อ.รัฐศาสตร์ จับสัญญาณศาลโลกสั่ง ‘อิสราเอล’ ยุติการโจมตี มองท่าทีมหาอำนาจ ‘ไม่อยากเห็นสงครามตอนนี้’

อ.รัฐศาสตร์ จับสัญญาณศาลโลกสั่ง ‘อิสราเอล’ ยุติการโจมตี มองท่าทีมหาอำนาจ ‘ไม่อยากเห็นสงครามตอนนี้’

สืบเนื่องจาก ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ซึ่งเป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติ ได้ออกคำสั่งมาตรการฉุกเฉิน โดยสั่งให้อิสราเอลยุติการโจมตีทางทหารในเมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม รศ.ดร.จักรี ไชยพินิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้สัมภาษณ์ต่อ ‘มติชน’ ถึงคำสั่งดังกล่าวว่า ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) มีคำตัดสินให้อิสราเอลยุติปฏิบัติการ และต้องถอนกำลังออกจากเมืองราฟาห์ทันทีแล้วนั้น

หากเรามองย้อนกลับไปมองชนวนเหตุของเรื่องนี้ มันเริ่มจากแอฟริกาใต้ได้ยื่นฟ้องไปที่ศาลโลกว่า พฤติกรรมของอิสราเอล มีกองกำลังหรือกองปฏิบัติการในฉนวนกาซา ก่อให้เกิดความอันตรายต่อปาเลสไตน์ จึงมีผลของการตัดสินที่มันเป็นการตอบรับ สิ่งที่แอฟริกาใต้ได้ยื่นไปก่อนหน้านี้” รศ.ดร.จักรีกล่าว

Advertisement

รศ.ดร.จักรีกล่าวต่อว่า เมื่อมองการตอบรับคำร้อง ซึ่งปกติแล้วคำร้องลักษณะนี้มักจะถูกตีตก แต่ประเด็นครั้งนี้มีความซับซ้อนอยู่มาก เพราะถ้าเราพิจารณาในมุมการเมืองโลกทั่วไปที่เราเรียนกันมา เห็นกันมาในหน้าประวัติศาสตร์ ปกติแล้วสหรัฐฯจะถูกมองว่าเป็นพี่ใหญ่ของอิสราเอล

แฟ้มภาพ รศ.ดร.จักรี ไชยพินิจ

มันมีสัญญาณอันหนึ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติให้อิสราเอลมีความจำเป็นที่จะต้องหยุดยิง ซึ่งความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ ปกติถ้าเราพูดถึง UNSC ที่มีสมาชิกถาวรทั้ง 5 ประเทศ จะมีสิทธิในการคัดค้านที่เรารู้กันกันว่า ‘วีโต’ โดยช่วงเดือนมีนาคมนั้น สหรัฐฯแทนที่จะวีโต แต่เขาเลือกที่จะงดออกเสียง

มันสะท้อนถึงการตีความได้ว่า ประการที่หนึ่ง สหรัฐฯไม่เห็นด้วยกับการโจมตีของอิสราเอลหรือไม่ อาจจะตีความอย่างนั้นก็ได้ หรือ ถ้าไม่ตีความไปสุดโต่งแบบนั้น ก็อาจจะคิดได้ว่าสหรัฐฯก็อยากแสดงให้ประชาโลกเห็นว่า ตัวเองไม่ได้ซับพอร์ต หรือ อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งปกติมันแสดงให้เห็นบทบาทของสหรัฐอยู่ในประเด็นนี้” รศ.ดร.จักรีระบุ

Advertisement
ภาพจาก AFP

รศ.ดร.จักรีกล่าวว่า ตอนนี้ถ้าเราดูก็จะเห็นความพัวพันกันอยู่ 2 เรื่อง ประเด็นแรก คือ ณ วินาทีนี้ไม่รู้จะใช้คำนี้เร็วไปหรือไม่ แต่เรากำลังจะเห็นทิศทาง ‘isolationize Israel’ ที่ประชาคมโลกไม่ค่อยเห็นด้วยกับความรุนแรงในเชิงสงคราม ค่อยๆโดดเดี่ยวออกไปจากอิสราเอลไปเรื่อยๆ

หลังจากศาลโลกมีคำตัดสินออกมาตอนนี้และเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทั้งรัสเซียและจีน สนับสนุนการหยุดยิงมาโดยตลอด สหรัฐฯก็เลือกที่จะไม่วีโต แม้กระทั้งตัว UN ก็เห็นด้วยว่า จะต้องมีมาตรการช่วยเหลืออะไรบางอย่าง ซึ่งท่านเลขาฯยูเอ็นไปไกลถึงขั้นกับบอกว่า ขอเรียกร้องให้เกิดการแทรกแซงด้านมนุษยธรรม เพื่อไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนด้านความอดอยาก ยา อาหาร น้ำ ต้องส่งเข้าไป ฉะนั้นเราจะเห็นทิศทางลมในโลกที่จะได้เห็น isolation Israel มากขึ้นเรื่อยๆ” รศ.ดร.จักรีชี้

รศ.ดร.จักรีกล่าวว่า ประเด็นที่สอง คือ ไม่กี่วันที่ผ่านมาเราเริ่มจะเห็นทิศทางเรื่อง การรับรองสถานะความเป็นรัฐของปาเลสไตน์เกิดขึ้น โดยเฉพาะบทบาทของไอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปน ซึ่งเป็นชาติใหญ่ในตะวันตก ออกมาประกาศชัดเจนเลยว่า เขาจะรับรองสถานะของรัฐปาเลสไตน์ ฉะนั้น เราจะเห็นทิศทางอิสราเอลจะถูกทำให้โดดเดี่ยวมากขึ้น

ประชาคมโลกทราบดีอยู่แล้วว่า คำตัดสินของศาลโลก มีการตัดสินได้แต่ไม่ได้มีสภาพบังคับเหมือนศาลในประเทศที่มีคำตัดสินออกมา แต่ประเด็นสำคัญช่วงที่ผ่านมา คือ อิสราเอลพยายามที่จะสื่อสารกับโลกว่า บทบาทของปาเลสไตล์มีไปในลักษณะของการสร้างความรุนแรง หรือ การก่อให้เกิดความหวาดกลัว เข้าข่ายการเป็นผู้ก่อการร้าย โดยอิสราเอลพยายามที่จะสื่อสารตลอดเวลาว่าการรบในกาซา ฮามาส หรือ ปาเลสไตน์ มันมีลักษณะของสงครามและความขัดแย้งเพื่อปกกันตัวเอง (Self – Defense)” รศ.ดร.จักรีกล่าว

รศ.ดร.จักรีกล่าวอีกว่า แต่ก็มีสัญญาณที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือ ถ้าย้อนกลับไปดูในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตอนนั้นนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลก็เหมือนจะเผยท่าทีว่า จะยอมเจรจาอยู่บ้างถ้าเข้าสู่ช่วงเดือนรอมฎอน แต่อยู่ดีๆก็เกิดการเปลี่ยนแปลง  ก็ไม่ได้มีการเจรจาหยุดยิงแต่อย่างใด และยังมีการขยายปฏิบัติการต่อเนื่องออกไป

ชาวปาเลสไตน์กำลังช่วยกันค้นหาผู้รอดชีวิตหลังถูกอิสราเอลโจมตีทางอากาศถล่มใส่ในเมืองอัล-ดาราจ ใกล้กับนครกาซา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม (เอเอฟพี)

รศ.ดร.จักรีกล่าวต่อไปว่า แม้กระบวนการตอนนี้ที่มีการสั่งหยุดยิงเกิดขึ้น แต่มันจะสามารถระงับเหตุได้ในระยะสั้น ถ้ามองระยะยาวมันขึ้นอยู่กับว่า 1. ตราบใดที่อิสราเอลยังมีมาตรการ ท่าที แนวโน้มแบบนี้ แล้วท่าทีของประชาคมโลกจะเอาอย่างไรต่อไป 2.โลกมุสลิมปัจจุบันที่เราเห็นเอกภาพที่ชัดเจนขึ้น จะมีบทบาทต่อเรื่องนี้อย่างไร และ 3. เราเห็นตัวแปรที่มีบทบาทอย่างมากโดยเฉพาะอิหร่าน มีท่าทีที่ชัดเจนในการเข้าข้างฝ่ายฮามาส หรือ ปาเลสไตล์ในปัจจุบันด้วย

ปัจจัยดังกล่าวต้องถูกเอามาคำนวณถึงการคาดการณ์ในอนาคตว่า มันจะคลี่คลายไปในลักษณะใดด้วย คือ ถ้าประชาคมโลกแข็ง หรือ ประเทศมหาอำนาจในโลกเข้มแข็ง รวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้น มันก็จะปฏิเสธไม่ได้ว่าอิสราเอลจะต้องอ่อนลง แต่ถ้าประชาคนโลกและมหาอำนาจในภูมิภาคอ่อนลง ยังหลวม ไม่มีความชัดเจน มันก็จะทำให้อิสราเอลมีอำนาจต่อรองอย่างนี้ไปเรื่อยๆ” รศ.ดร.จักรีชี้

รศ.ดร.จักรีกล่าวว่า ปัจจุบันถ้าเราดูความขัดแย้งบนพื้นที่ภูมิรัฐศาสตร์โลก หลายคนก็จะโฟกัสที่รัสเซียกับยูเครน หรือ นึกถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในตะวันออกกลาง แต่สองพื้นที่นี้ก็ยังคงเกิดขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งอื่นในโลกที่กำลังคุกรุ่น และพร้อมที่จะระเบิดอย่างนี้มาเรื่อยๆ

พื้นที่คาบสมุทรเกาหลี ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนใต้ หรือ แม้กระทั่งพื้นที่ใกล้บ้านเรา ที่มีความขัดแย้งกันในพม่า ก็มีอีกหลายพื้นที่ที่พร้อมจะปะทุขึ้นมากันตลอดเวลา คิดว่าสัญญาณอันหนึ่งที่หลายตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจโลก คือ ไม่อยากเห็นสงครามตอนนี้

ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสหรัฐฯเลือกที่จะยังไม่วีโต หรือ ทำไมรัสเซีย กับ จีน ยังคงซับพอร์ตการเหตุยิง เพราะปัจจุบันมันเป็นการระงับสถานการณ์ได้เพียงระยะสั้น แต่ระยะยาวคิดว่าอาจจะเป็นชนวนเหตุอย่างหนึ่งที่ขยายใหญ่โตขึ้นสู่การเป็นสงครามระดับภูมิภาคได้” รศ.ดร.จักรีทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image