US-Thai Alliance Caucus ความสำเร็จของทูตไทยประจำสหรัฐ

US-Thai Alliance Caucus
ความสำเร็จของทูตไทยประจำสหรัฐ

หมายเหตุ “มติชน” นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ถึงการเยือนไทยของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรไทย-สหรัฐ หรือ US-Thai Alliance Caucus ในสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก รวมถึงงานต่างๆ ที่ผลักดันในระหว่างดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ธานี แสงรัตน์

๐การเยือนไทยของส.ส.สหรัฐจากคณะกรรมาธิการ Ways and Means ที่รับผิดชอบประเด็นเศรษฐกิจการค้าการลงทุน การเจรจาเขตการค้าเสรี การเก็บภาษี ฯลฯ มีความสำคัญอย่างไร ได้ไปพบกับใครบ้าง และเป็นประโยชน์อย่างไร

คณะส.ส.ที่มาทั้งหมด 8 คน นำโดย ส.ส.เจสัน สมิธ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการ Ways and Means กมธ.นี้มีบทบาทสำคัญเรื่องการค้าการลงทุน เน้นเรืองการเจรจาการค้า การเปิดการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในส่วนของสภา เรื่องเพดานหนี้ในประเทศ การเก็บภาษี ภาษีศุลกากร ถือเป็นคณะกรรมการที่ทรงอิทธิพลมาก ได้มีการพูดคุยหลายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ในภาพรวม เขาอยากเห็นความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งมากขึ้น เพราะหากเปรียบกับประเทศอื่น คิดว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐยังน่าจะเข้มแข็งขึ้นได้ ในแง่การค้าเขาอยากเป็นเบอร์ 1 ในการค้ากับไทย ตอนนี้เราส่งออกไปสหรัฐเป็นอันดับ 1 จีนญี่ปุ่นรองลงมา แต่การนำเข้าการลงทุนยังไม่ใช่ เขาอยากผลักดันให้มีการเพิ่มผลประโยชน์การค้าการลงทุนให้มากขึ้น

Advertisement

ขณะนี้มูลค่าการลงทุนของไทยใน 27 รัฐของสหรัฐอยู่ที่ 14,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงเรื่องพลังงานโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ในรัฐเท็กซัสมีบริษัทพลังงานไทยไปลงทุนหลายบริษัท ที่สำคัญคือบ้านปู เขาเป็นผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติรายใหญ่่ที่สุดในรัฐเท็กซัส นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และแปรรูปอาหาร มีการจ้างงานในสหรัฐ 6 หมื่นกว่าตำแหน่ง เพียงแค่บริษัทเรดล็อบสเตอร์ของไทยยูเนียนอย่างเดียวก็มีการจ้างงานในสหรัฐถึง 4 หมื่นคน ส่วนที่มีการลงทุนอันดับ 1 คือบริษัทอินโดรามา

ส.ส.สหรัฐได้ถามเรื่องการเมืองไทย ซึ่งเราได้ชี้แจ้งไปว่าขณะนี้อยู่ในกระบวนการรัฐสภา อาจใช้เวลานานสักหน่อย แต่เป็นกระบวนการปกติที่กำลังคุยกันอยู่ และมีการสอบถามเรื่องสถานการณ์ในเมียนมานิดหน่อย ซึ่งได้บอกไปว่าเราพยายามสนับสนุนให้มีการเจรจากับทุกฝ่าย เรามีเป้าหมายเดียวกับสหรัฐ คืออยากเห็นสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นนคงในเมียนมา ขณะที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย บอกว่า เรามีปัญหาข้ามพรมแดนค่อนข้างมากจึงต้องบริหารจัดการให้ดี

ขณะเดียวกันก็มีการพบปะกับภาคเอกชนไทย ตั้งแต่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าอเมริกันในไทย (AMCHAM) และสื่อมวลชน ซึ่ง คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย ก็มาด้วยตัวเอง บริษัทต่างๆ ของไทยก็มานำเสนอธุรกิจของเขา เล่าให้ฟังว่าเขาทำอะไรบ้างในสหรัฐ เช่นเดียวกับบริษัทอเมริกันที่มาลงทุนในไทย ทั้งยังได้หารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในประเด็นความร่วมมือด้านการบริหารการคลัง ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันอีกด้วย

Advertisement

ระหว่างนี้มีคณะ กมธ.มาไทย 3 คณะ เพราะเป็นช่วงหยุดของรัฐสภา นอกจากคณะนี้แล้วก็จะมีคณะของ ส.ว.แทมมี่ ดักเวิร์ธ จากรัฐอิลลินอย และ ส.ส.ยัง คิม จากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งการเยือนทั้งหมดนี้เป็นโอกาสให้ทุกท่านได้รู้จักเรามากขึ้น เมื่อได้ทราบและมีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย การเมืองไทย ก็จะเข้าใจประเทศไทยมากขึ้นว่าสถานการณ์ของเราเป็นอย่างไร ตัวเลขเศรษฐกิจเราเป็นอย่างไร เป้าหมายของเราคืออะไร การลงทุนของไทยในสหรัฐเป็นอย่างไร การที่เขาเลือกจะเดินทางมาก็ถือว่าให้ความสำคัญกับประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญบนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๐ได้ทราบว่าสถานทูตได้เสนอให้ตั้งกลุ่มพันธมิตรไทย-สหรัฐ หรือ US-Thai Alliance Caucus สำเร็จเป็นครั้งแรก หลังเคยมี Friends of Thailand Caucus เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว อยากทราบว่าการตั้งกลุ่มพันธมิตรเช่นนี้ในคองเกรสมีความสำคัญอย่างไร

US-Thai Alliance Caucus หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่าคอคัส ตั้งขึ้นเพื่อให้มีเวทีในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความร่วมมือ ของกลุ่มพันธมิตรไทย-สหรัฐในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดย ส.ส.มิเชล สตีล จากพรรครีพับลิกัน ที่ร่วมเดินทางมากับ กมธ. Ways and Means เป็นประธานร่วมของคอคัสดังกล่าว ร่วมกับ ส.ส.สก็อต ปีเตอร์ จากพรรคเดโมเครต ซึ่งในโอกาสนี้ท่านดอนได้มอบ Certificate of Appreciation เพื่อแสดงความขอบคุณส.ส.สตีลอีกด้วย ขณะนี้มีส.ส.ที่เข้าร่วมในกลุ่มคอคัสนี้ร่วม 20 คน และกำลังเปิดรับเพิ่มโดยเน้นไปที่สมาชิกที่เขตของเขามีการลงทุนของไทย มีการค้ากับไทย หรือมีชุมชนไทยอยู่หนาแน่น ก็จะพยายามเชิญให้เข้ามาร่วมให้ได้มากที่สุด

ในอาเซียนประเทศที่มีคอคัสในคองเกรสนอกจากไทยก็มีสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ กลุ่มคอคัสนี้มีอายุ 2 ปี เมื่อมีสภาใหม่ก็ต้องทำการจดทะเบียนกลุ่มขึ้นใหม่ทุกครั้ง ไม่อย่างนั้นคอคัสดังกล่าวก็จะหายไป คอคัสเป็นกลไกช่วยเราขับเคลื่อนการทำงานได้ แทนที่จะวิ่งไปตามกมธ.หรือส.ส.ต่างๆ แต่สามารถขอให้คอคัสช่วยจัดเวทีหารือในเรื่องนี้ และคอคัสจะมีในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

การรวมตัวส.ส.ในการตั้งคอคัสมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย-สหรัฐ คนที่รับหน้าที่ขับเคลื่อนหลักก็คือสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน เราเสนอให้ตั้งคอคัสขึ้นมา หากมีเรื่องอะไรก็ให้มาคุยกันในคอคัสนี้ ใช้เป็นเวทีในการนำเสนอท่าทีของเรารวมถึงการดูแลผลประโยชน์ซึ่งจะครอบคลุมทุกเรื่องในความสัมพันธ์ โดยจะมีการจัดกิจกรรม Thailand on The Hill ในเดือนกันยายนนี้ มีการจัดกิจกรรมที่สภาคองเกรส รวมถึงการจัดเสวนา มีเวทีเรื่องสำคัญใดๆ เราก็จะขอให้เขาช่วยในกลุ่มนี้ ประเทศใหญ่ๆ มีคอคัสแบบนี้ในสภาคองเกรสทั้งหมด

คอคัสก็เหมือนกลุ่มมิตรภาพของรัฐสภาไทย แต่คอคัสในรัฐสภาสหรัฐไม่ได้มีเฉพาะในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศเท่านั้น แต่ตั้งขึ้นมาตามกลุ่มผลประโยชน์ที่ส.ส.เขาให้ความสำคัญ เช่น บีฟคอคัสของรัฐเกษตรกรรมที่ให้ความสนใจเรื่องปศุสัตว์ ของไทยเคยมีกลุ่ม Friends of Thailand Caucus ตั้งในสมัยท่านดอนเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐในปี 2010 แต่พอเปลี่ยนสมาชิกรัฐสภาไปก็ไม่ได้สานต่อ

๐หลังไปรับหน้าที่ได้ระยะหนึ่งแล้ว สิ่งที่ท่านทูตพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐคืออะไร และมีความคืบหน้าไปแค่ไหน

มี 3-4 เรื่อง เรื่องแรกที่ผลักดันสำเร็จคือการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงค์) ที่มีกำหนดไปจัดประชุมที่ประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากมีผู้มาบอกว่าอยากสนับสนุนให้กรุงเทพเป็นสถานที่จัดประชุมในปี 2026 ก็ได้ไปช่วยล็อบบี้และนำเสนอผลงานที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคที่ศูนย์สิริกิติ์ว่าเป็นอย่างไร โครงสร้างพื้นฐานเราดีอย่างไร รวมถึงนำข้อมูลต่างๆ จากบีโอไอไปนำเสนอจนประสบความสำเร็จ

เรื่องที่ 2 คือการจัดเทศกาลไทย สวัสดี ดี.ซี. ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม เป็นงานกลางแจ้ง มี คุณบัวขาว บัญชาเมฆ วงดนตรีแจ็สจากนิวออร์ลีนส์ วงโฟร์มิกส์ น้องแอลลี่ อชิรญา นิติพน ครูช่าง ท็อดด์ ทองดี มีการแสดงจากวัดในดี.ซี. แมริแลนด์ เวอร์จีเนีย จากชุมชนไทยทั่วสหรัฐร่วมแสดง มีคนมาร่วมงาน 3-4 หมื่นคน เป็นครั้งแรกที่เราจัดงานที่เนชันแนลมอลของวอชิงตัน แม้จะเป็นการจัดงานเพียงวันเดียวแต่ก็น่าจะใหญ่ที่สุดเท่าที่สถานทูตเคยจัด เราได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงและภาคเอกชน และยังได้รับความร่วมมือจากชุมชนไทยทั่วสหรัฐที่มาช่วยงานแบบต่างคนต่างมากันเอง ไม่ว่าจะในดี.ซี. แมรีแลนด์ เวอร์จิเนีย มินนิโซตา และฟลอริดาที่เอาผลไม้ไทยมาเสริมเพิ่มเติมให้ คนมาเยอะ ตัวช่วยเยอะ และทีมงานเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าส้มโอมายังสหรัฐเป็นครั้งแรกซึ่งเราก็พยายามจะขยายให้กลายเป็นการนำเข้าแบบปกติต่อไป และขณะนี้เราก็ได้จองที่จัดงานเทศกาลไทย สวัสดี ดี.ซี. ในปีหน้าเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านั้นในวันที่ 30 มิถุนายน ก็มีการจัดงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งมี นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐพร้อมด้วยภริยา ผู้ช่วยประธานาธิบดีสหรัฐด้านเอเชียแปซิฟิก และปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ มาร่วมงานด้วย

เรื่องที่ 3 คือการจัดตั้งคอคัส และเรื่องที่ 4 คือการฉลอง 190 ปีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐด้วย โดยปีนี้จะมีการจัดสัมมนา 3 ครั้ง ที่จัดไปแล้วคือภาพรวมการเมืองความมั่นคงและการเป็นพันธมิตรระหว่างกัน จากนี้จะจัดอีก 2 ครั้ง เรื่องเศรษฐกิจ ความยั่งยืน และความสัมพันธ์ประชาชนต่อประชาชน

๐มองว่าอะไรคือความท้าทายในความสัมพันธ์ของสองประเทศในปัจจุบัน

ความท้าทายคือการต่างประเทศของไทย นโยบายการเมืองการต่างประเทศไทยต่อยอดมาจากพัฒนาการในประเทศ ถ้าประเทศไทยมีความเข้มแข็ง การต่างประเทศก็จะสะท้อนตรงนั้นออกมา และอีกอย่างหนึ่งคือต้องเข้าใจว่าเวทีการต่างประเทศไทยในดี.ซี. มันเป็นเวทีระดับโลก สหรัฐมีผลประโยชน์อยู่ทั่วโลก มีความสัมพันธ์กับ 100-200 ประเทศอย่างกว้างขวาง สมาธิและความสนใจของใจต่อประเทศใดมันไม่ง่าย ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้เราดึงดูดความสนใจของผู้กำหนดนโยบายในสหรัฐ ความสำคัญและความสนใจที่เขาให้กับเราก็ขึ้นกับเราเองด้วยว่า เมื่อไทยเป็นคู่ค้าคู่ลงทุนที่มีศักยภาพมีความน่าสนใจเขาก็จะให้ความสนใจ

ถ้าเราสามารถบริหารจัดการในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็จะเป็นที่สนใจในเวทีโลก สถานทูตก็จะสามารถนำเสนอประเทศไทยไดอย่างน่าสนใจมากขึ้นกับฝ่ายสหรัฐ มันเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่ก็ต้องพยายามกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image