คอลัมน์ วิเทศวิถี : ไทยในฐานะ”ประธานอาเซียน”

การประชุมระดับรัฐมนตรีแรกในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปีนี้นั่นคือ “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ” หรือเอฟเอ็มรีทรีท ซึ่งจัดขึ้นที่จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16-18 มกราคมที่ผ่านมา เสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อยและเต็มไปด้วยความประทับใจของผู้ที่ได้มาเข้าร่วม ภายใต้แนวคิดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สอดแทรกเข้าไปในการจัดงานได้เป็นอย่างดี

การประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Meeting ที่ว่านี้ไม่เพียงแต่สิ่งของที่นำมาแจกผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือทำมาจากวัสดุรีไซเคิล แม้แต่โพเดียมที่ใช้ในการแถลงข่าวของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงเก้าอี้ก็ทำมาจากกระดาษรีไซเคิล ซึ่งได้มีการส่งมอบต่อให้กับน้องๆ เด็กนักเรียนจากโรงเรียนบ้านเวียงฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าหากเราตัดปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนทาการเมืองออกไป มาตรฐานของประเทศไทยการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ไม่น้อยหน้าใคร มีการผสมผสานทั้งมิติด้านวัฒนธรรม แนวคิด ไปจนถึงสารัตถะอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

Advertisement

ด้วยความที่เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจะจัดเป็นการประชุมแรกสำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในช่วงเดือนมกราคม จึงมีกิจกรรมที่ถือเป็นการออกนอกสถานที่ โดยการจัดงานที่เชียงใหม่ครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการที่รัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียนไปเยี่ยมชมอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ชมสวนนานาชาติที่มีสวนของหลายชาติสมาชิกอาเซียนอยู่ด้วย จากนั้นได้ไปเยี่ยมชมสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ และรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับการปลูกพืชตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงร.9 ของปวงชนชาวไทย โดยในบริเวณเดียวกันยังมีการสาธิตวิธีชีวิตของผู้คนในภาคเหนือ อาทิ การทอผ้าของชาวเขา ก่อนที่จะไปรับประทานอาหารค่ำร่วมกัน ซึ่งได้มีการจัดกาดมั่ว ที่มีอาหาร “สตรีทฟู้ด” ของหลายภาค อาทิ ขนมครก กล้วงปิ้ง ไข่ปาม ข้าวจี่ ไส้อั่ว ไปจนถึงปลีทอดและกระบองทอด ให้ได้ชมและชิมกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

แม้จะบอกว่าเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ แต่ในแง่ของเนื้อหาสาระก็มีประเด็นอยู่มากพอสมควร ตามปกติแล้วการประชุมเอฟเอ็มรีทรีทในช่วงต้นปี จะเป็นการพูดถึงภาพรวมของสิ่งที่อาเซียนจะทำในปีนั้นๆ โดยเฉพาะภายใต้การทำหน้าที่ประธานของประเทศที่รับตำแหน่ง

Advertisement

สำหรับไทย ปีนี้เราได้นำเสนอแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพื่อรับมือกับมิติความท้าทายที่อาเซียนกำลังเผชิญ อาทิ การรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การปรับตัวในยุคดิจิตอล โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือความยั่งยืนในทุกมิติและทุกภาคส่วน อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนทั้งกับประเทศสมาชิก ควบคู่ไปกับการแสวงหาความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค และยังมองไปถึงอนาคตว่าอาเซียนที่จะก้าวไกลให้ทันโลกจะเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้อาเซียนสามารถแก้ไขปัญหาให้ทันในทุกๆ ด้าน

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้จัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการด้านต่างๆ ของอาเซียนที่มีความต่อเนื่องจากอดีตไปสู่อนาคต รวมถึงสนับสนุนแผนการดำเนินงานที่จะให้มีการเชื่อมโยงวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 เข้ากับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ(เอสดีจีส์) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนครอบคลุมในทุกมิติ โดยนอกจากไทยจะทำหน้าที่ประธานอาเซียนในปีนี้แล้ว ไทยยังเป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียน-ยูเอ็นอยู่ก่อนหน้านี้มาแล้วหลายปี การเชื่อมโยงวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอาเซียนกับเอสดีจีส์ของยูเอ็น จึงเป็นสิ่งที่ไทยสามารถทำได้ดีภายใต้ความองค์ความรู้ที่มีอยู่ ทั้งยังเป็นบทบาทหน้าที่ที่ไทยถือธงนำในอาเซียนมาแล้วระยะหนึ่ง

สำหรับการสร้างความเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์อาเซียน 2025 กับเอสดีจีส์ เน้นการให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนความร่วมมือใน 5 ด้านคือ การขจัดความยากจน โครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน การบริการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และการสร้างเข้มแข็งและทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอาเซียน โดยจะมีการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในไทยด้วย

แน่นอนว่าประเด็นในภูมิภาคที่มีการหารือกันมากหนีไม่พ้นเรื่องสถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมาที่ยังคงถูกจับจ้องอย่างหนักจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้รับฟังข้อมูลการลงพื้นที่รัฐยะไข่ของนายลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม(ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance หรืออาฮ่า เซ็นเตอร์) ที่เดินทางลงพื้นที่ในรัฐยะไข่เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุดอาเซียนเห็นชอบที่จะส่งทีมจากอาฮ่า เซ็นเตอร์เข้าไปยังเมียนมาเพื่อประเมินความจำเป็นในพื้นที่รัฐยะไข่อีกครั้งโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่แน่นอนว่าต้องขึ้นกับสถานการณ์ในพื้นที่เป็นหลัก

ในระหว่างนี้สิ่งที่ถือเป็นประเด็นที่อาเซียนเห็นว่าควรเร่งดำเนินการคือการทำให้เกิดภาพที่ชัดขึ้นถึงสิ่งที่อาเซียนได้ช่วยกันทำเพื่อช่วยเมียนมา รวมถึงการดำเนินการในลักษณะ 3 ฝ่ายกับประเทศอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาด้านต่างๆ ในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางกลับเมียนมาของชาวโรฮีนจา เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาแม้อาเซียนจะได้ทำอะไรไปมาก แต่ภาพตรงนี้กลับปรากฎต่อสาธารณชนน้อย จึงเห็นควรให้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงเหล่านี้ขึ้นมาเพื่่อทำให้เห็นภาพรวมที่ชัดขึ้น

ส่วนประเด็นข้อเสนอเรื่องอินโด-แปซิฟิก รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนนำข้อเสนอของอินโดนีเซียไปศึกษา ก่อนที่จะกลับมารายงานให้ที่ประชุมรับทราบอีกครั้ง แต่ในหลักการเห็นว่าอาจจะมีการขยายสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(แทค)ให้ครอบคลุมกว้างขวางขึ้นได้

เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่มีการหารือในที่ประชุม คือการที่เข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์เลสเต ซึ่งได้มีการพูดถึงมาหลายปีแล้ว ล่าสุดที่ประชุมเห็นชอบให้มีการตั้งคณะสำรวจข้อเท็จจริงในกรอบของเสาการเมืองและความมั่นคง นำโดยไทยในฐานะประธานอาเซียน เดินทางเข้าไปสำรวจความพร้อมของติมอร์เลสเตภายในปีนี้

นับจนถึงขณะนี้ ประเด็นสถานการณ์ในรัฐยะไข่ของเมียนมาและทะเลจีนใต้ ยังเป็นประเด็นในอาเซียนที่ได้รับความสนใจเป็นหลักจากประชาคมโลก เชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในไทยก็เป็นอีกประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาคมโลกเช่นกัน แต่เป็นในลักษณะที่เฝ้าดูว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างเรียบร้อยและสามารถตั้งรัฐบาลหลังจากนั้นได้หรือไม่ เพราะหากเลือกตั้งแล้วความวุ่นวายทางการเมืองในไทยไม่จบ ก็ย่อมต้องส่งผลกระทบกับการทำหน้าที่ประธานอาเซียนของไทยตลอดทั้งปีอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เชื่อเหลือเกินว่าไม่มีใครอยากให้ภาพอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนตามมาหลอกมาหลอนเราอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image