คอลัมน์ People In Focus: ฟิเดล อังเคล คาสโตร ดิแอซ-บาลาร์ต ลูกชายใต้เงาฟิเดล คาสโตร

ข่าวการเสียชีวิตของฟิเดล คาสโตร ดิอาซ-บาลาร์ต ลูกชายคนโตของ ฟิเดล คาสโตร ผู้นำปฏิวิติคิวบาผู้ล่วงลับ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

ทว่าการก่อ “อัตวินิบาตกรรม” ของชายที่ชาวคิวบาเรียกว่า “ฟิเดลลิโต” นั้นกลับไม่เป็นที่สนใจของสื่อในคิวบานัก

คาสโตร ดิอาซ-บาลาร์ต เกิดในปี 2492 กับแม่ที่มีชื่อว่าเมอร์ทา ดิอาซ-บาลาร์ต ซึ่งแต่งงานกับฟิเดล คาสโตร ช่วงสั้นๆ

ฉายา “ฟิเดลลิโต” หรือ “คาสโตรน้อย” ยังคงความหมายไม่เปลี่ยนแปลง แม้เวลาผ่านไป โดยเฉพาะช่วงที่คาสโตรผู้พ่อกลายเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นที่จดจำมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ท่ามกลางไอระอุของสงครามเย็น
หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่ “ฟิเดลลิโต” เติบโตขึ้นเป็นนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ที่เป็นที่ยอมรับแล้วก็ตาม

Advertisement

การเปรียบเทียบเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะเมื่อคาสโตรผู้พ่อเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของชาวคิวบา ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ได้รับการยอมรับนับถือราวกับพระเจ้าหรือศาสดา และการอยู่กับการเปรียบเทียบดังกล่าวตลอดชีวิตนั้นเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ยากอย่างยิ่ง

นอกเหนือจากนั้น คาสโตร ดิอาซ-บาลาร์ต ยังเป็นญาติผ่านสายเลือดฝั่งแม่กับ มาริโอ ดิอาซ-บาลาร์ต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐฟลอริด้า รวมถึง ลินคอล์น ดิอาซ-บาลาร์ต อดีตสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐ ชาติที่เป็นศัตรูอันดับ 1 ของคิวบาด้วย

อย่างไรก็ตาม คาสโตร ดิอาซ-บาลาร์ต เคยตกเป็นศูนย์การแย่งสิทธิเลี้ยงดูระหว่างพ่อและแม่ด้วย โดยเมอร์ทา ดิอาซ-บาลาร์ต นำ คาสโตรน้อย ไปยังสหรัฐอเมริกาขณะที่มีอายุได้เพียง 5 ขวบก่อนประกาศจะหย่าขาดกับสามี ที่ในเวลานั้นถูกจำคุกในข้อหาโจมตีค่ายทหารมอนคาดา ในกรุงซานติอาโก ประเทศชิลี อย่างไรก็ตาม คาสโตร ผู้พ่อได้ตัว ฟิเดลลิโต กลับสู่คิวบาหลังการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลที่สนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาได้ในปี 2502

Advertisement

คาสโตร ดิอาซ-บาลาร์ต จบการศึกษาด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ จากอดีตสหภาพโซเวียต โดยก่อนเสียชีวิตดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ให้กับคณะรัฐมนตรีคิวบา และดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสถาบันวิทยาศาสตร์ของคิวบาด้วย

ก่อนหน้านั้น คาสโตร ดิอาซ-บาลาร์ต ได้รับบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าโครงการนิวเคลียร์แห่งชาติของคิวบา ระหว่างปี 2523-2535 มีหน้าที่พัฒนาโรงงานนิวเคลียร์ในเมืองซิเอนฟูเอกอส ก่อนที่จะถูกฟิเดล คาสโตร ไล่ออกจากตำแหน่ง

หลังโรงงานถูกปิดตัวลงผลจากการขาดทุนสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตที่ล่มสลายลง คาสโตร ดิอาซ-บาลาร์ต ก็ไม่ได้ปรากฎตัวต่อสาธารณะมากนัก เรียกได้ว่าถูกกลืนหายไปใต้เงาของฟิเดลผู้พ่ออย่างสิ้นเชิง ก่อนที่จะจบชีวิตตัวเองลงหลังจากต้องทนทุกข์กับ “โรคซึมเศร้า” มาอย่างยาวนานด้วยวัย 68 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image