เครื่องบินรบ ถึง ประหารนักเคลื่อนไหว : นักสิทธิฯ จี้รัฐไทยมีท่าที ย้อนปี’88 มีบทบาทกว่านี้

‘เครื่องบินรบ’ ถึง ‘ประหารนักเคลื่อนไหว’ : นักสิทธิฯ จี้รัฐไทยมีท่าที ย้อนปี’88 มีบทบาทมากกว่านี้

จากกรณีที่ รัฐบาลทหารเมียนมา ได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 4 ราย ในข้อหา มีส่วนช่วยในการก่อการร้ายภายในประเทศ

ได้แก่ จ่อ มินยู หรือโก จิมมี่ วัย 53 ปี เพียว เซยา ศิลปินฮิพฮอพ วัย 41 ปี ซึ่งถูกศาลปฏิเสธคำร้องอุทธรณ์คดีไปเมื่อเดือนมิถุนายน และชายอีก 2 คนคือ นายฮลา เมียว อ่อง และ นายอ่อง ธูรา ซอ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมหญิงที่เชื่อว่าเป็นผู้ที่แจ้งข่าวให้กองทัพในเขตหล่ายธาร์ยาร์

องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ได้จัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “เล่าหน่อยเกิดอะไรขึ้นกับรัฐประหารพม่า จากเครื่องบินรบ แล้วจะจบที่ประหารนักโทษทางการเมืองไหม?”

ประชาชนถูกสังหาร 5,900 กว่าคน

ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International เปิดเผยว่า การประหารชีวิตของนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหารพม่าครั้งนี้นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา ครอบครัวและนักโทษทางการเมือง ก็ไม่ทราบมาก่อน และไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ หรือ เข้าถึงทนายความและกระบวนการยุติธรรม ครอบครัวยังไม่สามารถรับศพไปดำเนินการทางศาสนา ทำให้ไม่สามารถเยียวยาจิตใจได้เลย นี่เป็นส่วนหนึ่งของความโหดร้าย ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลทหารพม่า

Advertisement

“นับเป็นระยะเวลาก็เป็น 542 วันแล้วที่รัฐบาลทหารพม่านำโดยนายพลมินอ่องลาย ปฏิบัติการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่เพิ่งมาจากการเลือกตั้งและ ทำให้ประเทศพม่าที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยต้องกลับสู่ภายใต้เผด็จการทหารอีกครั้ง และเราก็จะได้เห็นและได้ยินภาพและเรื่องราวที่ประชาชนแทบจะทุกคนมาแสดงออกถึงความไม่พอใจในการเข้ายึดอำนาจของกองทัพ และลุกลามบานปลายยืดเยื้อจนถึงตอนนี้ก็ปีกว่าแล้ว”

“หากเรานับจำนวนตัวเลขของประชาชน ที่ถูกสังหารโดยรัฐบาลทหารพม่ารวมถึงนักกิจกรรม ทางการล่าสุด ที่ถูกประหารชีวิตไปอีก 4 คน ตอนนี้มีประมาณ 5,900 กว่าคน ตัวเลขนี้ไม่เป็นทางการ นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้คนเยอะมาก ที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ”

“นอกจากนี้แรงงานพม่าที่อยู่ในประเทศไทยก็อยู่ด้วยความยากลำบากเพราะไม่สามารถที่จะกลับบ้านได้ และส่งผลกระทบต่อการต่อสถานภาพทางบุคคล ในการทำงานในประเทศไทย และหลายคนก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และรู้สึกไม่ปลอดภัย”

Advertisement

จี้รัฐไทย ส่งเสียงพม่า ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ตัวแทนจาก Protection International กล่าวต่อว่า แรงงานข้ามชาติ ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการประหาร 4 นักกิจกรรรมทางการเมืองในประเทศพม่าด้วย โดยประณามการประหารชีวิตว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง และมีข้อเรียกร้องหลัก 4 ข้อ ให้กองทัพพม่าคืนอำนาจให้ประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย และต้องยุติบทบาทการควบคุมอำนาจโดยเร็ว และให้ประชาคมอาเซียนต้องยืดหยัดและมีมาตรการอย่างเด็ดขาด ชัดเจนที่ต้องเคารพฉันทามติอาเซียน 5 ข้อ รวมถึงเร่งรัดให้มีการยุติความรุนแรงและฟื้นฟูประชาธิปไตยให้กลับคืนสู่พม่าโดยเร็ว

“นอกจากนี้ยัง เรียกร้องให้รัฐบาลไทย แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างของกองทัพพม่ารวมถึงการใช้โทษประหารชีวิตกับคนที่เห็นต่างกับรัฐบาลกับกองทัพ และควรมีบทบาทร่วมกับประชาคมอาเซียน ในการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า และในส่วนกลไกของสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศควรมีบทบาทมากขึ้นในการพยายามยุติความรุนแรงในพม่า และสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า”

“เราต้องมาช่วยกันเรียกร้องกับรัฐบาลไทยที่บอกว่าเป็นเพื่อนกับรัฐบาลทหารพม่าให้มายุติความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นนี้ต่อประชาชนในพม่าและที่ต้องเข้ามาในประเทศไทย และในปี 1988 ของการประท้วงในพม่า ประเทศไทยเคยมีบทบาทที่มากกว่าตอนนี้” ปรานมระบุ

ถูกบังคับให้พลัดถิ่น 7 แสนคน

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ ด้านสถานการณ์ในประเทศพม่า ได้เข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในประเทศพม่าอยู่เป็นประจำ โดยล่าสุดได้มีการแต่งตั้งทอม แอนดรูว์ เข้าเป็นผู้เชี่ยวชาญฯ คนใหม่ และได้พยายามขอเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ในประเทศพม่าแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทอมได้เดินทางไปที่ประเทศมาเลเซียและได้พบกับชนกลุ่มน้อย และประชาชนจากพม่าที่อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย และได้มีแถลงการณ์หลังสิ้นสุดการเยือนประเทศมาเลเซีย โดยบันทึกไว้ว่ามีคนที่ถูกจับกุมคุมขังทั้งหมดในประเทศพม่า มีทั้งผู้หญิงและเด็กด้วยน่าจะประมาณ 14,000 คน และมีจำนวนของผู้ที่จะต้องพลัดถิ่นในประเทศของตนเองประมาณ 700,000 คน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ กล่าวว่า ล่าสุดกรณีที่มีการประหารชีวิตนักกิจกรรมทางการเมือง 4 คนนั้น วันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นวันที่ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา และข้าหลวงใหญ่สิทธมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ที่รุนแรงที่สุดฉบับหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาของสหประชาชาติประณามกรณีการประหารชีวิตของทั้ง 4 คน และทั้งสองหน่วยงานก็เห็นตรงกันว่าไม่ต้องพูดถึงหลักนิติธรรมเลย การพิจารณาคดีไม่ได้เป็นไปโดยเปิดเผย ญาติไม่สามารถที่จะเข้าเยี่ยมหรือรับฟังการพิจารณาคดีได้ ใช้กลไกของศาลทหาร

จี้กองทัพพม่า ยุติการประหารชีวิต

อังคณากล่าวเพิ่มเติมว่า มิเชลซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติระบุว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือมีประชาชนในพม่ากว่า 2,564 คน ที่เสียชีวิตเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และกว่า 30 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตจากการควบคุมตัวของทหาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากการปฏิบัติการที่โหดร้ายในขณะที่ถูกควบคุมตัว นอกจากนี้ทหารปฏิวัติเข้ามามีการประหารชีวิตคนทั้งหมด 117 คน มีเด็กอยู่ 2 คน ในจำนวนนี้ด้วย

“เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา เลขาธิการสหประชาชาติ ได้แสดงความกังวลต่อการตัดสินใจที่เมียนมายังคงจะใช้วิธีการประหารชีวิตต่อไป เขาได้เรียกร้องต่อกองทัพของเมียนมา ให้ยุติโทษประหารชีวิต และได้ย้ำข้อเรียกร้องให้เคารพในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดต่อผู้ที่ถูกจับกุมในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการประท้วง การใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น”

เชื่อ ยิ่งทำให้มีแรงต้านมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติกล่าวว่า นอกจากนี้ข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านประเทศเมียนมาของสหประชาชาติเองก็ได้ถามถึงฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนว่าทำไมพม่าถึงไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่มีมาไว้ โดยเป็นฉันทามติที่มาจากการประชุมผู้นำอาเซียนเอง โดยทอม แอนดรูว์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านประเทศเมียนมาของสหประชาชาติใช้คำว่า “เมียนมาเหมือนกับล้อเล่นกับฉันทามติที่ได้เป็นข้อตกลงร่วมกันของอาเซียน และไม่เคารต่อฉันทามติ”

ซึ่งการประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว (2564) โดยมีกษัติรย์บรูไนเป็นประธานในการประชุมและได้พูดถึงเรื่องความมั่นคงในอาเซียน ความมั่นคงทางการเมืองมีความสำคัญต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียน ทั้งเรื่องความมั่นคงและการสร้างสันติภาพในอาเซียนที่ปรากฎอยู่ในกฏบัตรอาเซียน ธรรมาภิบาล หลักประชาธิปไตยและการเคารพในกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

และในแถลงการณ์ในข้อที่ 8 พูดถึงประเทศพม่าโดยตรง โดยได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศพม่า รวมถึงรายงานการเสียชีวิตด้วยความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้นำอาเซียนจึงเห็นด้วยกับฉันทามติ 5 ประเด็นที่แนบมาพร้อมกับแถลงการณ์

“การประหารชีวิตจะทำให้มีแรงต้านมากยิ่งขึ้น สหประชาชาติเองก็ได้เรียกร้องไปยังประเทศต่างๆ ว่าเราจะอดทนกันอีกนานแค่ไหน เราจะปล่อยให้เมียนมากระทำการแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ จึงจะลุกขึ้นมาแสดงเจตจำนงในการที่จะต่อต้านอย่างจริงจัง” อังคณาระบุ

รปห. ทำชายแดนไทยไม่สงบ

ขณะที่พรสุข เกิดสว่าง ตัวแทนเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2564 ชายแดนไม่เคยสงบเลย 1 เดือนหลังจากนั้นคือในช่วงเดือน มีนาคม 2564 เป็นครั้งแรก พื้นที่ชายแดนบริเวณ อ.แม่สะเรียง และสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีการใช้เครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดบริเวณฝั่งแม่น้ำสาละวินซึ่งห่างจากเส้นเขตแดนไทยนิดเดียว ในคำอธิบายของกองทัพอากาศ ถ้าเครื่องบินรบของพม่าเข้ามาใกล้พื้นที่ชายแดนไทย 50 ไมล์ ก็จะมีคำเตือน หรือมีเครื่องบินของไทยขึ้นฟ้าไปเพื่อเตือน แต่เราจะเห็นว่านับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ระเบิดที่ถูกทิ้งลงใกล้แม่น้ำสาละวินและอยู่ในระยะเกินกว่า 50 ไมล์อยู่แล้ว เรียกว่าประชิดริมฝั่งเลย จนถึงตอนนี้ แต่ก็ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น และทางการพม่าก็ไม่เคยมีคำขอโทษใดๆ กับประเทศไทยเลย

พรสุข กล่าวต่อว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามีคนที่หนีภัยมาเข้าประเทศไทยหลายรอบ จนไม่สามารถที่จะนับจำนวนได้ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาความมั่นของชาติอยู่ตลอด แต่ถ้าเราคุยกับชาวบ้านไทยในพื้นที่ปัญหาความมั่นคงของเขา คือปัญหาที่เครื่องบินมันรุกล้ำชายแดน เข้ามาคือเวลายิงกันแล้วก็มีสะเก็ดระเบิด กระสุนปืนใหญ่เข้ามาตกฝั่งไทย สิ่งนี้เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา แต่ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ปัญหาความมั่นของเขา ผู้ลี้ภัยเป็นญาติพี่น้องที่จะสามารถจัดการดูแลกันได้ ตราบใดที่ไม่ได้เข้ามาขนาดหลายพันในเวลาเดียวกัน ในระดับนี้ชุมชนสามารถดูแลได้ แต่กลับถูกมองเป็นปัญหาความมั่นคงตลอดเวลา

ชี้รัฐไทย ต้องไม่ผลักผู้ลี้ภัยกลับ

พรสุข กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามปัญหาความมั่นคงจริงๆ มาจากปฏิบัติการของกองทัพพม่า เป็นปัญหาความมั่นคงชายแดน และท่าทีของรัฐบาลไทยที่มีต่อคนที่หนีการประหัตประหารของพม่าเข้ามาในไทย เป็นหนึ่งในท่าทีที่เราสามารถที่จะแสดงออกต่อการกระทำของกองทัพหรือทหารพม่า แต่ที่ผ่านมาเราก็รีรอมากในการอนุญาตให้คนข้ามแดนมา เราพยายามผลักดันเขากลับไปอย่างรวดเร็ว ในกรณีผู้ลี้ที่เป็นนักการเมือง นักกิจกรรม สื่อมวลชน คนเหล่านี้หนีเข้ามาในไทยโดยที่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ อยู่ในสภาพคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ละวันต้องเอาตัวรอดเอง คอยหลับซ่อน ตำรวจและการรีดไถต่าง ๆ นานาสารพัด

“สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ต่างจากเหตุการณ์ในปี 1988 ผู้ลี้ภัยในขณะนี้ไม่ใช่คนหนุ่มสาว หรือนักศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่มีทุกวัยมีครอบครัวมาด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะมีท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อคนกลุ่มนี้ได้แล้ว เมื่อเราเห็นได้ชัดเจนว่าในพม่าไม่มีความปลอดภัย นักกิจกรรม 2 คนนั้นไม่ว่าโลกจะพยายามคัดค้านการประหารชีวิตอย่างไร รัฐบาลพม่าก็ทำอยู่ดี และทำอย่างท้าทายด้วย เหมือนเป็นการส่งสารบางอย่างว่านี่คือสิ่งที่เราจะทำ”

พรสุข กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะคือรัฐไทยจะต้องไม่ผลักดันกลับผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่เป็นชาวบ้านที่อยู่ริมชายแดนที่ลี้ภัยมา หรือผู้ลี้ภัยที่เป็นนักกิจกรรมซึ่งอาจจะนี้มาพร้อมกับชาวบ้านส่วนนี้ และถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีกระบวนการคัดกรองและให้คุ้มครองทางด้านกฎหมาย เพราะเขาต้องตกค้างอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน ไม่ใช่จะไปประเทศที่ 3 ได้ทันที และไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม มาแล้วก็ผลักกลับ เหมือนกับเล่นเกมอะไรบางอย่างอยู่เป็นปีแล้ว

“สิ่งนี้บอกได้ชัดเจนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นภายในพม่ามันไม่ได้เป็นกิจการภายในที่ประเทศอื่นๆ ไม่สามารถหรือไม่สมควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะความเดือดร้อนมาประชิดชายแดนแล้ว แม้แต่กระสุนก็มาตกอยู่ที่นี่ ดังนั้นท่าทีของรัฐไทยจึงไม่ต้องมาเกรงอกเกรงใจอะไรกันและต้องทำได้แล้ว ส่วนการจัดการผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เพียงให้ทหารจัดการเพียงฝ่ายเดียว แต่ท้องถิ่นจำนวนมากสามารถช่วยดูแลได้โดยได้รับการสนับสนุนจากภายนอกเพราะเขาเป็นญาติพี่น้องกันอยู่แล้ว”

“คำถามคือรัฐบาลไทยจะยอมรับความจริงหรือไม่ ว่าคณะทหารที่ปกครองประเทศเพื่อนบ้านเขาเป็นอย่างไร หรือเราจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อยู่เหมือนเดิม หนึ่งในท่าทีที่เราจะสามารถแสดงได้ชัดเจน ก็คือท่าทีที่เรามีต่อเขาหนีการประหัตประหารมาขอความคุ้มครองในบ้านเรา ท่าทีที่ไทยจะมีต่อผู้ลี้ภัยต้องชัดเจนได้แล้ว หรือท่าทีที่เราจะมีต่อการส่งมอบความช่วยเหลือให้กับผู้ผลัดถิ่นที่อยู่ในประเทศพม่าขนาดนี้ ซึ่งเพิ่มมาเป็นจำนวน 7 แสนคนภายในปีเดียว บวกกับที่มีอยู่แล้ว 3 แสนคน จึงเป็นตัวเลขร่วม 1 ล้านคนที่อยู่ในพม่า

ตรงนี้เป็นจำนวนคนที่จะล้มตายเพิ่มขึ้นโดยไม่สามารถบันทึกไว้ได้ ทั้งการเจ็บป่วย ขาดอาหาร เป็นความสูญเสียที่จะไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้ รัฐบาลไทยจึงต้องยอมรับความจริงได้แล้วว่ารัฐบาลพม่าเป็นแบบนี้ และให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยได้แล้ว ไม่ว่าจะผลักไปอย่างไร เขาก็ยังมีตัวตนอยู่ ไม่สามารถเอาไปซ่อนไว้ตรงไหนได้” พรสุขกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image