ทูตไทยประจำยูเอ็นมอง ประเด็นร้อนใน UNGA78 และภารกิจ 4 วันของนายกฯเศรษฐา

ทูตไทยประจำยูเอ็นมอง
ประเด็นร้อนใน UNGA78
และภารกิจ4วันของนายกฯเศรษฐา

หมายเหตุ “มติชน” – นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ณ นครนิวยอร์ก บอกเล่าถึงภารกิจ 4 วันในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทิศทางที่กำลังดำเนินไปในยูเอ็นเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี) ประเด็นที่โลกให้ความสำคัญในปัจจุบัน และการวางเป้าหมายสำหรับอนาคต เพื่อผลประโยชน์สำหรับทุกคนบนโลกใบนี้

กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (ยูเอ็นจีเอ) ครั้งที่ 78

ปีนี้การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (ยูเอ็นจีเอ) ครั้งที่ 78 นอกจากการกล่าวถ้อยแถลงของท่านนายกฯ ในกรอบจีเอแล้ว ยังเป็นการประชุมที่มีการจัดหารือของผู้นำระดับสูงคู่ขนานกันมากที่สุดครั้งหนึ่ง ตั้งแต่การประชุมสุดยอดด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี ซัมมิท) การประชุมเพื่อเร่งรัดการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) การประชุมระดับสูงว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (High-level Dialogue on Financial for Development) มีการประชุมเตรียมการ Summit of the Future เตรียมการด้านสาธารณสุข 3 เวทีเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) การเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาด (PPPR) และการต่อสู้กับวัณโรค (TB)

ประเด็นหลักในการประชุมครั้งนี้เน้นการส่งเสริมเอสดีจี ไม่ใช่เพื่อตัวเอสดีจีเองเท่านั้น แต่ยังมีหลายๆ ประเด็นที่สำคัญรวมกัน เพื่อสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า และความยั่งยืนให้กับทุกคน ถือว่าเป็นการประชุมจีเอที่สำคัญ ทุกประเทศรวมถึงเลขาธิการยูเอ็นบอกว่าเอสดีจีกำลังอยู่ในสถานะวิกฤตและอยู่ใน ICU ซึ่งผมเคยพูดในที่ประชุมเตรียมการว่าเราก็ต้องปั๊มหัวใจ (CPR) แล้ว ขณะนี้ทุกคนเห็นความสำคัญ ปัญหาคือทำอย่างไรให้สามารถบรรลุเอสดีจีได้

Advertisement

ตอนนี้มาได้ครึ่งทางของเอสดีจีแล้ว ตัวเลขการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานจากยูเอ็นและเลขาธิการที่เผยแพร่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาระบุว่า ขณะนี้มีเป้าหมายเอสดีจีแค่ 12% ที่ไปได้ตามเป้า 30% ของเป้าหมายเอสดีจีถือว่าถดถอย ภายในปี 2030 ซึ่งตั้งเป้าหมายไม่ให้มีความยากจน ผู้คน 575 ล้านคนยังอยู่ในสถานะยากจนสุดขีด ช่องว่างระหว่างเพศต้องใช้เวลาอีก 286 ปีกว่าจะเท่าเทียมกัน ภายในปี 2030 จะมีเด็กในโลก 300 ล้านคนที่อ่านเขียนไม่ได้ และ 660 ล้านคนจะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ นี่เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่ง ซึ่งประเมินจากแนวโน้มว่ามันจะแย่ ปีนี้จุดเน้นจึงเป็นเรื่องของการกระตุ้นเป้าหมายเอสดีจี ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะปีนี้ แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 2030

กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

แน่นอนการทำเอสดีจีต้องทำเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่อง Peace หรือ People แต่เป็นเรื่องของ Planet ด้วยหรือ 3 P เพื่ออนาคตร่วมกัน เพราะปีหน้าจะเป็นปีของการกำหนดอนาคตของยูเอ็น เลขาฯยูเอ็นมีไอเดียว่าปีหน้าจะเป็นการประชุม Summit of the Future เพื่อดูว่าจากปัญหาที่มีเราจะวางแนวทางแก้ไขต่อไปอย่างไรในอนาคต ซึ่งมีหลายมิติ แน่นอนว่าอนาคตต้องมีสันติภาพ แต่มันไม่พอ มันต้องมีระบบอะไรที่ยั่งยืน อย่างระบบการเงินใหม่ที่ยูเอ็นกำลังผลักดัน บางประเทศยังอาจไม่พร้อม เพราะกลไกคือการขับเคลื่อนกลไกทางการเงินควบคุมโดยไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลก และประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก เลขาฯยูเอ็นเรียกร้องว่าต้องมีการปฎิรูปเพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศเกื้อกูลต่อการบรรลุเอสดีจี

ธนาคารโลกเคยออกรายงานมาเมื่อครึ่งปีที่แล้วว่า เงินที่ธนาคารโลกนำไปใช้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาตอนที่เกิดโควิดตลอด 2 ปีที่มีโรคระบาด ยังน้อยกว่า 6 เดือนแรกของเงินที่เอาไปช่วยหลังเกิดการสู้รบในยูเครน ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การเงินในอนาคตมันจึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องมีการปฏิรูปอะไรใหม่ๆ เช่นที่มอง 2 อย่างที่ยูเอ็นจะให้ความสำคัญ ซึ่งเราก็ต้องเตรียมความพร้อมคือ

Advertisement

1. ทำอย่างไรที่จะแก้ไขปัญหาเรื่อง digitalization แน่นอนเราต้องใช้มันมากขึ้น แต่ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น มีแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า Global Digital Compact ซึ่งเป็นหลักการความร่วมมือด้านดิจิทัล ไทยมองเป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมว่าหัวใจอันหนึ่งคือทำอย่างไรจะลดช่องว่างด้านดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่แค่การลดช่องว่างระหว่างประเทศ แต่ละประเทศก็ต้องดูภายในของตนเองด้วย

2. อีกเรื่องที่สำคัญคือ Just Energy Transition คือทำอย่างไรให้การใช้พลังงานมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเลขาฯเน้นเป็นพิเศษ แต่ยังมีอีกหลายเรื่อง ไทยเน้นเรื่องสาธารณสุข เพราะเห็นว่าอนาคตจะไม่มีประโยชน์ถ้าคนไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันและเยียวยา นี่คืออนาคต ซึ่งแน่นอนว่าอนาคตต้องขึ้นกับสันติภาพ เลขาฯยูเอ็นมองว่าควรต้องมี new agenda for peace ซึ่งก็มีคนตีความไปหลายอย่าง

ไทยตีความว่ามันต้องตั้งบนพื้นฐานของความมั่นคงของมนุษย์ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างแท้จริง การสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน การเคารพซึ่งกันและกัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแก้ไขปัญหาผ่านวิธีการทางการทูต ไม่ใช่มีการยึดทฤษฎีดุลอำนาจ (Balance of Power) กันอย่างนี้ ยูเอ็นต้องกลับมาเล่นบทบาทนี้ ไม่ใช่เวทีที่จะมาแบ่งเป็นฝักฝ่าย และใช้เป็นเวทีที่จะกดดันซึ่งกันและกัน แต่น่าจะเป็นเวทีที่ช่วยส่งเสริมการทูตเชิงป้องกัน และด้านมนุษยธรรมที่คนที่เดือดร้อนต้องได้รับความช่วยเหลือ นี่คืออนาคต มีแนวคิดต้องทำ pact of the future เหมือนปฏิญญาร่วมกันว่าเราจะต้องทำอะไรร่วมกันเพื่อให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นและปลอดภัยขึ้น

ดังนั้น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนอนาคตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มันต้องเกื้อกูลกัน ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เน้นเอสดีจี ส่วนประเทศพัฒนาแล้วจะเน้น Summit of the Future เพราะมองว่าอาจเป็นการช่วยเขียนกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยเรื่องมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล การปกครอง การบริหารจัดการ การใช้ลิขสิทธิ์ในเรื่องต่างๆ ดิจิทัล หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เรามองว่าสองเรื่องนี้มันสามารถเกื้อกูลกันได้ ไม่จำเป็นต้องมองว่าเรื่องหนึ่งเป็นประเด็นของประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่อีกเรื่องเป็นประเด็นของประเทศตะวันตก นั่นทำให้ทำไมยูเอ็นจีเอครั้งนี้ค่อนข้างพิเศษ และบวกกับเรื่องการเปลี่ยแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก็เป็นประเด็นมาตลอด

๐การมีส่วนร่วมของไทยในเวทีต่างๆ เป็นอย่างไร

ไทยได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมระดับสูงทุกอัน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมในทุกซัมมิท เพราะมันมีสมาชิก 193 ประเทศ อย่างไรก็ไม่มีทางพอ อย่าง เวทีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็มีแค่ 38 ประเทศที่ได้รับเชิญ เวทีว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนาก็เช่นเดียวกันที่ไม่ได้รับเชิญทุกประเทศ นี่เป็นตัวอย่าง

เข้าร่วมการประชุมเพื่อเร่งรัดการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฉะนั้นในส่วนของประเทศไทยก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เราได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมทุกการประชุมซึ่งมีความสำคัญ เพราะเราจะได้แถลงถึงมุมมอง ท่าที แนวคิด และวิสัยทัศน์ของเราในด้านต่างๆ

ปีนี้เอสดีจีอยู่ในไอซียูเราต้องมาช่วยกันปั๊มหัวใจ มันเจอโรคระบาด เจอสถานการณ์ในยูเครนที่ทำให้เรื่องความร่วมมือต่างๆ มีปัญหาจากการเผชิญหน้าซึ่งทำให้ความร่วมมือมันช้าลง เกิดวิกฤตด้านพลังงานและอาหารตามมา นั่นจึงเป็นเหตุให้ทำไมครั้งนี้มันสำคัญ และไทยสามารถขึ้นกล่าวได้ในทุกเวที

ในเวทีจีเอซึ่งเป็นไฮไลท์ ท่านนายกฯพูดถึงเรื่องการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมของยูเอ็น ว่าเราต้องสนับสนุนสันติภาพที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สิ่งที่เกี่ยวโยงกับทั้งสองเรื่องนี้คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่ไทยเพิ่งประกาศสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน วาระปี 2025-2027 ในฐานะผู้สมัครของอาเซียนด้วย ซึ่งในการงานเปิดตัวมีคนมาให้การสนับสนุน 100 กว่าประเทศ ถือว่าก้าวแรกได้รับความสนใจ และเป็นพื้นฐานที่ดี

ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรมว.กต. ในงานเปิดตัวการสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของไทย ระหว่างการประชุมยูเอ็นจีเอ ครั้งที่ 78

เรายังเสนอกลไลการการเงินสีเขียว Sustainability-linked Bond, Green taxonomy และระบบเกษตรใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มผลการผลิต ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานที่เราจะช่วยบรรลุเอสดีจี และเป็นพื้นฐานก้าวแรกสำหรับอนาคตที่ดี ที่จะเริ่มจากก้าวแรกคือ Summit of the Future ในปีหน้า

พูดง่ายๆ คือ ปีนี้เอสดีจีคือการรักษาคำมั่นสัญญานในอดีตที่ยังไม่บรรลุผล ส่วนปีหน้า Summit of the Future คือการวางแผนสำหรับอนาคต แต่ระหว่างปีนี้ถึงปีหน้าก็ต้องทำหลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาปัจจุบัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงให้ดีสำหรับสัญญาที่เคยให้กันไว้ในอดีต และสัญญาถึงสิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคต
ดังนั้นถ้าเราจะมีสัญญาในอนาคตที่ดีและปฏิบัติได้จริง สมเหตุสมผล เราก็ต้องทำสิ่งที่เคยสัญญาไว้ในอดีตเรื่องเอสดีจีให้ได้ด้วย

๐ภาพรวมผลตอบรับนายกฯใหม่ของไทยเป็นอย่างไร

มันสะท้อนให้เห็นจากหลายแง่มุม อย่างแรกที่บอกไปแล้วคือไทยได้รับเชิญให้ไปกล่าวในทุกเวที สองหลายประเทศเข้ามาแสดงความยินดีกับเรา พบเลขาฯยูเอ็นเขาก็ขอบคุณรัฐบาลใหม่ของไทยที่มีบทบาทแข็งขัน และถือว่าท่านนายกฯมาเปิดตัวครั้งแรกในเวทีระหว่างประเทศหลังขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยการมายูเอ็น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

เราได้แสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลใหม่ในเวทีนี้ บวกกับการหารือกับผู้นำอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งมีทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผู้นำหลายท่านก็เข้ามาทักทายท่านนายกฯ และท่านนายกฯก็ได้ทักทายกับผู้นำอีกหลายประเทศเช่นกัน

กล่าวถ้อยแถลงเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบอาเซียน ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน

ขณะเดียวกันยังมีการเปิดตัวในกรอบอาเซียนด้วย โดยเป็นครั้งแรกที่นายกฯไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน ได้มาเปิดกิจกรรมเรื่องความยั่งยืนในภูมิภาคระหว่างการประชุมจีเอ โดยมีประธานาธิบดีติมอร์เลสเต รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดในฐานะประธานอาเซียน และผู้บริหารเอสแคปเข้าร่วม เพื่อเน้นความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับยูเอ็นในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในแง่ของภาคธุริกจ ก็มีการกระตุ้นให้เอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น

๐4วันในนิวยอร์กถือว่าคุ้มค่าหรือไม่

ต้องบอกว่าไม่ค่อยได้นอน ท่านนายกฯเข้าร่วมในการหารืออย่างน้อยก็ 4 มิติ ซึ่งมีทั้งเวทีพหุภาคีคือยูเอ็น การทูตในระดับภูมิภาคคืออาเซียน และการทูตในระดับทวิภาคีที่ได้หารือกับประเทศต่างๆ และการทูตในเชิงเศรษฐกิจที่พยายามชักชวนให้เอกชนสหรัฐมาลงทุนในประเทศไทย ถือเป็นการใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่ามาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image