โดนอีก! กองทัพงัดคลิปโชว์ นักธุรกิจพม่า อ้างให้สินบน ซูจี 15 ล้านบาท

กลุ่มผู้ประท้วงช่วยกันหามร่างชายผู้ประท้วงรายหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยิงได้รับบาดเจ็บ ในระหว่างเคลื่อนไหวต้อต้านรัฐบาลทหารในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม (เอเอฟพี)

โดนอีก! กองทัพงัดคลิปโชว์ นักธุรกิจ อ้างให้สินบน ซูจี 15 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม สำนักข่าวรอยเตอร์ และเอเอฟพี รายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงเมียนมายังคงมุ่งเดินหน้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ในนครย่างกุ้ง และเมืองต่างๆ ที่มีการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารต่อไป

โดยที่เมืองนะเมาะ บ้านเกิดของซูจี มีประชาชนหลายพันคนออกมาเดินขบวนประท้วง แต่ยังไม่มีรายงานเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น ด้านนางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนและหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่ถูกกองทัพยึดอำนาจไป กำลังเผชิญการถูกยัดเยียดข้อหาคอร์รัปชั่นให้เพิ่มอีก หลังจากสถานีโทรทัศน์เมียวดีของทางกองทัพ นำคลิปวิดีโอหนึ่งมาออกอากาศ เมื่อช่วงเย็นวันก่อนหน้า เป็นภาพของ นายหม่อง เวะ นักธุรกิจชาวเมียนมา ให้การรับสารภาพว่า เขาได้ให้เงินนางซูจีจำนวน 4 ครั้ง ครั้งละระหว่าง 50,000-250,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 ดอลลาร์ (ราว 15 ล้านบาท) จากปี 2018-2020

กลุ่มผู้ประท้วงพากันวิ่งหนีขณะถูกกองกำลังฝ่ายความมั่นคงเมียนมาปราบหนัก ในเขตไลง์ ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม (รอยเตอร์)

“จากคำให้การของนายหม่อง เวะ…นางออง ซาน ซูจี กระทำผิดจากการรับสินบน และคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตกำลังสอบสวนเพื่อดำเนินการภายใต้กฎหมายต่อต้านการทุจริตต่อไป” สถานีโทรทัศน์เมียวดีรายงาน

เมื่อสัปดาห์ก่อน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่าเจ้าหน้าที่กำลังทำการสอบสวนนางซูจีกรณีรับเงินสินบน โดยอ้างมุขมนตรีนครย่างกุ้งที่ให้การว่าเป็นผู้ให้เงินสินบนนางซูจีจำนวน 600,000 ดอลลาร์ (ราว 18 ล้านบาท) และ ทองคำหนัก 10 กิโลกรัม ซึ่งนายขิ่น หม่อง ซอ ทนายความของซูจี โต้แย้งว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยและไร้เหตุผล “ออง ซาน ซูจี อาจจะแปรพักตร์…แต่การรับสินบนและทุจริต ไม่ใช่วิสัยของเธอ” ทนายซูจีกล่าว และว่า คนส่วนใหญ่ในเมียนมาไม่เชื่อในข้อกล่าวหาเหล่านี้

Advertisement
เอพี

ทั้งนี้ ซูจี ได้ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีในหลายข้อหา ทั้งการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสารผิดกฎหมายและการฝ่าฝืนกฎว่าด้วยการควบคุมโรคโควิด-19

อิระวดี และ เมียนมานาว สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มีนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร อายุ 24 ปีรายหนึ่งเสียชีวิตลงในวันที่ 17 มีนาคม หลังจาก 3 วันก่อนเขาถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมและทุบตีทำร้ายในเมืองโมนยะวา

ผู้ประท้วงชาวเมียนมาปาสิ่งของไปยังกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่ผู้ประท้วงคนอื่นๆหลบอยู่หลังที่กำบัง ในการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ที่นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม (เอเอฟพี)

การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในเมียนมา ยังคงถูกควบคุมอย่างเข้มงวด โดยสัญญาณไวไฟในพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ถูกปิดกั้น ประชาชนในหลายพื้นที่ รวมถึงในเมืองทวาย ระบุว่าไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต

Advertisement

ขณะที่สำนักข่าวท่าขี้เหล็กนิวส์ ยังตีพิมพ์ภาพถ่ายคนงานกำลังตัดสายเคเบิลใยแก้วที่เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ซึ่งรอยเตอร์ระบุว่ายังไม่สามารถตรวจสอบรายงานข่าวนี้ได้ ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลในเมียนมา กลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่จะทำการตรวจสอบ

ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุว่า มีผู้สื่อข่าวที่ถูกทางการเมียนมาจับกุมไปแล้วราว 37 คน ในจำนวนนี้ 19 คนยังคงถูกคุมขังอยู่ นอกจากนี้ทางการเมียนมายังสั่งปิดหนังสือพิมพ์บางฉบับ ส่วนสื่ออื่นๆ ยังถูกบีบให้ต้องปิดด้วยเหตุผลบางประการ โดยหนังสือพิมพ์ของภาคเอกชนในเมียนมาแห่งสุดท้ายได้หยุดการตีพิมพ์ไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทางการพม่า สั่งตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต ไฟเบอร์ จากเมืองไทย ในท่าขี้เหล็ก

องค์กรสงฆ์พม่า เรียกร้อง รัฐบาลทหาร ยุติใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุม-เข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image