คอลัมน์ไฮไลต์โลก: สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตร!

รอยเตอร์

นับจากเกิดวิกฤตการณ์การเงินในปี 2550 หลายประเทศในภาคพื้นยุโรปต่างเห็นจำนวนคนเร่ร่อนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักใหญ่มาจากการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดของภาครัฐและราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดที่พุ่งสูงขึ้น

มีการประเมินกันว่าชาติในกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)น่าจะมีตัวเลขคนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัยรวมกันอยู่ราวๆ 4.1 ล้านคน ขณะที่พื้นที่สาธารณะตั้งแต่ม้านั่งป้ายรถเมล์ ริมฟุตบาท สวนสาธารณะ สะพานลอย ใต้สะพาน สถานีรถไฟใต้ดิน ฯลฯ กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหรือที่ทำมาหากินของคนเร่ร่อนไร้บ้านเหล่านี้ไป ซึ่งในสายตาของคนบางกลุ่มบางก้อนมองว่ามีผลต่อภาพลักษณ์ของชุมชนและอาจกลายเป็นแหล่งก่อเกิดอาชญากรรมขึ้นตามมาได้ ส่งผลให้ในหลายประเทศคิดหามาตรการต่างๆมาจัดการ เช่นในเดนมาร์ก กรีซ และโรมาเนีย ที่มีมาตรการห้ามคนเร่ร่อนขอทานตามท้องถนน ขณะที่ฮังการีมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2555 ด้วยการบัญญัติให้การไร้ที่อยู่อาศัยเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง

และหากใครมีโอกาสไปเที่ยวไปเยือนประเทศในแถบยุโรปตั้งแต่กรุงลอนดอนของอังกฤษไปจนถึงเมืองฮัมบวร์กในเยอรมนี สังเกตให้ดีตามพื้นที่สาธารณะ จะเห็นสิ่งที่ถูกเรียกขานว่าเป็น “สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตร” ถูกสร้างขึ้นมาเพิ่มมากขึ้น เช่น ม้านั่งสาธารณะที่เป็นรูปทรงโค้งหรือเป็นม้านั่งที่มีที่วางแขนทรงโค้ง ซึ่งทำให้ไม่สามารถนอนได้อย่างสบาย หรือการขึงลวดหนามบริเวณทางเข้าออกและการสร้างรั้วเหล็กกั้น เหล่านี้ล้วนถูกมองว่ามีเป้าหมายโดยตรงต่อคนเร่ร่อนไร้บ้านเพื่อไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะดังกล่าว

สจ๊วต เซมเพิล ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวอังกฤษ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการดีไซน์ที่โหดร้าย เป็นเหมือนกับแบร์ริเออร์หรือรั้วป้องกันที่มุ่งจะกีดกันผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเร่ร่อนไร้บ้าน ออกจากพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนควรมีสิทธิได้ใช้สอย มันเป็นเครื่องมือขัดขวางไม่ให้คนไร้บ้านได้อาศัยนอน และแม้กระทั่งกลุ่มคนพิการเองก็จะไม่ได้รับความสะดวก

Advertisement

จูเลียส คริสเตียน ชไรเนอร์ ช่างภาพชาวเยอรมัน บอกว่าการจัดการพื้นที่สาธารณะยิ่งทำให้สถานการณ์ปัญหานี้ยิ่งแย่ลง ในเมืองใหญ่ต่างๆ เราถูกมองเป็นผู้บริโภคมากขึ้น หากใครเป็นผู้บริโภคที่ดี ก็สามารถใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆได้ แต่ถ้าเป็นผู้บริโภคที่แย่ ก็จะถูกกันไม่ให้เข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว

ข้อมูลของกลุ่มไครซิส องค์กรการกุศลเพื่อคนไร้บ้านของอังกฤษ ยังระบุว่า คนไร้บ้าน 6 ใน 10 คนในอังกฤษและเวลส์ เผชิญกับสถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อพวกเขาเพิ่มมากขึ้นในปี 2559 ซึ่ง แมทท์ ดาวนี ผู้อำนวยการกลุ่มไครซิส บอกว่าการไม่มีบ้านซุกหัวนอนก็เป็นเรื่องที่แย่มากพอแล้ว การออกแบบสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมายิ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สะท้อนให้เห็นว่าเราปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่้ด้อยโอกาสเหล่านี้อย่างไร

ขณะที่เซธา โลว์ อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา ของศูนย์การศึกษาซิตี ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ นิวยอร์ก ชี้ว่า แนวโน้มนี้กำลังก่อความเสี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่แท้จริงของความเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่จะต้องมีความครอบคลุมเปิดกว้าง ให้กลายไปเป็นพื้นที่เฉพาะไป

Advertisement

“ผมคิดว่านี่เป็นการบอกเป็นนัยต่อกลุ่มคนบางคนว่าเราไม่ต้องการคุณในที่สาธารณะ”

แนวโน้มปัญหาจุดกระแสให้กลุ่มพลเรือนและศิลปินรวมตัวกันแสดงการต่อต้าน สถาปัตยกรรมที่ไม่เป็นมิตร เพื่อทำให้พื้นที่เมืองต่างๆ เป็นมิตรต่อผู้คนมากขึ้น

ซึ่งเป็นผลให้เริ่มมีการขยับที่จะแก้ไขปัญหานี้กันบ้างแล้ว อย่างนายซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ที่ออกมารับปากจะรื้อถอนสิ่งที่เป็นการกีดกันคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะออกไป!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image