‘ไอเอ็มเอฟ’ปรับลดคาดการณ์โตศก.โลก เตือนเผชิญความเสี่ยงทั้งด้านการเงินและการเมือง

AFP PHOTO / MOLLY RILEY

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุเมื่อวันที่ 12 เมษายนว่า เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภัยคุกคามเป็นวงกว้าง ตั้งแต่เรื่องอัตราการเติบโตที่อ่อนแอไปจนถึงการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมเตือนถึงความเสียหาย “ร้ายแรง” ที่อาจเกิดขึ้นหากอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกกันว่า “เบร็กซิท”

ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์เติบโตของเศรษฐกิจโลกลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ “ชะลอตัวมากเป็นเวลานานเกินไป” และเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการแบบฉับพลันทันด่วนจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

ไอเอ็มเอฟระบุว่า ความเสี่ยงทางการเงินและทางการเมืองที่รุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลก ความขัดแย้งในซีเรียไปจนถึงภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เศรษฐกิจ “บอบบางมากขึ้น” และเปราะบางต่อการ “เข้าสู่ภาวะถดถอย”

ไอเอ็มเอฟยังได้ยกข้อกังวลในเรื่องเอกภาพที่เริ่มปริออกของอียูภายใต้แรงกดดันเรื่องผู้อพยพ และความเป็นไปได้ที่จะเกิดเบร็กซิทขึ้น นอกจากนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงการหดตัวของเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบราซิลที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง กอปรกับเกิดภาวะวิกฤตทางการเมืองอย่างลึกซึ้งขึ้นจากการที่ประธานาธิบดีจิลมา รุสเซฟฟ์กำลังเผชิญหน้ากับการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

Advertisement

และจากที่ข้อมูลบ่งชี้ว่าตัวเลขด้านการค้าและการลงทุนลดลงเป็นวงกว้าง ทำให้ไอเอ็มเอฟปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 นี้ลงเหลือ 3.2 เปอร์เซ็นต์ จาก 3.4 เปอร์เซ็นต์ในการคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และลดลงจาก 3.8 เปอร์เซ็นต์ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมที่หม่นหมองมากขึ้นของอัตราการเติบโตทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ไอเอ็มเอฟคาดการณ์อัตราการเติบโตของญี่ปุ่นลดลงจาก 1.0 เปอร์เซ็นต์เหลือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ลดลงจาก 2.6 มาอยู่ที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์ มีเพียงจีนและประเทศกำลังพัฒนาในยุโรปตะวันออกที่ภาพรวมทางเศรษฐกิจดีขึ้น โดยปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีนเพิ่มจาก 6.2 เป็น 6.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังถือว่าจีนอยู่บนเส้นทางของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ข่าวระบุว่าการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่สารของไอเอ็มเอฟมีน้ำเสียงที่ขึงขังมากขึ้น โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีหลายประเทศขอความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) มากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดเป็นอังโกลาที่การเงินการคลังของประเทศเสียหายจากการล่มสลายราคาน้ำมันได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากไอเอ็มเอฟเป็นระยะเวลา 3 ปี ขณะที่เวิลด์แบงก์ระบุว่า จำนวนประเทศที่ขอความช่วยเหลือเป็นเงินกู้ในช่วงนี้มากพอๆ กับช่วงวิกฤตการเงินโลก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image