ค็อป26ส่อล้มเหลวเร่งหาวิธีชดเชย

นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น (เอเอฟพี)

ค็อป26ส่อล้มเหลวเร่งหาวิธีชดเชย

สำนักข่าวเอพีและรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นาย อาลก ชาร์มา ประธานจัดการประชุมสุดยอดแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ ค็อป26 ของอังกฤษ ยอมรับว่า ขณะที่การประชุมครั้งนี้ย่างเข้าสู่วันสุดท้าย ตัวแทนของเกือบ 200 ประเทศที่เข้าร่วมในการประชุมยังคงมีความเห็นแตกต่างกันอยู่อย่างมากในหลายประเด็น ทำให้ต้องทำงานกันหนักมากขึ้นในช่วงไม่กี่ชั่วโมงที่เหลือ เพื่อใช้โอกาสที่เหลือน้อยมากทำความตกลงที่มีนัยสำคัญต่อการรักษาเป้าหมายไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เอาไว้ให้ได้ภายใน 18.00 น. ตามเวลามารตฐานกรีนิช หรือราว 01.00 น.ของวันที่ 13 พฤศจิกายนตามเวลาไทย ซึ่งเป็นกำหนดเวลาปิดประชุมอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า การทำความตกลงเพื่อให้เป็นไปตามเป้า 1.5 องศานั้นแทบหมดหวังแล้ว หลงเหลืออยู่ในสภาพเหมือนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องพยุงชีพ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า บรรดาคำประกาศของรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในค็อป26 จะไม่เพียงพอต่อการป้องกันโลกไม่ให้ร้อนขึ้นเกินเป้าหมายที่วางไว้

เลขาธิการยูเอ็น ยังย้ำด้วยว่า การให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงของประเทศต่างๆ จะไร้ความหมาย กลายเป็นคำสัญญากลวงเปล่าตราบเท่าที่ยังคงมีการลงทุนนับเป็นล้านล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และชี้ว่า คำประกาศของหลายประเทศในกลาสโกว์ ยังอยู่ห่างจากระดับเพียงพออยู่ไกลมาก

ทั้งนี้เนื่องจากมีความหวังเพียงเล็กน้อยว่าจะมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในอีกไม่กี่ชั่วโมงที่เหลือ ทำให้ตัวแทนเจรจาของหลายชาติพยายามผลักดันข้อกำหนดใหม่ๆ ออกมาเป็นการชดเชย เป้าหมายเพื่อบังคับให้แต่ละประเทศต้องปรับปรุงคำประกาศลดโลกร้อนของตนให้ดีขึ้นโดยเร็วในอนาคต โดยหวังว่าจะเร็วพอที่จะช่วยรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ร้อนขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

Advertisement

ตัวอย่างเช่นความพยายามผลักดันข้อกำหนดให้แต่ละประเทศปรับปรุงเป้าลดโลกร้อนของตนให้ดีขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป แทนที่จะเป็นทุกๆ 5 ปีเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ซึ่งปรากฏอยู่ในต้นร่างแถลงการณ์ค็อป26 ที่เผยแพร่ให้ทุกชาติได้พิจารณาร่วมกันเมื่อต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังคงมีหลายประเทศคัดค้าน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะให้การสนับสนุนเป้าหมาย 1.5 องศาตามความตกลงปารีสแต่ก็ยอมรับว่าไม่สามารถให้การสนับสนุนการปรับเป้าให้ดีขึ้นทุกปีได้

นาง แมรี โรบินสัน อดีตประธานาธิบดีไอร์แลนด์ ออกมากล่าวหาประเทศอย่างรัสเซียและซาอุดีอาระเบียว่า ต่อต้านความพยายามกำหนดมาตรการค่อยๆ ปรับลดการใช้ถ่านหินและมาตรการอุดหนุนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งเท่ากับเป็นการ “วินาศกรรม” ความพยายามกำหนดเป้าหมายที่ทะเยอทะยานของที่ประชุม

ในขณะเดียวกัน ปัญหาเกี่ยวกับประเด็นด้านการเงินก็ยังคงถกกันอย่างเผ็ดร้อน ทั้งในกรณีที่ชาติกำลังพัฒนาพยายามผลักดันให้ชาติมั่งคั่งทั้งหลายที่เป็นที่มาของก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่ เพิ่มเงินช่วยเหลือให้ชาติที่ยากจนกว่าสำหรับนำไปใช้บรรเทาผลกระทบและปรับตัวเข้ากับสภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับความพยายามในการออกกฏว่าด้วยตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่โปร่งใส ก็ยังคงค้างเติ่งอยู่ในขณะนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image