สะพานแห่งกาลเวลา : ระบบควบคุมน้ำท่วม แบบฉบับบังกลาเทศ

(ภาพ-M. Shamsudduha)

สะพานแห่งกาลเวลา : ระบบควบคุมน้ำท่วม แบบฉบับ บังกลาเทศ 

ที่ บังกลาเทศ มี ระบบควบคุมน้ำท่วม ซึ่งหลายคนไม่เคยคาดคิดมาก่อน ที่ทั้งได้ผลในแง่การบรรเทาภาวะน้ำท่วม และได้ผลในแง่ของการผลิตผลิตผลทางการเกษตร

ระบบควบคุมน้ำท่วมของบังกลาเทศ เป็นระบบที่เลี้ยงตัวเองอยู่ได้โดยธรรมชาติ เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสให้ชาวบ้านใช้ปั๊มดูดน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรโดยตรง

ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าระบบนี้มีอยู่ในบังกลาเทศ มีแต่นักอุทกธรณีวิทยาบางคนตั้งข้อสงสัยเอาไว้เท่านั้น แต่รายงานของทีมวิจัยด้านอุทกธรณี ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ไซน์ซ เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ยืนยันทั้งการมีอยู่และผลประโยชน์ที่คาดไม่ถึงของระบบนี้

ระบบที่ว่านี้เกิดขึ้นตามสภาวะของธรรมชาติ บังกลาเทศเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ คือเป็นพื้นที่ซึ่งแม่น้ำคงคาและแม่น้ำพรหมบุตร ไหลออกสู่ทะเล จึงเป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ แต่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงไม่กี่มากน้อย พร้อมที่จะเผชิญกับอุทกภัยหนักหน่วงได้ตลอดเวลา

Advertisement

พื้นที่ราบลุ่มเช่นนี้ ไม่เหมาะกับการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เพราะภูมิประเทศไม่อำนวย เนื่องจากไม่มีภูเขาและหุบเขา สำหรับใช้เป็นอ่างเก็บน้ำ ทั้งยังอยู่ในระดับเหนือน้ำทะเลไม่มากอีกด้วย

วิถีชีวิตของผู้คนในบังกลาเทศขึ้นอยู่กับฤดูมรสุมในแต่ละปี เพราะลมมรสุมนำเอาฝนมาตกในพื้นที่ช่วยให้สามารถทำเกษตรกรรมได้ แต่หากเกิดมรสุมรุนแรง ก็สามารถก่ออุทกภัยใหญ่ได้ทุกครั้ง

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา รัฐบาลบังกลาเทศพยายามปรับปรุงเกษตรกรรมในประเทศให้ดีขึ้น พร้อมๆ กันนั้น ก็เปิดช่องให้เกษตรกรสามารถใช้เครื่องยนต์ดีเซลปั๊มน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรได้ เป้าหมายก็คือ เพื่อขยายระยะเวลาการเพาะปลูกออกไป ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ในหน้ามรสุมเท่านั้น

Advertisement

งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ในหน้าแล้ง เกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา 16 ล้านคนในบังกลาเทศใช้เครื่องยนต์ดีเซลและไฟฟ้ามาก 1 ล้านเครื่อง ปั๊มน้ำใต้ดินขึ้นมาทำนา ทำให้ทำนาได้มากขึ้น ได้ที่ดินในการทำนาเพิ่มมากขึ้น และลงเอยด้วยผลผลิตข้าวที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 3 เท่าตัวในฤดูกาลเพาะปลูก 2018-2019 เมื่อเทียบกับผลผลิตในช่วงต้นทศวรรษ 1970

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การสูบน้ำบาดาลมาใช้ดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดผลอย่างไรกับพื้นดินของบังกลาเทศ จะทำให้แหล่งน้ำใต้ดินหมดลง ก่อให้เกิดอาการทรุดตัวของแผ่นดิน (เหมือนที่เกิดขึ้นกับกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย) หรือไม่?

ทีมวิจัยใช้ข้อมูลการวัดปริมาณน้ำใต้ดินจากสถานีวัด 465 จุดทั่วประเทศของรัฐบาลมาวิเคราะห์ พบว่ามีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เท่านั้น ที่แสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำใต้ดินพร่องลงจนเกือบหมด อีก 40 เปอร์เซ็นต์ ไม่แสดงให้เห็นอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นกับระดับน้ำใต้ดิน ไม่ว่าจะในหน้าแล้งหรือหน้ามรสุมก็ตาม ส่วนอีก 35 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ระดับน้ำใต้ดินจะลดลงในหน้าแล้ง และจะเพิ่มกลับเป็นปกติเมื่อถึงหน้ามรสุม

ทีมวิจัยประเมินว่า ในช่วง 20 ปี ระหว่างปี 1988-2018 นั้น บังกลาเทศสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ระหว่าง 75-90 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือมากกว่าปริมาณที่สหราชอาณาจักรใช้น้ำในแต่ละปี และมากกว่าปริมาณน้ำส่วนเกินที่เขื่อนฮูเวอร์ เขื่อนยักษ์ของสหรัฐอเมริกาสามารถเก็บกักไว้ได้ตลอดช่วง 30 ปี ถึง 2 เท่าตัว

คาไซ มาติน อาเหม็ด หนึ่งในทีมวิจัยสรุปว่า การสูบน้ำบาดาลที่บังกลาเทศนั้นยังไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อแผ่นดิน ในทางตรงกันข้าม การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ในหน้าแล้ง จะช่วยบรรเทาภาวะน้ำท่วมให้ลดความรุนแรงลง เพราะทำให้เกิดช่องว่างมากพอที่น้ำจะซึมเข้าไปเติมเต็ม ไม่ขังอยู่บนพื้นผิวจนก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ได้

ข้อดีอีกประการที่การสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรของบังกลาเทศก็คือ เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้ในที่ดินของตนเอง ไม่จำเป็นต้องรอระบบชลประทานกลางเหมือนกรณีการใช้น้ำจากเขื่อนนั่นเอง

ปัญหาที่ต้องระวังในเวลานี้ก็คือ ภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าหากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อาจส่งผลให้ระบบควบคุมน้ำท่วมแบบบังเอิญของบังกลาเทศใช้การไม่ได้ไปในที่สุด โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่า ภาวะที่เหมาะสมอย่างเช่นที่เป็นอยู่ จะคงอยู่ได้อีกนานเท่าใด

รัฐบาลบังกลาเทศจึงเร่งรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาใช้ปั๊มไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์ แทนที่น้ำมันดีเซลแล้วในขณะนี้นั่นเอง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image