เปิดชีวิต ‘เพียว เซยา ตอร์-โก จิมมี่’ 2 นักเคลื่อนไหว ผู้ถูกรบ.เผด็จการพม่าตัดสินประหาร

รู้จัก ‘เพียว เซยา ตอร์’ ผู้บุกเบิกเพลงแร็พพม่า-‘จ่อ มินยู’ นักเคลื่อนไหวคนสำคัญ ผู้ถูกเผด็จการตัดสินประหาร

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ภายหลังจาก สื่อทางการพม่า รายงานว่า รัฐบาลเมียนมา ได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 4 ราย ในข้อกล่าวหาว่า มีส่วนช่วยในการก่อการร้ายภายในประเทศ

ถือเป็นการประหารชีวิตครั้งแรก ในรอบหลายสิบปีในเมียนมา ท่ามกลางเสียงประณามจากประชาคมระหว่างประเทศ

นักเคลื่อนไหวทั้ง 4 ราย ถูกตัดสินประหารชีวิตในการพิจารณาคดีแบบปิด เมื่อมกราคม ได้แก่ จ่อ มินยู (Kyaw Min Yu) หรือจิมมี่ วัย 53 ปี เพียว เซยา ตอร์ (Phyo Zeya Thaw) ศิลปินฮิพฮอพ วัย 41 ปี ซึ่งถูกศาลปฏิเสธคำร้องอุทธรณ์คดีไปเมื่อเดือนมิถุนายน และชายอีก 2 คนคือ นายฮลา เมียว อ่อง (Hla Myo Aung) และ นายอ่อง ธูรา ซอ ( Aung Thura Zaw) ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมหญิงที่เชื่อว่าเป็นผู้ที่แจ้งข่าวให้กองทัพในเขตหล่ายธาร์ยาร์ (Hlaing Tharyar)

ผู้บุกเบิก ฮิพฮอพ ในพม่า

เพียว เซยา ตอร์ (Phyo Zeya Thaw) วัย 41 ปี แรพเปอร์ และ อดีตสมาชิกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซานซูจี ถูกจับเมื่อเดือนพฤศจิกายน เมื่อตำรวจและทหารนับร้อยคนจู่โจมเข้าบ้านพักของในย่างกุ้ง

Advertisement

ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางสายการเมือง เขาเป็นนักเคลื่อนไหว และ แรพเปอร์ ในปี 2543 เขาได้ปล่อยอัลบั้มแร็พ อัลบั้มแรกของเมียนมา กับวงที่เขาก่อตั้งขึ้น ACID อัลบั้มแรกของพวกเขา SaTin Gyin หมายความถึงการเริ่มต้น ครองชาร์ตเพลงเป็นเวลาหลายเดือน ท้าทายความคาดหวังของประเทศ ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เพลงของ ACID

เนื้อเพลงต่างๆ ได้ถ่ายทอดการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบทหาร ที่ปิดบังไว้ รวมถึงความโกรธ และคับข้องใจของคนรุ่นใหม่

ภาพจาก Than Lwin Khet News – English Edition

ก่อตั้ง Generation Wave เคลื่อนไหวทางการเมือง

มากไปกว่าเรื่องเพลงแร็พ เขาต้องการทำเพื่อประเทศมากกว่านั้น จึงได้ตั้งกลุ่มเยาวชน ชื่อ Generation Wave กับเพื่อนมัธยมของเขา ในปี 2550 หลังการประท้วง ที่นำโดยพระสงฆ์ จากเหตุราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

Advertisement

พวกเขาได้พ่นกราฟิตี้ รวมถึงแจกแผ่นพับ เรียกร้องประชาธิปไตย และถูกสั่งห้ามอย่างรวดเร็ว เขาถูกจับกุมในปี 2551 และได้รับการนิรโทษกรรม ปล่อยตัวออกมาในอีก 3 ปีต่อมา

ภาพจาก เฟซบุ๊ก 2022

 

เพื่อนผู้ก่อตั้ง Generation Wave ของเขา กล่าวว่า เขาเกลียดเผด็จการทหาร และ ความอยุติธรรมตั้งแต่แรก เป็นความเชื่อของเขา ที่จะยุติการปกครองระบอบเผด็จการทหาร และเขาพร้อมเสมอที่จะเผชิญอันตรายต่างๆที่เขาเจอ เผด็จการข่มขู่เขา แต่ว่าเขาไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับโทษประหาร และแม้จะรู้สึกอะไรอยู่ภายใน เขาก็ไม่แสดงให้เห็น

เพียว เซยา ตอร์ เป็นนักเคลื่อนไหว ที่ใช้ศิลปะ รณรงค์ต่อต้านระบอบการปกครองก่อนหน้านี้ เขาถูกจับกุมและคุมขัง เช่นเดียวกับสมาชิกหลายคนในกลุ่ม ต่อมา เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนเมษายน 2555 ในปีเดียวกับที่ อองซานซูจี ได้รับเลือกเข้าสู่สภา

ภาพจาก hninyadanazaw

ผู้ใกล้ชิด อองซานซูจี

อดีตแรพเปอร์ เป็นผู้มีความใกล้ชิดกับซูจี โดยได้เดินทางไปต่างประเทศกับซูจีในหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ก่อนการรัฐประหาร เขาตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะต้องการกลับไปสู่อีกสิ่งหนึ่งที่เขาหลงใหล นั่นคือ การแร็พ โดยต้องการจะเขียนเพลง และ แสดงบนเวทีอีกครั้ง

การรัฐประหารปี 2564 โหดร้ายสำหรับนักเคลื่อนไหวหลายคน แฟนสาวของ เซยา ตอร์ ออกจากบ้านในย่างกุ้งและย้ายไปอยู่เซฟเฮาส์เล็กๆ หยุดใช้เฟซบุ๊กก่อนนอน เพราะเต็มไปด้วยข่าวการจับกุมเพื่อนผู้ประท้วง และความทารุณต่างๆ เมื่อทราบว่าแฟนหนุ่มต้องโทษประหาร เธอกล่าวว่า รู้สึกหนาว ร่างกายสั่นเทา และรีบวิ่งออกจากเซฟส์เฮ้าส์อย่างไร้จุดหมาย เพื่อสงบสติอารมณ์ อย่างไรก็ตาม เธอจะไม่ยอมแพ้ และจะสู้ถึงที่สุด

ขณะที่ แม่ของเซยา ตอร์ บอกกับ บีบีซี ว่า เธอไม่ได้รับแจ้งว่าลูกชายถูกประหารชีวิตเมื่อใด และไม่สามารถจัดงานศพตามประเพณีได้

“พวกเราเพิ่งได้ซูมคุยกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ลูกชายของฉันยังแข็งแรง และมีรอยยิ้ม เขาขอให้ฉันส่งแว่นสำหรับอ่านหนังสือ พจนานุกรรม และ เงินเล็กน้อยเพื่อใช้ในเรือนจำ ก็เลยนำไปให้เขาวันนี้” ก่อนว่า “นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันไม่เชื่อว่า เขาจะถูกสังหาร ฉันไม่เชื่อ”

(AP Photo, File)

โก จิมมี่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญพม่า

ขณะที่ จ่อ มินยู (Kyaw Min Yu) วัย 53 ปี เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญ รู้จักกันในชื่อ โก จิมมี่ ถูกจับกุมในการโจมตีเมื่อเดือนตุลาคม เขาเป็นผู้นำที่โดดเด่น ของกลุ่มนักศึกษารุ่น 88 เป็นผู้นำการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อรัฐบาลทหาร ใช้เวลากว่า 2 ทศวรรษในเรือนจำ ถูกตัดสินจำคุกในปี 2531 เขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี พ.ศ.2548 แต่ถูกจำคุกอีกครั้งระหว่างปี 2550-2555

ระหว่างที่เขาถูกจำคุกนั้น เขาไม่เคยลืม Nilar Thein เด็กสาวมัธยมในเครื่องแบบได้

6 ปีต่อมา เด็กหญิงคนนั้นถูกส่งตัวไปเรือนจำเดียวกันกับที่เขาเคยถูกจับกุม ก่อนทั้งคู่จะเริ่มเขียนจดหมายถึงกัน เขาขอแต่งงานเธอ แม้ว่าจะไม่สามารถแต่งงานกันในเรือนจำได้

ทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัวในปี 2547 หลังจากที่จิมมี่ ถูกจับคุกอยู่ 15 ปี ส่วน Nilar Thein จำคุก 8 ปี

จิมมี่ และ ภรรยา ภาพจากเฟซบุ๊ก Ma Nilar Thein / irrawaddy

นักเขียน ผู้ใช้กว่าครึ่งชีวิตในเรือนจำ

3 ปีต่อจากนั้น พวกเขาก็เริ่มต้นการเป็นแนวหน้าการปฏิวัติครั้งใหม่ ในปี 2550 ซึ่งลูกสาวของพวกเขาอายุเพียงไม่กี่เดือน เมื่อ จิมมี่ถูกจับ ขณะที่ Nilar Thein ได้หลบซ่อนตัวทันที ก่อนที่เธอจะถูกจับตามมา และจำต้องทิ้งลูกไว้ให้ครอบครัวของพวกเขา

พวกเขาทั้งคู่ ได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง หลังจากได้รับการปล่อยตัว นิรโทษกรรมในปี 2555

จ่อ มินยู ยังเป็นนักเขียน ในขณะที่เขาอยู่ในเรือนจำ ได้แปลงานชื่อดังจำนวนไม่น้อย อาทิ The Da Vinci Code และ Angels and Demons ของแดน บราวน์ ทั้งยังเขียนนวนิยายเรื่อง The Moon in Inle Lake ในปี 2548 ที่กลายเป็นหนังสือขายดี

ภาพจาก Than Lwin Khet News – English Edition

หลังข่าวว่าถูกตัดสินประหาร ภรรยาของจิมมี่ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงสามีของเธอ ว่า “ที่รัก ได้โปรดมีชีวิตอยู่ การปฏิวัติของเราต้องชนะ คุณยังอยู่ในคุกอินเส่ง” ก่อนที่เวลาต่อมา เธอจะบอกว่า “จนกว่าจะเห็นศพ ฉันจะไม่ทำพิธีใดๆ” อย่างไรก็ตาม เธอซึ่งกำลังหลบหนีการจับกุมของทหาร ก็ไม่สามารถทำพิธีให้กับสามีของเธอได้

อย่างไรก็ตาม ไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่า ผู้ถูกประหารทั้ง 4 ราย ได้รับการเผาศพ หรือทำพิธีใดๆแล้วหรือยัง

มิน เซยา หนึ่งในผู้นำรุ่น 88 กล่าวว่า ตลอด 3 ทศวรรษของการปฏิวัติ จิมมี่ต้องเจอกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ทั้งในและนอกเรือนจำ แต่ต้องเอาชนะมันด้วยจิตวิญญาณที่ไม่สะทกสะท้าน ในปี 88 หลายคนได้รับโทษประหาร จากการต่อต้านเผด็จการ ฉันได้ใช้เวลากับคนพวกนั้นในคุก แต่ไม่มีใครถูกประหารเลย หลายคนถูกปล่อยตัวในภายหลัง

(AP Photo/File)

การตัดสินประหารชีวิตครั้งนี้ ทำให้ทั่วโลกต่างออกมาประณาม และว่าเป็นการกระทำที่ปิดโอกาสการคืนความสงบ ยุติความรุนแรงในเมียนมา

โดยโลกออนไลน์เมียนมา รวมไปถึงวงการเพลง และ ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ต่างลุกขึ้นมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้

ที่มา The Guardian, BBC และ irrawaddy

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image