คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: สามก๊กที่ตุรกี

AFP PHOTO / ADEM ALTAN

บางสิ่งที่เราเห็น อาจไม่ได้ปรากฏเป็นจริงอย่างที่เราคิด และในหลายๆ กรณี สิ่งที่เราคิดว่าควรจะเป็น กลับไม่ได้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาตามนั้น

ความข้างต้นนั้นอาจอ่านแล้วเข้าใจได้มากขึ้นมาก หากพูดเสียใหม่ว่า การเมืองชนิดที่หักกันในระดับ “ลับ-ลวง-พราง” นั้น ไม่ได้ถูกจำกัดให้มีได้เฉพาะในประเทศหนึ่งประเทศใด ในตุรกีก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน และดำเนินมาเนิ่นนานเต็มทีแล้ว

หาก “การเมือง” ที่ว่านั้นมีชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้งก็ดีไป แต่เมื่อใดที่กลายเป็น “การเมืองเรื่องผลประโยชน์” ขึ้นมา วิบัติฉิบหายย่อมไล่ตามติดมาได้โดยพลัน

ความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกีที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 22.30 น.ของวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา สามารถเรียกได้ว่าคือการ “แตกระเบิด” ออกมาของเกมการเมืองที่นั่น ซึ่งปราดแรกอาจมองดูซับซ้อน สับสน แต่สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากหากมองผ่าน “ผู้เล่น” หลัก 3 ฝ่าย ที่ทรงอิทธิพลและก่อให้เกิดการแตกแยกทางความคิดขึ้นในประเทศในยามนี้

Advertisement

หนึ่งนั้นแน่นอน คือกลุ่มก้อนของผู้ที่ครองอำนาจอยู่ในเวลานี้ กลุ่มที่สองนั้นโลกภายนอกเรียกกันว่า “กุยเลนนิสต์” แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “ฮิซเมท มูฟเมนท์” ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม-ศาสนาที่อิงอยู่กับแนวความคิดอิสลามตามแบบฉบับของเฟตุลเลาะห์ กุยเลน อดีตอิหม่ามที่จำเป็นต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน

สุดท้ายคือ กองทัพ ซึ่งมีทั้งอิทธิพลและอำนาจเหนือสังคมตุรกีมาช้านาน ผ่านทางแนวความคิดตาม “ลัทธิเคมาล” หรือแนวความคิดหลักของมุสตาฟา เคมาล อาตาเติร์ก หนึ่งในแกนนำของทหารกลุ่ม “ยังเติร์ก” ที่ยึดอำนาจแล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสู่ระบอบสาธารณรัฐ

“เคมาลลิสม์” ที่ตุรกียึดถือเป็น “อุดมการณ์ของรัฐ” มาจนถึงขณะนี้ อิงอยู่กับแนวทางประชาธิปไตย ระบอบการปกครองสมัยใหม่ในแบบตะวันตก ความเสมอภาคชาย-หญิง การให้การศึกษาฟรี และการแยกศาสนาออกจากรัฐ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตุรกีในแง่ของความเป็นรัฐแล้วมีความเป็นมุสลิมน้อยกว่าชาติมุสลิมทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ประชากร 99 เปอร์เซ็นต์ของตุรกีเป็นมุสลิม (เป็นนิกายสุหนี่ราว 70-85 เปอร์เซ็นต์)

Advertisement

ตัวอย่างเช่น กฎหมายตุรกี ห้าม “สตรี” ทุกคนคลุมผ้าคลุมศีรษะแบบมุสลิมในสถานที่ราชการ โรงเรียน มหาวิทยาลัยทุกแห่ง เป็นต้น

กองทัพตุรกี ยึดถือตนเองเป็นเหมือนผู้พิทักษ์อุดมการณ์ตามลัทธิเคมาลดังกล่าวนั้นมาโดยตลอด หากไม่ใช่ด้วยความเคารพในความเป็นสถาบันที่ก้าวหน้าที่สุดของประเทศ ก็ด้วยความกลัวในฐานะที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียว

แต่โดยข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นมุสลิมและยึดโยงอยู่กับแนวทางอนุรักษนิยมตามวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ส่งผลให้กองทัพตุรกีมักแปลกแยกออกไปจากส่วนที่เหลือในประเทศ เหมือนอยู่ใน “โลกของตัวเอง” ตลอดเวลา มีที่พักหลักแหล่งของตัวเอง โรงเรียนของตัวเอง มีกรอบคิดของตัวเอง และ “ไม่ชอบ” ให้รัฐบาล (จากการเลือกตั้ง) ทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับศาสนาที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของกองทัพ

นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมนับตั้งแต่ตุรกีมีเลือกตั้ง (จริงๆ) เป็นครั้งแรกในปี 1950 ถึงเกิดการรัฐประหารขึ้นบ่อยครั้ง แทบจะเรียกได้ว่าในทุกๆ 10 ปี

นักวิชาการบางคน อาทิ “เจนนี ไวท์” แห่งสถาบันตุรกีศึกษา มหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม เรียกการยึดอำนาจดังกล่าวว่าเป็นการ “รีคาลิเบรต” ประชาธิปไตยของกองทัพตุรกี ที่พอจะกล้อมแกล้มเทียบเคียงได้กับการ “รีเซต” การเมืองที่เคยคุ้นหูกันมาพักหนึ่งก่อนหน้านี้

การรีเซตที่ว่านั้นบางครั้งนุ่มนวล แต่บ่อยครั้งแข็งกร้าวและเฉียบขาด ตัวอย่างเช่นในการยึดอำนาจครั้งแรกในปี 1960 นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นถูกประหารด้วยการแขวนคอ หรืออย่างการรัฐประหารในปี 1980 ที่นอกจากจะมีการประหารเฉพาะหน้าแล้วยังมีการกวาดล้างขนานใหญ่ จับกุมผู้คนมากถึง 160,000 คน หลายพันคนในนั้นลงเอยอยู่ในคุก มีไม่น้อยที่จบชีวิตในห้องขัง

การเมืองตุรกีอยู่ในสภาพเช่นนี้จนกระทั่ง “เรชิป เทย์ยิป แอร์ดวน” ก่อตั้งพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) ขึ้นมา

“เรชิป เทย์ยิป แอร์ดวน” พื้นเพเป็นชนชั้นกลาง บิดาเป็นกัปตันเรือเฟอร์รี่โดยสารที่เป็นกิจการผูกขาดในอิสตันบูล เข้าสู่วงการเมืองในทศวรรษ 1970 ในยุคที่ตุรกีตกอยู่ในสภาพใกล้เคียงกับการเป็นรัฐอนาธิปไตยอยู่รอมร่อ เมื่อกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง, กลุ่มคอมมิวนิสต์ กับกลุ่มนิยมลัทธิอิงศาสนาอิสลาม ใช้ถนนเป็นสนามรบฆ่าฟันกันเองไปไม่น้อยกว่า 5,000 ศพ

แอร์ดวน เลือกที่จะเป็น “อิสลามิสต์” เข้าสู่พรรคการเมืองนิยมแนวทางอิสลามอย่างพรรคเนชั่นแนล ซัลเวชั่น ที่กลายเป็นพรรคนอกกฎหมายหลังการ “รีเซต” ในปี 1980

เพื่อความอยู่รอดทางการเมือง อิสลามิสต์ทั้งหลายรวมทั้งแอร์ดวน จำเป็นต้องปรับแต่งแนวทางจารีตนิยมเข้มข้นของตัวเองให้ลดทอนลง ปี 1994 เขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีนครอิสตันบูล เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศและเป็นหัวใจเศรษฐกิจของทั้งชาติ

แต่ในปี 1997 กองทัพ “รีเซตประชาธิปไตย” อีกครั้งหลังจากเห็นว่า รัฐบาลผสมในเวลานั้นเอนเอียงไปในแนวทางอิสลามเกินไป แอร์ดวนเป็นหนึ่งในเหยื่อการกวาดล้างทางการเมืองที่เกิดขึ้นตามมา ถูกจำขังนาน 4 เดือน ด้วยสาเหตุการเป็นคนอ่านบทกวี เปรียบเทียบอานุภาพของยอดแหลมบนหลังคาสุเหร่ากับดาบปลายปืน

แอร์ดวน ตั้งพรรคเอเคพีขึ้นมาไม่นานหลังจากนั้น ข้อน่าสังเกตก็คือ นโยบายพื้นฐานของเอเคพีไม่มีกลิ่นอายของอิสลามิสต์อยู่เลย แต่เน้นไปที่การนิยมยุโรปและนิยมธุรกิจการค้าเสรี

เอเคพี ได้อำนาจทางการเมืองในปี 2002 แอร์ดวนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ย้อนแย้งกันอยู่ตลอดเวลาในตุรกีก็คือ จริงอยู่แม้เคมาลลิสม์จะได้รับความเคารพและถือเป็นอุดมการณ์ของรัฐ และมีคนส่วนหนึ่งยึดแนวทางดังกล่าวเป็นวัตรปฏิบัติ แต่ทุกครั้งที่กองทัพเปิดให้มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่หวังจะได้รับการเลือกตั้ง จำเป็นต้อง “เข้าหา” ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังติดอยู่กับกรอบอนุรักษนิยมและกรอบคิดแบบอิสลาม

รัฐบาลที่ได้มา ในที่สุดก็แสดงความเป็นอิสลามิสต์ หรือไม่ก็ลักษณะอำนาจนิยมออกมา หรือไม่ก็ทั้งสองด้านหลังครองอำนาจมาระยะหนึ่ง เนื่องเพราะต้องสนองตอบต่อฐานเสียงของตน

แล้วก่อให้เกิดการ “รีเซต” ขึ้นตามมาเป็นวัฏจักร

แม้แต่เอเคพี และแอร์ดวนเองก็ไม่เป็นข้อยกเว้น เพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง เขาจำเป็นต้องพึ่งพาการเป็นพันธมิตรกับขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามอย่าง “ฮิซเมท”

เพื่อให้บรรลุถึงการก้าวไปเป็นประเทศอิสลาม ที่รวมศูนย์ทั้งอำนาจและศรัทธาอยู่ที่ตนเองเพียงผู้เดียว อย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นขั้นเป็นตอน แอร์ดวนก็จำเป็นต้องพึ่งพา “ฮิซเมท” ในการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” กองทัพให้ถูกจำกัดอยู่แต่ในค่ายทหาร ไม่ออกมาเพ่นพ่านในทางการเมืองอีกต่อไป

เป็น “ฮิซเมท” ที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวตามแนวทางอิสลามภายใต้การนำของ “เฟตุลเลาะห์ กุยเลน”

“เฟตุลเลาะห์ กุยเลน” เป็นครูสอนศาสนาในนิกายสุหนี่ิ่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและมีกลุ่มสาวกเป็นผู้สนับสนุนอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 แนวความคิดทางศาสนาของกุยเลนน่าสนใจยิ่ง เขาสอนอิสลามที่ส่งเสริมประชาธิปไตย สนับสนุนการสานเสวนาระหว่างศรัทธาและความเชื่อต่างๆ ส่งเสริมสนับสนุนให้ศึกษาทางโลก โดยเฉพาะในทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการแห่งอิสลาม

เขาสร้างชื่อจากการระดมทุนมาสร้างหอพักฟรีสำหรับนักศึกษายากจนเพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษา ที่ต่อมาขยายตัวเป็นเครือข่ายสถาบันการศึกษาครอบคลุมทั่วประเทศ และมีเครือข่ายในที่อื่นๆ รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาด้วย

กุยเลนต้องเนรเทศตัวเองมาใช้ชีวิตอยู่ในเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 1999 หลังจากมีการเผยแพร่เทปบันทึกเสียงเขาสั่งการให้ผู้สนับสนุนแทรกซึมเข้าไปในสถาบันและหน่วยงานของรัฐ แต่ยังเป็นแกนนำสำคัญในการสนับสนุนทางการเมืองต่อแอร์ดวนจนได้อำนาจทางการเมืองในที่สุด

ปี 2009 นิตยสารนิวสวีค ระบุว่า ผู้สนับสนุนลัทธิกุยเลนนิสต์ เข้าไปทำหน้าที่บริหารกลุ่มล็อบบี้ยิสต์, ศูนย์วัฒนธรรมตุรกี สถาบันวิชาการ เป็นเจ้าของโรงพยาบาล, ธนาคาร, มหาวิทยาลัย, หนังสือพิมพ์และเครือข่ายโทรทัศน์ในตุรกีและที่อื่นๆ

ในปี 2009 นี้เช่นกัน เจมส์ เจฟฟรีย์ ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำตุรกี บันทึกถึงฮิซเมทไว้ว่า “ข้อที่ว่า กุยเลนนิสต์ควบคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติตุรกี (ทีเอ็นพี) อยู่นั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะยืนยัน แต่ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้กับเรา” และ “เรายังได้ยินเรื่องที่ว่า ผู้ที่สมัครเข้าสู่ทีเอ็นพีซึ่งอยู่ในสถานศึกษาอุปถัมภ์ของกุยเลนนิสต์นั้น ได้รับคำตอบข้อสอบเข้าล่วงหน้าอีกด้วย”

ขบวนการฮิซเมทของกุยเลน ร่วมมือกับแอร์ดวนในการบ่อนเซาะอำนาจทางทหาร โดยอาศัยฮิซเมทในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล สร้างคดี “วางแผนก่อรัฐประหาร” ขึ้น ไล่ปลดและจับกุมนายพลจำนวนมากขึ้นดำเนินคดีในคดีที่รู้จักกันในชื่อ “สเลดจ์แฮมเมอร์แอฟแฟร์”

ที่น่าสนใจก็คือศาลสูงตัดสินให้ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวทั้งหมด ไม่มีความผิดในเวลาต่อมา เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากจินตนาการ หลักฐานสำคัญๆ ล้วนถูกปั้นแต่งขึ้น

แต่ผลลัพธ์ก็คือ กองทัพไม่เพียงอ่อนแอลง ยังถูกแบ่งแยกแล้วปกครองด้วยการยึดเอาอำนาจการจัดสรรงบประมาณที่เดิมกองทัพมีได้ไม่จำกัด มาอยู่ในมือรัฐบาล และยืมมือของสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกากดดันจากภายนอกให้กองทัพลดบทบาททางการเมืองลง

หลังกำราบกองทัพให้อยู่ใต้บารมีได้ในระดับหนึ่ง แอร์ดวนหันไปจัดการกับขบวนการฮิซเมทเป็นลำดับถัดไป พยายามทำลายฐานทางการเงินของขบวนการด้วยการปิดสถานศึกษาของฮิซเมททั่วประเทศ ภายใต้ความเห็นชอบของกองทัพ

ที่ชวนคิดก็คือ ข้ออ้างที่แอร์ดวนบอกกับนายพลทั้งหลายก็คือ “สเลดจ์แฮมเมอร์” เป็นฝีมือของฮิซเมทล้วนๆ ปั้่นหลักฐานเท็จขึ้นมา

แรงกดดันที่รัฐบาลแอร์ดวนกระทำต่อฮิซเมท นั้นปะทุกลายเป็นความขัดแย้งชนิด “มีไปไม่มีกลับ” ในปี 2013 เมื่อมีการเปิดโปงคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ในหมู่ “คนวงใน” ของรัฐบาลขึ้นมา ตำรวจและบุคคลในกระบวนการยุติธรรมตุรกี รับลูกจัดการดำเนินคดีเกี่ยวเนื่องหลายๆ คดี ส่งผลให้รัฐมนตรีหลายคนต้องลาออกจากตำแหน่ง

สุดท้ายคดีคอร์รัปชั่นดังกล่าวพันมาจนถึง “ลูกชาย” ของ เรชิป เทย์ยิป แอร์ดวน ที่ตอบโต้อย่างถึงพริกถึงขิงด้วยการจัดการปลดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในคดีระนาว ตั้่งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปจนถึงอัยการและผู้พิพากษา ลงเอยด้วยการยกฟ้องของศาลในที่สุดเพราะ “สำนวนคดีอ่อน”

รัฐบาลรังควานฮิซเมทอย่างหนัก นอกเหนือจากการปลดผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีแล้วยังลุกลามไปถึงการปิดเครือข่ายโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่เชื่อว่าเชื่อมโยงไปถึงขบวนการของกุยเลน ภายใต้ข้อกล่าวหาที่ว่า “ฮิซเมท” ปั้นหลักฐานเท็จ สร้างคดีขึ้นมาเพื่อโค่นล้มรัฐบาล

แอร์ดวนเรียกกระบวนการเพื่อโค่นล้มตัวเองในครั้งนั้นด้วยคำที่คนไทยได้ยินแล้วอดยิ้มมุมปากเบาๆ ไม่ได้ว่าเป็น “การรัฐประหารโดยกระบวนการยุติธรรม”

หนึ่งในวีรกรรมของแอร์ดวนในครั้งนั้น ก็คือ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ “ซามาน” แล้วยึดเป็นกิจการของรัฐในเวลาต่อมา

ถือเป็นครั้งแรกที่มีการยึดกิจการหนังสือพิมพ์เอกชนเป็นของรัฐในตุรกี แล้วก็ไม่น่าจะมีมากนักในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

คำถามสำคัญที่ผู้สื่อข่าวของซามานถามมาตลอดก็คือ ข้ออ้างของแอร์ดวนที่ว่า ผู้คนในคดีดังกล่าวนั้นเป็นคนในขบวนการฮิซเมท ไม่มีใครเถียงว่าไม่ใช่ความจริง แต่ประเด็นสำคัญมากกว่าไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าคนเหล่านั้นเป็นคนของใคร หัวใจของเรื่องนี้ก็คือ การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นจริงหรือไม่

เอ็ดเวิร์ด เอ็น. ลัทท์แวค ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตุรกีของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ในวอชิงตันไม่เพียงชี้ว่า จากพื้นฐานชนชั้นกลางก่อนหน้านี้ ตอนนี้แอร์ดวนร่ำรวยมั่งคั่งในระดับ “หลายพันล้านดอลลาร์” ชนิด “อธิบายไม่ได้” แต่ยังบอกด้วยว่า หลักฐานที่สำคัญในคดีดังกล่าวยังรวมถึงการจับกุม “หนึ่งในคนวงใน” ของแอร์ดวนได้ขณะกำลังลักลอบขนทองคำ “ปริมาณมหาศาล” ออกนอกประเทศ

ลัทท์แวคเชื่อว่าความพยายามก่อรัฐประหารหนใหม่นี้ไม่สำเร็จ เพราะกองทัพส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า ผู้ก่อการคือส่วนหนึ่งของฮิซเมท ที่ไม่ควรจะประสบความสำเร็จ

เพราะหากสำเร็จ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ “สงครามกลางเมือง” ดีๆ นี่เอง

ภายใต้แนวความคิดของลัทท์แวคที่ว่านี้ ศึก 3 ก๊กในตุรกียังไม่จบ หรืออาจแค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image