล่าวได้หรือไม่

หวังว่าองค์กรด้านเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มมองเห็นช่องทางที่จะใช้ PCA ในการผลักดันความร่วมมือกับอียูและประเทศสมาชิกอียู และเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการบังคับใช้ PCA ซึ่งน่าจะเริ่มในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ขอให้ทุกคนมอง PCA เป็นโอกาสในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของไทย โดยเราสามารถกำหนดรูปแบบและเนื้อหาของความร่วมมือที่ประสงค์จะมีกับอียูและกับประเทศสมาชิกอียูได้ ขณะที่กรมยุโรปพร้อมที่จะผลักดันการใช้ประโยชน์จาก PCA ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image