วิเทศวิถี : ‘เมียนมา’สะท้อน วิถีอาเซียน

‘เมียนมา’สะท้อน
วิถีอาเซียน

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (AMM) ครั้งที่ 56 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เพิ่งผ่านพ้นไปในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่โลกจับตามองตั้งแต่ต้นย่อมไม่พ้นประเด็นเมียนมา ที่ยังคงเป็น “เรื่องร้อน” ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก และยิ่งทวีความร้อนแรงมากขึ้นเมื่อ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งให้ทราบว่าได้เดินทางไปพบกับ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมาและผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพียง 1 วันก่อนหน้าที่จะเดินทางไปร่วมประชุม AMM ในครั้งนี้

การพบปะดังกล่าวถือเป็นความก้าวหน้าอันสำคัญ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศได้พบกับซูจีนับตั้งแต่เธอถูกควบคุมตัวไปอยู่ในสถานที่อันไม่เปิดเผยมาตั้งแต่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนหรือผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องเมียนมาที่ได้ยื่่นขอเข้าพบกับซูุจีมาแล้วหลายครั้งตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีใครได้พบหน้า “The Lady” เลยสักครั้ง

การพบปะที่เกิดขึ้นระหว่างนายดอนกับซูจีมาจากการเห็นชอบทั้งจากตัวของซูจีเอง และจากสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา (SAC) ขณะที่ในอดีตที่ผ่านมา การขอพบกับซูจีที่ไม่เคยเกิดขึ้นดูเหมือนจะมาจากที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ จากข่าวที่ได้รับทราบมา เพิ่งมีการแจ้งให้นายดอนเยือนเมียนมาเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม และกว่าที่จะได้รับการยืนยันว่าจะได้เข้าพบกับซูจีก็แทบจะเป็นเวลาก่อนเดินทาง ดังนั้นการไปเยือนเมียนมาของนายดอนครั้งล่าสุดจึงเป็นไปอย่างเงียบเชียบ และไม่มีข่าวใดๆ เล็ดรอดออกมาจนกระทั่งนายดอนได้เดินทางไปถึงจาการ์ตาแล้ว และมีการแจ้งเรื่องการพบปะดังกล่าวให้กับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบางคนได้รับทราบ โดยนักข่าวเพิ่งจะได้ทราบถึงการเดินทางครั้งนี้ในเย็นวันที่ 11 กรกฎาคม ซึ่ง ณ เวลานั้นคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า ผู้ที่ไปพบคือ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย

Advertisement

ในวันที่ 12 กรกฎาคม นายดอนได้แจ้งเรื่องที่มีการพบกับซูจีให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรับทราบ โดยเล่าให้ฟังถึงการหารือที่ยาวนานกว่า 1 ชั่วโมง สารอันมีความสำคัญคือการที่ซูจียืนยันว่าเธอสนับสนุนการหารือโดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขใดๆ ล่วงหน้า และเธอยังมีสุขภาพที่ดีทั้งในแง่ของร่างกายและจิตใจ

“การเยือนที่เกิดขึ้นเน้นถึงเงื่อนไขที่จำเป็นที่สำคัญที่สุดในความพยายามสร้างสันติภาพนั่นคือความไว้วางใจ และความไว้วางใจเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างมันขึ้นมา ความพยายามใดๆ ที่จะนำ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ทั้งหมดมารวมกันในการเจรจาโดยปราศจากความไว้วางใจ เมื่อขาดความไว้วางใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมันอาจจะดำรงอยู่ได้ไม่นาน และกระบวนการสันติภาพอาจไม่มีวันเกิดขึ้นจริง” นายดอนกล่าว

นัยแห่งการพบปะของนายดอนกับซูจีไม่ได้มีความสำคัญเพียงเพราะนี่คือครั้งแรกที่มีผู้แทนจากต่างประเทศได้พบกับซูจีเท่านั้น แต่มันยังเป็นการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ของการเริ่มต้น “กระบวนการสันติภาพ” ครั้งใหม่ของเมียนมา หากว่าซูจี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของ 2 ขั้วความขัดแย้งระหว่างผู้นำพลเรือนและผู้นำทหาร ตามข้อสังเกตของนายดอน สนับสนุนการหารือเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่ยืดเยื้อในเมียนมา แต่แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและยังคงต้องใช้เวลาเพื่อทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง

Advertisement

ปรากฎการณ์แห่งการพบกับซูจียังนำมาซึ่งแรงกระเพื่อมหนักในอาเซียนเอง ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการกดดันและโดดเดี่ยวรัฐบาลทหาร กับฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการเจรจาพูดคุยเพราะเชื่อว่าปัญหาใดๆ จะหาทางแก้ไขไม่ได้หากไม่มีการพูดคุยกัน โดยฝ่ายแรกมองว่าการที่เมียนมายอมให้นายดอนพบกับซูจีเป็นเพราะเมียนมากำลังตกระกำลำบากและพ่ายแพ้ต่อแรงกดดันที่เจอ สิ่งสำคัญคือต้องเดินหน้ากดดันและโดดเดี่ยวเมียนมาอย่างต่อเนื่องต่อไป ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการเจรจามองว่านี่คือพัฒนาการด้านบวก และอาเซียนควรต้องสานต่อและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นนี้ให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นเช่นกันว่า ความพยายามของไทยที่ยังคงเปิดช่องทางในการพูดคุยกับเมียนมาตลอดมา ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการพบกันระหว่างนายดอนและซูจีขึ้น แม้จะยังไม่รู้ว่าอาเซียนภายใต้การเป็นประธานของอินโดนีเซียจะสานต่อเรื่องดังกล่าวหรือไม่ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อินโดนีเซียไม่พอใจ เพราะอาจจะเข้าใจไปว่านายดอนพยายามเล่นบทบาทเกินหน้าเกินตาประธานอาเซียน

ขณะที่ฝ่ายไทยก็ยืนยันว่าการดำเนินการต่างๆ ในกรณีเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มเพื่อนเมียนมาที่พัทยา ซึ่งถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 หรือการหารือแทรค 1.5 ที่จัดขึ้นควบคู่กันไปนั้น เป็นความพยายามที่จะเสริมการทำงานของอาเซียน และเป็นไปตามข้อมติของที่ประชุมผู้นำอาเซียนที่กัมพูชาในปี 2565 ที่ระบุว่า อาเซียนจะพิจารณาและหาแนวทางอื่นๆ ที่สามารถช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อนั่นเอง

ท่ามกลางความขัดแย้งในความคิดของชาติสมาชิกอาเซียนต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาดังกล่าว ก็ปรากฎข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า นายดอนอาจไม่ได้พบกับซูจีจริง เพราะไม่มีภาพถ่ายของการพบปะหรือมีการออกเอกสารร่วมใดๆ ซึ่งผุดขึ้นครั้งแรกโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (NUG) และยังมีการกล่าวอ้างถึงจากบางประเทศในอาเซียนเองอีกด้วย

การที่ NUG จะตั้งข้อสงสัยเช่นนี้เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ เพราะตลอดเวลานับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมา NUG ได้ตั้งตนเป็นรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของ NLD การที่ซูจีได้พบกับผู้แทนต่างชาติโดยตรงย่อมจะเป็นการลดทอนความสำคัญของ NUG ลง ยิ่งหากเรื่องที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นการเปิดประตูไปสู่การเจรจาโดยตรงของผู้นำพลเรือน แน่นอนว่าไม่มีใครจะให้น้ำหนักกับผู้ใดในฐานะผู้นำพลเรือนเมียนมามากไปกว่า The Lady อย่างแน่นอน

กระนั้นก็ดี การที่ชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศมาตั้งข้อสงสัยในคำกล่าวของนายดอนนั้นย่อมไม่ได้มาจากเหตุผลเช่นนั้น แต่เป็นการสะท้อนถึงความแตกแยกร้าวลึกภายในอาเซียนเองอย่างแท้จริง

เกิดเหตุวุ่นวายมากมายในการยกร่างแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุม AMM อันเป็นผลมาจากความแตกแยกนี้ กว่าที่ถ้อยแถลงในส่วนของพัฒนาการในเมียนมาจะปรากฎออกมาอย่างที่เห็น จนทำให้คิดว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่การเจรจาระหว่างนายดอนกับนางซูจีอาจไม่ได้รับการสานต่อ ไม่ว่าจะมาจากข้อเท็จจริงที่เมียนมาไม่เคยยินยอมให้รัฐมนตรีอินโดนีเซียได้เดินทางไปเยือนนับตั้งแต่เกิดเหตุยึดอำนาจ หรือจะมาจากการที่รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยกำลังจะพ้นตำแหน่งในไม่ช้า และยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะมีท่าทีต่อเมียนมาอย่างไร

หลังเกิดดราม่าต่อกรณีที่ว่านายดอนได้พบกับซูจีจริงหรือไม่ เดอะโกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมา สื่อทางการเมียนมาได้รายงานยืนยันการพบปะดังกล่าว โดยอ้างนายซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาที่บอกด้วยว่าการพบปะที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างอิสระ เพื่อที่ทั้งสองจะได้พูดคุยกันในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างเปิดเผย และรัฐบาลทหารเมียนมาเองก็ไม่ทราบรายละเอียดที่ทั้งคู่ได้หารือกัน

เมื่อได้พูดคุยถึงปรากฎการณ์เมียนมาในที่ประชุม AMM ครั้งนี้กับกัลยาณมิตรผู้เป็นอดีตเอกอัครราชทูตและเป็นผู้คร่ำหวอดกับอาเซียนมือต้นๆ คนหนึ่ง ก็ได้ข้อสรุปสั้นๆ แต่ตอบทุกคำถามว่า อาเซียนก็เป็น “Diplomacy of Envy” แบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร

เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image