ประกาศศักดา ‘กรุงเทพฯ 2018’ ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

ทึ่สุุดแห่งการเปลี่ยนเปลง
ทึ่สุุดแห่งการเปลี่ยนเปลง

ประกาศศักดา ‘กรุงเทพฯ 2018’ ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะได้ยินข่าวความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ หรืออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง ปลุกสิ่งใหม่รับโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น

เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การค้าเกษร พลาซ่า ที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่ปี 2537 ก็ลุกขึ้นมารีแบรนด์ใหม่เป็น “เกษร วิลเลจ” นำความสมัยใหม่สู่พื้นที่ศูนย์การค้า ด้วยการเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น ขยายพื้นที่สู่เกษร ทาวเวอร์ ที่มีทั้งสปา ศูนย์ศัลยกรรมความงาม แถมยังเชื่อมต่อพื้นที่ย่านราชประสงค์และประตูน้ำสู่รถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้นผ่านสกายวอล์ก

เกษร วิลเลจ

ปี 2561 เหล่าศูนย์การค้าต่างๆ ก็เริ่มขยับขยายกันมากขึ้น เช่น “เซ็นทรัลเวิลด์” ที่เปิด “เดอะ พาโนรามิก แอท เซ็นทรัลเวิลด์” จอดิจิทัล อินเตอร์แอ๊กทีฟ ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาด 3,790 ตร.ม. เชื่อมโยงภาพสู่แลนด์มาร์กสำคัญทั่วโลก ไลฟ์สด และส่งข้อมูลขึ้นจอได้แบบเรียลไทม์ หรือจะเป็นการรีโนเวตครั้งใหม่ภายในห้าง เพิ่มพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น

หรือจะเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่เปิดตัว อย่างอภิมหาโครงการเมือง ไอคอนสยาม แลนด์มาร์กแห่งใหม่ ที่สยามพิวรรธน์, แมคโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทุ่มงบ 54,000 ล้าน บนพื้นที่ 55 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งเจริญนคร ประกอบด้วย ศูนย์การค้าสุดยิ่งใหญ่ รวบรวมแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่มาเปิดเป็นครั้งแรก อาทิ แอปเปิล สโตร์ ทั้งยังจำลองตลาดน้ำมาไว้ให้ได้สัมผัส และอีกส่วนหนึ่งคือ ที่พักอาศัย อย่างแมคโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนท์ ที่มีความสูงถึง 70 ชั้น (คลิกอ่านเพิ่มเติม : รู้จัก 13 ความเลิศล้ำของ ‘ไอคอนสยาม’)

Advertisement
ไอคอนสยาม
แอปเปิ้ล สโตร์ ณ ไอคอนสยาม

ตามคิดมาด้วยห้างน้องใหม่อย่าง “เกตเวย์ บางซื่อ” ที่เปิดตัวต้อนรับศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ บนพื้นที่ใช้สอย 95,000 ตร.ม.

หลังเปิดตัวเป็นตึกสูงที่สุดในประเทศไทยไปแล้ว “มหานคร” โดยผู้บริหารใหม่อย่างกลุ่มคิง เพาเวอร์ ก็สร้างความฮือฮารับปี 2561 ด้วย “มหานคร สกายวอล์ก” เปิดตัวจุดชมวิวชั้นดาดฟ้า 360 องศา สูงสุดในประเทศไทยที่ชั้น 78 กับความสูง 314 เมตร ทั้งยังมีพื้นกระจกลอยฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มองเห็นวิวเบื้องล่างจากความสูง 310 เมตร ที่มีลิฟต์โดยสารขึ้นสู่ชั้นที่ 74 ในเวลาเพียง 50 วินาที

มหานคร สกายวอล์ก

ปีแห่งการเริ่มนับหนึ่งใหม่

นอกจากปี 2018 จะเป็นปีที่ได้เห็นปรากฏการณ์ความใหม่แล้ว ยังเป็นปีที่มีการประกาศสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกหลายแห่งเข้าสู่ความทันสมัยรับยุคดิจิทัล

Advertisement

เรียกความสนใจที่สุด ดูจะเป็น “ดุสิตธานี” โรงแรมดังสัญชาติไทย เปิดให้บริการมานับ 49 ปี ซึ่งผู้บริหารอย่าง ชนินทธ์ โทณวณิก ออกมาเปิดความในใจ เตรียมปิดอาคาร 22 ชั้น ปรับโฉมใหม่หลังให้บริการวันสุดท้าย 5 ม.ค.62 ตัดใจสร้างใหม่ เพราะห้องที่ออกแบบมา 50 ปีนี้ มีขนาดห้องพักที่เล็ก เทียบไม่ได้กับโรงแรมใหม่ๆ เปลี่ยนเป็นโรงแรมที่สูง 39 ชั้น 250 ห้อง ด้านล่างเป็นศูนย์การค้า เตรียมให้บริการอีกครั้งปี 2566 (คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดใจ ‘ชนินทธ์ โทณวณิก’ กัดฟันทุบ ‘ดุสิตธานี’ ปิดตำนานโรงแรมสัญชาติไทย 49 ปี)

เช่นเดียวกับ เลอ เกลอดอง เบลอร์  โรงเรียนสอนทำอาหารที่บริหารงานโดยดุสิตธานี ก็ทุ่มงบ 300 ล้าน ย้ายไปเปิดแห่งใหม่ที่เซ็นทรัล เวิลด์ ด้วย

ดุสิตธานี
เลอ เกลอดอง เบลอร์

เตรียมสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งจากค่ายเดอะมอลล์ ก็ไม่พ้น “ดิ เอ็มสเฟียร์” ศูนย์การค้าย่านพร้อมพงษ์ และแบงค็อก มอลล์ ที่แห่งหลังนี้ จะมีทั้งสวนสนุก ศูนย์แสดงสินค้า ไปจนถึงโรงแรม เอาใจคนฝั่งบางนา ทั้ง 2 แห่ง ยังได้เตรียมเปิดอารีน่าแห่งใหม่ จากความร่วมมือของเออีจี ผู้ประกอบธุรกิจกีฬาและดนตรีระดับโลก ขายจุดแข็งติดรถไฟฟ้า พร้อมให้ได้เห็นปี 2565 แน่นอน

ดิ เอ็มสเฟียร์

ประเทศไทยยังปรับตัวรองรับนักเดินทางที่มากขึ้น กับการสร้าง “สนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2” จากผลงานการออกแบบของ ดวงฤทธิ์ บุนนาค พัฒนารันเวย์ให้มีขนาด 4 รันเวย์ ขนานไปกับตัวอาคารผู้โดยสาร รองรับผู้โดยสาร 100 ล้านคน และ 6.4 ล้านตัน สำหรับการขนส่งสินค้า เช่นเดียวกับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ สัปปายะสภาสถาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเกียกกาย ที่ไม่เพียงเป็นที่ประชุมสภา ยังมีพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ประชุม ห้องสัมมนา สโมสรจัดเลี้ยง รวมอยู่ไว้ในที่เดียว

อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านการเดินทางที่จะได้เห็นในอีกไม่นานนี้ ก็คือ “สถานีกลางบางซื่อ” ว่าที่สถานีรถไฟแห่งใหม่ใหญ่สุดในอาเซียน หลังจากที่เก่าให้บริการมานับ 100 ปี พร้อมเปิดใช้งานปี 2563 เป็นสถานีหลักของรถไฟทุกสาย ออกแบบให้รองรับรถไฟความเร็วสูง และแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เชื่อมต่อกับเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน รวมไปถึงรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่หลังบีทีเอสเปิดให้บริการขยายจากส่วนสถานีจากสำโรงถึงสมุทรปราการ

สถานีกลางบางซื่อ
รถไฟฟ้าสายสีแดง

ใกล้ๆ นี้ ก็คงจะได้เห็นรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต และรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่มีกำหนดแล้วเสร็จปี 2563, รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่มีกำหนดเสร็จปี 2564 นี้

ปิดท้ายด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 หรือมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา อำนวยความสะดวกประชาชนจากภาคกลางสู่อีสาน รองรับการเชื่อมโยงสู่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ คาดได้ใช้ปี 2562 นี้

ไม่เพียงแต่โครงการใหม่ๆ ที่จะได้เห็นในปี 2562 และปีอันใกล้ๆ นี้ หลายฝ่ายยังได้ปรับตัวให้เข้ากับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เช่น คอนโดมิเนียมใหม่ๆ ที่ออกแบบเพื่อรองรับภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว เช่นเดียวกับภาคธุรกิจต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาปรับตัวเข้าสู่อินเตอร์เน็ตมากขึ้น สามารถสั่งอาหาร สินค้า ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ หรือธนาคารต่างๆ ที่ลดสาขา ออกแคมเปญกระตุ้นให้คนหันมาโอน-จ่าย ผ่านเอ็มแบงกิ้ง

แม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าต่างๆ ยังเปลี่ยนกลยุทธ์จากการขายขาด มาเป็นการเช่าให้ใช้ชั่วคราว รองรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปด้วย

ที่สุดแห่งความเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image