วิบากกรรมเวเนซุเอลา

วิบากกรรมเวเนซุเอลา

สถานการณ์ในประเทศเวเนซุเอลานับวันยิ่งทรุดหนัก จนนึกภาพไม่ออกว่าชาวบ้านที่นั่นอยู่กันได้อย่างไรในภาวะข้าวยากหมากแพงเลวร้ายเช่นนั้น และยังมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นรัฐที่ล่มสลายได้ หากยังหาทางออกจากปมปัญหาวิกฤตที่สุมรุมอยู่ตอนนี้ยังไม่เจอ

ว่ากันว่าจะออกไปซื้อหาข้าวของเครื่องใช้จำเป็นอย่างไข่สักโหล กระดาษทิชชูสักม้วน หรือสบู่ ยาแก้ปวด นม น้ำ แป้งและน้ำตาล แค่อย่างละนิดหน่อย ต้องใช้เงินจ่ายกันถึง 150 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณครึ่งหมื่นบ้านเราเลยทีเดียว

หรือหากอยากกินมันฝรั่งทอดร้านแมคโดนัลด์ในเวเนซุเอลาก็ได้ แต่จะต้องจ่ายเงินกว่า 130 ดอลลาร์สำหรับมันฝรั่งทอด 1 ชุด

ที่แย่หนักไปกว่านั้นคือต่อให้มีเงิน ก็ยังอาจหาซื้อข้าวของที่ต้องการเหล่านั้นไม่ได้ เพราะไม่หายาก ก็ไม่มีไปเลย

Advertisement

จากข้อมูลข่าวสารที่รับรู้กันผ่านการรายงานของสื่อต่างประเทศบอกว่าเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกติดต่อกันมานานถึง 3 ปีแล้ว

ในช่วงปีงบประมาณ 2558 ตัวเลขเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาอยู่ที่ราว 150 เปอร์เซ็นต์

มาในปี 2559 เงินเฟ้อของเวเนซุเอลาพุ่งขึ้นไปถึงเกือบ 500 เปอร์เซ็นต์แล้ว

Advertisement

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาจะพุ่งพรวดดังจรวดถูกจุดชนวนขึ้นฟ้าไปแตะถึงที่ประมาณ 1,600 เปอร์เซ็นต์ภายในปีหน้าได้

เห็นการประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศเวเนซุเอลาแล้วก็ให้หวั่นกลัวแทนว่าจะอยู่กินกันอย่างไร เพราะข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นก็ขาดแคลนหนัก

รัฐบาลยังบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ ที่ยิ่งทำให้ประชาชนอยู่กันลำบากยากเข็ญมากขึ้นไปอีก

เช่น การประหยัดพลังงานถึงขั้นตัดไฟไม่ให้ได้ใช้กันในบางช่วงเวลา ภาวการณ์ดังกล่าวยังก่อผลปัญหาหนักหน่วงอื่นๆ ตามมา ที่การช่วงชิงแย่งหาข้าวปลาอาหาร นำไปสู่การจี้ปล้น การออกมาเคลื่อนไหวประท้วงขับไล่รัฐบาลประธานาธิบดี นิโกลัส มาดูโร ที่บริหารประเทศได้ย่ำแย่

และยังบานปลายกลายเป็นเหตุความรุนแรงที่วกกลับมาบั่นทอนเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศอีก

คอลัมนิสต์ในเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศสำนักหนึ่งชี้ถึงปัจจัยที่ทำให้เวเนซุเอลาเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายหนักว่ามาจากหลายปัจจัยรวมกันทั้งจากการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเวเนซุเอลา มาตรการของรัฐบาลประธานาธิบดีมาดูโรที่ล้วนเป็นการซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ค่าเงินโบลีวาร์ของเวเนซุเอลาด้อยค่าลงจนแทบจะไม่เหลือค่าในตัวเองเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศของคู่ค้า ท่ามกลางภาวะที่รัฐบาลกำลังถังแตกและยังกำลังมีการพูดถึงแนวโน้มการจะผิดชำระหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลของเวเนซุเอลาที่มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 185,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย นั่นทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะพิมพ์เงินโบลีวาร์เพิ่มขึ้นเพื่อจะนำไปจ่ายหนี้มูลค่ามหาศาลที่มีอยู่

จากรายงานข่าวระบุว่าตอนนี้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของเวเนซุเอลาที่ประกอบด้วยพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาบวกกับทองคำ มีมูลค่ารวมกันเหลืออยู่เพียงประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเมื่อปี 2551 ที่มีอยู่ราว 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทุนสำรองฯ ดังกล่าวที่ลดลงเป็นผลมาจากเงินรายได้เข้ารัฐที่มาจากการส่งออกน้ำมันเป็นหลักหดหายลงไป เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดฮวบลงไปในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาเงินขาดมือที่จะไปชำระหนี้ที่มีผูกพันอยู่ จนกลายเป็นแรงบีบให้ต้องตัดใจขายทุนสำรองฯ ที่มีอยู่ซึ่งรวมถึงทองคำออกไป

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดต่ำลงยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาให้ทรุดหนักดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยการส่งออกน้ำมันถือเป็นรายได้หลักใหญ่ในสัดส่วนมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกทั้งหมดของเวเนซุเอลา ที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ในส่วนวิกฤตขาดแคลนอาหารถูกระบุว่าเป็นผลมาจากจากค่าเงินโบลีวาร์ที่ด้อยค่าลงและรายได้ของภาครัฐที่ลดลง ทำให้เวเนซุเอลาไร้ขีดความสามารถในการที่จะนำเข้าสินค้าที่จำเป็นจากต่างประเทศ

ภาวะยากแค้นยังนำไปสู่การปล้นสะดมและการประท้วงรัฐบาลรุนแรงหนักขึ้นและถี่ขึ้น ซึ่งองค์กรสังเกตการณ์ภาวะความขัดแย้งทางสังคมเวเนซุเอลา ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งทำการรวบรวมข้อมูลมาชี้ว่าเฉพาะแค่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว มีเหตุชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลนายมาดูโรขึ้นแล้วอย่างน้อย 641 ครั้ง ในจำนวนนี้มากกว่า 1 ใน 4 ของเหตุการณ์ชุมนุม เป็นการประท้วงภาวะขาดแคลนอาหาร

ขณะที่ที่มีรายงานเหตุปล้นสะดมในเวเนซุเอลานับตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมามีมากกว่า 250 กรณีแล้ว

เมื่อภาวะบ้านเมืองเข้าใกล้กลียุคเช่นนี้แล้วรัฐบาลของนายมาดูโรจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร

ล่าสุดมีรายงานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของเวเนซุเอลายอมรับการยื่นรายชื่อประชาชน 1.3 ล้านรายชื่อที่เรียกร้องให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีมาดูโร ที่เป็นทายาทสืบทอดอำนาจนิยมฝ่ายซ้ายต่อจาก นายฮูโก ชาเวซ อดีตประธานาธิบดีผู้มีบทบาทต่อกรกับชาติมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาอย่างโดดเด่นแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้ปฏิเสธที่จะรับรายชื่อร้องเรียนให้ถอดถอนประธานาธิบดีมาดูโรที่มีมากถึง 1.8 ล้านรายชื่อไปก่อนหน้านี้

เป็นการปูทางสู่การเปิดกระบวนการถอดถอนนายมาดูโรพ้นตำแหน่ง

ส่วนท้ายที่สุดพลังต่อต้านนายมาดูโรจะเป็นฝ่ายชนะหรือไม่ คงต้องรอดูกันอีกยาว

แต่ที่แน่ๆ ชาวเวเนซุเอลาก็ยังคงจะต้องจมอยู่กับวิบากกรรมภาวะเศรษฐกิจทรุดหนักอย่างนี้ไปอีกยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image