คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ส่องค่ายซ้อมนักฮอกกี้น้ำแข็งหญิงเกาหลี

เอเอฟพี

“พยองชาง เกมส์” การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปีนี้ที่เกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในต้นเดือนหน้า เป็นสิ่งที่น่าจับตาสำหรับประชาคมโลก เพราะเกาหลีเหนือ ชาติคู่ปรับของเกาหลีใต้ ยอมเบรกความสัมพันธ์ตึงเครียด มาเข้าร่วมในงานมหกรรมกีฬาระดับโลกครั้งนี้ด้วย โดยส่งทีมนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเกาหลีเหนือ 12 คน เข้าร่วมแข่งเป็นทีมเดียวกันกับนักฮอกกี้น้ำแข็งเกาหลีใต้ 23 คน นับเป็นสัญญาณบวกต่อบรรยากาศบนคาบสมุทรเกาหลีที่ร้อนระอุมาอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่ภายใต้บรรยากาศที่ดูเหมือนจะดีขึ้น ก็ยังคงมีปัญหาขลุกขลักท้าทายหลายอย่างระหว่างสองเกาหลี หนึ่งในนั้นคือ ความแตกต่างด้านภาษา ที่นักฮอกกี้น้ำแข็งของทั้งสองชาติประสบพบเจอ โดยแม้ทั้งสองเกาหลีจะใช้ระบบการเขียนเหมือนกันคือ อักษรฮันกึล ซึ่งเป็นอักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นในช่วงศวตรรษที่ 15 เพื่อมาใช้แทนอักษรจีนที่ชาวเกาหลีโบราณเคยใช้ แต่นับจากตัดขาดจากกันเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน หลังสงครามเกาหลีช่วงปี 1950-1953 ชาวเกาหลีเหนือและใต้ต่างก็มีวิถีการดำเนินชีวิตที่มีพัฒนาการแตกต่างกันไป นั่นรวมถึงการใช้ภาษา

คำหลายคำโดยเฉพาะคำที่เป็นศัพท์เทคนิคเฉพาะ ที่คนเกาหลีใต้ใช้พูดสื่อสารกัน ก็อาจเป็นการใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปเลย ในขณะที่คนเกาหลีเหนือจะสร้างคำของตนเองขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นคำว่า สเก็ตติ้ง ที่คนเกาหลีใต้ใช้ภาษาอังกฤษทับศัพท์แบบสำเนียงเกาหลี แต่คนเกาหลีเหนือเรียกสเก็ตติ้งว่า อาพุโรชิชิจี เป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาเล็กๆน้อยที่นักฮอกกี้น้ำแข็งของทั้งสองชาติเผชิญและต้องเรียนรู้ปรับตัวกันไปในระหว่างการฝึกซ้อมร่วมกันเป็นครั้งแรกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

จากรายงานข่าวบอกว่าในการหาทางออกในเรื่องนี้ ทางสมาคมฮอกกี้น้ำแข็งเกาหลี(เคไอเอชเอ)ของเกาหลีใต้ได้ทำการรวบรวมคำศัพท์ที่ใช้แตกต่างกันออกมา แล้วแจกจ่ายให้นักกีฬาของทั้งสองชาติได้ศึกษาทำความเข้าใจเพื่อช่วยให้การสื่อสารเป็นที่เข้าใจตรงกัน นอกเหนือไปจากนักกีฬาของทั้งสองชาติจะต้องปรับตัวเรียนรู้เทคนิคการเล่นให้เข้าขากันแล้ว

Advertisement

รายงานข่าวยังบอกอีกว่าบรรยากาศการฝึกซ้อมร่วมกันเป็นครั้งแรกของนักฮอกกี้น้ำแข็งหญิงทั้งสองชาติเต็มไปด้วยความจริงจังแต่เป็นมิตร ที่ทีมนักกีฬาเกาหลีเหนือยังแสดงให้เห็นถึงการมีสมาธิมุ่งมั่นดีเยี่ยมและเปี่ยมไปด้วยสปิริตแห่งการต่อสู้

ส่วนในเกมการแข่งขันเมื่อลงสนามจริง ผลของการร่วมแข่งเป็นทีมเดียวกันภายใต้ผืนธงคาบสมุทรเกาหลีของนักฮอกกี้น้ำแข็งหญิงทั้งสองชาติจะออกมาเช่นไร ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เชื่อว่าไม่สำคัญเท่ากับว่าจะช่วยปรับปรุงบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติให้ดีขึ้นได้หรือไม่ภายใต้ยุทธศาสตร์การทูตกีฬา ที่คนทั้งโลกก็ลุ้นกันอยู่จนตัวโก่ง…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image