ความเสียหายภัยพิบัติจากสภาพอากาศปี’65 แตะ 9 ล้านล้านบาท ลดลง 12%

AP

ความเสียหายภัยพิบัติจากสภาพอากาศปี’65 แตะ 9 ล้านล้านบาท ลดลง 12%

แม้ว่าปี 2022 จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานที่กลืนกินพื้นที่ถึง 1 ใน 3 ของประเทศ พายุเฮอริเคนที่สร้างความเสียหายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ภัยแล้งรุนแรงแบบที่ไม่เคยพบเจอในยุโรปและจีน รวมถงความอดอยากจากภัยแล้งในแอฟริกา ไปจนถึงคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คน แต่ความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศในปีนี้กลับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ตามข้อมูลของ Swiss Re. บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ของโลกด้านภัยพิบัติระบุว่า ความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับตัวเลขความเสียหายในปี 2021 โดยมูลค่าความเสียหายทั่วโลกในปีนี้อยู่ที่ 2.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9,380,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนซึ่งมูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติด้านสภาพอากาศสูงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือลดลง 12% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ในสหรัฐ สภาพอากาศที่เลวร้ายที่สร้างความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์นับจนถึงเดือนตุลาคม อยู่ที่ 15 เหตุการณ์ และมีการคาดการณ์ว่าจนถึงสิ้นปี ความเสียหายที่มีมูลค่าสูงเช่นนี้จะอยู่ที่ 16-17 ครั้ง ลดลงจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาด้วยสถิติสูงถึง 22 และ 20 ปีตามลำดับ อย่างไรก็ดี ความเสียหายโดยรวมจากเฮอริเคนเอียนน่าจะพุ่งขึ้นไปอยู่ใน 3 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

อดัม สมิธส์ นักอุตุนิยมวิทยาประยุกต์จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (NOAA) ซึ่งทำหน้าที่คำนวณความเสียหายที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไปให้กับหน่วยงาน ระบุว่า ผุ้คนเหมือนจะเคยชินกับสภาพอากาศสุดขั้วแล้ว แม้ว่าเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา สภาพอากาศสุดขั้นในปีนี้ดูเหมือนจะค่อนข้างรุนแรง แต่เมื่อเทียบกับปีที่อาจจะเป็นปีที่มีปัญหาจากสภาพอากาศรุนแรงที่สุดอย่างปี 2017, 2020 และ 2021 ดูเหมือนว่า มันจะปรับลดลงเล็กน้อย เราเหมือนจะคุ้นเคยกับมัน แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่ดีที่เราจะก้าวไปสู่อนาคต

Advertisement

ไฟป่าในสหรัฐปีนี้ไม่ได้ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ภัยแล้วทางตะวันตกสร้างความเสียหายมากกว่าปีก่อนหน้า กระนั้นก็ดี ความเสียหายจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายทางการเงินมากที่สุดในปีนี้ ไม่มีเหตุการณ์ใดแซงหน้าเฮอริเคนเอียน แม้ว่าน้ำท่วมในปากีสถานและใหญ่กว่าและร้ายแรงกว่าก็ตาม แต่ในแง่ของมูลค่าความเสียหาย เฮอริเคนเอียนยังแซงหน้าปัญหาความอดอยากในแอฟริกาเนื่องจากภัยแล้ง และระดับน้ำในแม่น้ำที่ลดลงอย่างมากในจีนและยุโรปที่ทำให้เกิดปัญหาด้านพลังงานและกระทบต่ออุตสาหกรรม หรือแม้แต่คลื่นความร้อนในยุโรป อินเดีย และอเมริกาเหนือ

สมิธระบุว่า NOAA ยังคำนวณมูลค่าความเสียหายจากเฮอริเคนเอียดไม่แล้วเสร็จ แต่มีโอกาสที่ความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพียงเหตุการณ์เดียวจะมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์

ด้านหัวหน้าแผนกภัยพิบัติของ Swiss Re.กล่าวว่า หากมองย้อนไปตั้งแต่ปี 2017-2020 สถานการณ์ทั่วโลกถือว่าเลวร้ายมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน มันเป็นสิ่งที่บางคนเรียกว่าสถานการณ์ปกติใหม่ ซึ่งทำให้แนวโน้มระยะยาวของต้นทุนด้านภัยพิบัติจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 5-7% ต่อปี

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image