เปิดประตูสู่ภาคตะวันออก สถาบันอาหารจัดใหญ่ “Thai Taste Expo 2018” ชูเสน่ห์ “อาหารไทย” มัดใจ CLMV

(จากขวา) ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล และอภิชาติ โตดิลกเวชช์

เพราะอาหารไทยไม่ธรรมดา ไม่เพียงแค่ทั้งหน้าตาและรสชาติ ยังมีอัตลักษณ์ที่่บ่งบอกความเป็นท้องถิ่นที่ชัดเจน เป็นเสนห์ที่ผูกมัดใจใครต่อใครมานักต่อนัก

สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือกับกรมพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานพันธมิตร จัดงาน “Thai Taste Expo 2018 : สุดยอดศาสตร์ ศิลป์ แห่งอาหารและสินค้าไทย” ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2561 ที่สวนนงนุช เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี คัดสรรร้านค้าผู้ประกอบการเครือข่ายทั่วประเทศออกบูธในงานกว่า 600 บูธ บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร

แถลงข่าวเปิดงานอย่างมลังเมลือง

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันอาหาร กล่าวว่า หน้าที่ของสถาบันอาหารคือ ลงไปช่วยบ่มเพาะและพัฒนาผลิตภัณฑ์ วันนี้รัฐบาลต้องการสนับสนุนการกระจายรายได้ให้มีการกระจายไปในทุกภูมิภาค สิ่งที่เราเน้นคราวนี้คือ เศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ซึ่งนอกจากอาหารยังมีสิ่งทอ หัตถกรรม เพื่อให้เห็นถึงการผสมผสานเข้ากันของท้องถิ่น ทั้งหมดที่เราคัดมารวม 750 ผลิตภัณฑ์

“ในปีหนึ่งๆ เรามีนักท่องเที่ยว 13 ล้านคน 40 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทย อีก 60 เปอร์เซ็นต์เป็นต่างชาติ งานนี้จึงเป็นการเวทีของผู้ประกอบการ โดยเลือกสถานที่จัดงานที่พัทยาส่วนหนึ่งเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้เข้ามารู้จักผลิตภัณฑ์ไทย และพัทยาเองก็เป็นประตูสู่เออีซี เป็นการเปิดศักยภาพมุมมองใหม่ๆของจังหวัดชลบุรี ประตูการค้าภาคตะวันออก ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดอันดับ 2 ของประเทศรองจากกรุงเทพฯ โดยปี 2560 ที่ผ่านมา จังหวัดชลบุรีมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 16 ล้านคน หากสามารถดึงนักท่องเที่ยวดังกล่าวเข้ามาเยี่ยมชมงานได้ ก็จะเป็นการสร้างการรับรู้ เผยแพร่ประสบการณ์ไปสู่ตลาดโลกได้อีกทางหนึ่ง”

Advertisement

นายยงวุฒิ บอกอีกว่าต้องขอบคุณพันธมิตรที่เข้ามาร่วมในการจัดงานครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารไทยพาณิชย์ เอสเอ็มอีแบงก์ บสย. รวมทั้งสวนนงนุช และเมืองพัทยา

หนึ่งในผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการที่จะนำไปเปิดบูธ
ภัทรมน เกิดสมพงษ์ อีกหนึ่งผู้ประกอบการรับเชิญ เจ้าของงานหัตถกรรมดีไซน์ประยุกต์ Mon-ha-su

สำหรับผู้ประกอบการมีที่คัดสรรรับเชิญมาจากทั่วประเทศมาร่วมออกบูธกว่า 600 บูธ บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย 5 โซน ได้แก่ บูธนิทรรศการนวัตกรรมด้านอาหารและวิชาการ บูธผู้ประกอบการโครงการอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง บูธผู้ประกอบการโครงการส่งเสริมมาตรฐานอาหารไทย Authentic บูธผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีด้านอาหาร รวมทั้งบริการ อุปกรณ์เครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และเวทีกิจกรรมเสวนา และความบันเทิงต่างๆ ส่วนพื้นที่ด้านหน้าจัดแสดงสินค้าภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนตามแนวชายแดน และเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จำนวน 750 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงสินค้าของผู้สนับสนุน และการออกร้านของหน่วยงานท้องถิ่นเมืองพัทยาอีกด้วย

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนเป็นต้นทางของสินค้าโอท็อป เราทำมา 16 ปีแล้ว ทั้งหมดมุ่งเป้าหมายที่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องในชนบท

Advertisement

“10 ปีที่แล้วโอท็อปโต 11.02 เปอร์เซ็นต์ ประมาณแสนล้านบาท มาในช่วง 4 ปีนี้โตขึ้นเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ จนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีรายได้ 197,000 ล้านบาท เท่ากับโตขึ้นมาเกือบ 1 เท่าตัว มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นโอท็อปขณะนี้ถึง 1.2 แสนรายการ ฉะนั้นปัญหาของเราคือ การยกระดับผลิตภัณฑ์ 1.2 แสนรายการให้เข้าสู่ตลาดสากล

“คอนเซ็ปต์ของโอท็อปมี 3 อย่าง 1. นำภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล 2. ให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ 3. เพิ่มสกิลให้กับชาวบ้าน ขณะนี้เรามีโอท็อปเกือบ 2 หมื่นรายการที่เข้าสู่ตลาดสากลแล้ว โดยเกือบ 3 หมื่นรายการเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านผลิต”

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ นายอภิชาติ บอกว่า เน้นเรื่องของอาหารโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากภาคอีสาน เพราะอยู่ติดกับลาว และอยู่ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีและเออีซี ซึ่งสำคัญมาก เพราะเท่ากับเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจใน 2 ขา ขาออกคือการมุ่งสู่เศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และขาเข้าคือการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทย เราคัดเลือกไม่เพียงผู้ประกอบการด้านอาหาร แต่ยังนำคนที่มีอาชีพด้านอาหารเข้ามาด้วย เพราะอยากให้เห็นว่าอาหารไทยพัฒนาไปไกลมากแล้ว เป็นโอท็อปที่ใส่นวัตกรรมเข้าไป เป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มรายได้และถูกใจตลาด

นายอภิชาติ บอกอีกว่า เมื่อชาวบ้านแข็งแรงจะก้าวสู่วิสาหกิจชุมชน และก้าวสู่การเป็นเอสเอ็มอี ไปสู่ตลาดสากล เป็นลูกโซ่ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรงขึ้น

ทางด้าน นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า เนื่องจากกลุ่มเอสเอ็มอีของเรามีหลากหลายกลุ่มที่น่าสนใจมากที่จะผลักดันสู่สากล เรามองว่าไม่ใช่แค่โอกาส แต่เป็นเมกะเทรนด์ สามารถขยายตัวไปยังตลาดต่างประเทศได้

“อะไรที่มีอัตลักษณ์บ่งบอกความเป็นท้องถิ่นเป็นเสน่ห์สำคัญ เมื่อเชื่อมกับสถาบันอาหารเป็นกลไกเชื่อมต่อศักยภาพของผู้ประกอบการให้ได้เติบโตอย่างมั่นคง เมื่อเออีซียิ่งแข็งแรงเติบโต ทำให้ธุรกิจที่สนับสนุนเอสเอ็มอีได้ผลในทันที”

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้สุวรรณชัย บอกว่า งานอาหารจัดที่ไหนใครๆ ก็อยากไป แต่ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวที่เอาอาหารทุกชนิดที่มีจุดเริ่มต้น มีการพัฒนาเชิงท้องถิ่น มีการเชื่อมโยงประสานของวัฒนธรรมต่างๆ และมาประยุกต์กับกลุ่มนักท่องเที่ยว เราอยากประกาศก้องให้รู้ว่ากลุ่มอาหารของเราคือพระเอกตัวจริง เพราะแม้แต่สตรีทฟู้ดก็มีเสน่ห์มากมาย

“ผมมองว่าอุตสาหกรรมอาหารเป็นหัวใจของคนไทยทั้งประเทศ งานนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่บางครั้งยังไม่มีพื้นที่จัดจำหน่าย หรือพื้นที่จัดจำหน่ายยังไม่เป็นที่รู้จัก เราจับมาเชื่อมโยงกันที่นี่ หลังจากนั้นใช้แอพพลิเคชั่นเอสเอ็มอีเป็นตัวขยายผลต่อไป”  นายสุวรรณชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image