‘ติช นัท ฮันห์’ ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี

Thich Nhat Hanh
(AP Photo, File)

ติช นัท ฮันห์ พระภิกษุนิกายเซนชาวเวียดนาม ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของ Thai Plum Village ของ หมู่บ้านพลัมนานาชาติ ได้ประกาศว่า ติช นัท ฮันห์ ละสังขารแล้ว โดยว่า

“พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ละสังขาร
สังฆะหมู่บ้านพลัมนานาชาติขอประกาศว่า หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์ที่รักยิ่งของเราได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 0.00 นาฬิกา ของวันที่ 22 มกราคม 2565 สิริอายุ 95 ปี

เราขอเชื้อเชิญครอบครัวทางจิตวิญญาณทั่วโลกได้หยุดใช้ชั่วเวลาสักครู่ในความสงบ และกลับคืนสู่ลมหายใจแห่งสติ เพื่อที่เราจะได้โอบรับหลวงปู่ไว้ในหัวใจ ในสันติและความสำนึกคุณด้วยความรักต่อทุกสิ่งที่ท่านได้มอบให้ไว้ในโลก”

โดยสำนักข่าวเอพี ได้รายงานข่าวการมรณภาพนี้ โดยอ้าง หมู่บ้านพลัม

Advertisement

ทั้งนี้ ติช นัท ฮันห์ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม เกิดปี พ.ศ.2469 ในจังหวัดกวางสี ภาคกลางของเวียดนาม มีนามเดิมว่า เหงวียน ซวน เป๋า เป็นผู้นำเสนอความคิด พุทธศาสนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และพุทธธรรม เป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิธีชีวิตยุคปัจจุบันได้ (Engage Buddhism) เป็นที่รู้จักในฐานะ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ พระอาจารย์เซน พระมหาเถระในพุทธศาสนามหายานผู้สอนการฝึกสมาธิภาวนา เป็นกวี นักเขียน นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ

(AP Photo/Richard Vogel)

ในปี พ.ศ.2485 บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ 16 ปี ที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ต่อมาปี พ.ศ.2492 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ปี เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความ ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในระยะนั้น

ต่อมา พ.ศ.2505 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ จึงเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น 1 ปี ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ได้ตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อสานต่อแนวคิดพุทธศาสนาที่รับใช้สังคม ก่อตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคม เยียวยาความเสียหายจากสงคราม

Advertisement

ได้รณรงค์ต่อสู้เพื่อสันติภาพ รณรงค์เพื่อหยุดสงครามเวียดนาม โดยมุ่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ รณรงค์ให้หยุดสงคราม โดยมุ่งเน้นสันติภาพ

ในปีพ.ศ.2509 เขาได้พบกับ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ โดยเขาได้พยายามที่จะส่งเสริมความปรองดอง ระหว่าง เวียดนามใต้ ที่สนับสนุนโดยสหรัฐและ เวียดนามเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ประทับใจมาก กระทั่งในปีต่อมา เขาเสนอชื่อ ติชนัทฮันห์ ให้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเวียดนามจึงปฏิเสธการกลับประเทศ ทำให้ต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการไปอยู่ที่ฝรั่งเศส โดยเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมนอกปารีส เพื่อเขียนหนังสือและปลูกพืชสมุนไพร และยังคงทำงานเพื่อสันติภาพ และผู้ลี้ภัยอยู่เสมอ

กระทั่งปี พ.ศ.2518 ได้ก่อตั้งอาศรมมันเทศ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส และย้ายลงไปตอนใต้ โดยตั้งชื่อใหม่ว่า หมู่บ้านพลัม ตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดิน โดยมีการกระจายหมู่บ้านพลัมไปใน 31 ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อเมริกา และไทย

พระภิกษุชาวเวียดนาม ถูกเนรเทศจากเวียดนามนาน 39 ปี กระทั่งได้กลับไปเวียดนามเมื่อปี พ.ศ.2561 เพื่อใช้ชีวิตบั้นปลายในวัดของตน พระภิกษุรูปนี้ ได้เขียนหนังสือกว่า 100 เล่ม ได้รับการแปลกว่า 40 ภาษา และหนังสือขายได้กว่า 5 ล้านเล่มในสหรัฐฯ โดยมีเล่มที่ขายดีเช่นThe Miracle of Mindfulness, Peace is Every Step, Anger และ How to Love โดยผลงานเล่มสุดท้ายคือ Zen and the Art of Saving the Planet เมื่อตุลาคมปีที่แล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : พุทธะ และศาสนาในวันต่อจากนี้

ที่มา หมู่บ้านพลัม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image