เรื่องเล่ารอบพระตำหนัก ‘บ้านปลายเนิน’ สถานที่ประทับ-ทรงงาน ‘เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์’

(ซ้าย) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ขวา) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทับบนรถไฟ ทอดพระเนตร กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ทรงยืน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือที่รู้จักกันดีในพระสมัญญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” และ “สมเด็จครู” เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 62 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระมารดาคือ พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย

ด้วยพระปรีชาสามารถหลากหลายด้าน ในปี พ.ศ.2506 อันเป็นปีครบรอบ 100 ปีการประสูติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้พระองค์เป็น “บุคคลสำคัญของโลก ประจำปี พ.ศ.2506”

พระองค์ทรงเป็นคนที่ 2 ของไทยที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก”

ทั้งนี้ พระองค์ทรงเป็น “ต้นตระกูล” แห่ง “ราชสกุลจิตรพงศ์” เนื่องจากทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าจิตรเจริญ” ที่สืบสานสันตติวงศ์มาจนกระทั่งถึงทายาทรุ่นที่ 4 ในปัจจุบัน

Advertisement

ล่าสุด ราชสกุลจิตรพงศ์ โดยหม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์ ได้เปิดให้ประชาชนเยี่ยมชม “บ้านปลายเนิน” พระตำหนักส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือที่เรียกขานกันติดปากว่า “วังคลองเตย” ตั้งอยู่บนถนนพระรามสี่

อันเคยเป็นที่ประทับของนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยามที่ทรงใช้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลป์สำคัญมากมาย ชมห้องทรงงาน ห้องบรรทม รวมทั้งผลงานฝีพระหัตถ์และงานศิลป์ที่ทรงสะสมหลังบูรณะครั้งล่าสุดในปีนี้ ซึ่งเป็นการบูรณะครั้งสำคัญในรอบ 50 ปีเพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมนี้ไว้ให้คงความงดงามอย่างสมบูรณ์

พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2406 ณ พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง พระองค์ทรงรับราชการเพื่อสนองพระเดชพระคุณตลอดมา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลัง กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวัง ในปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2452 ทรงลาออกจากราชการเนื่องจากประชวรด้วยโรคพระหทัยโตและโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง

เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ผู้ที่เป็นทั้งพระญาติและมิตร ได้ชักชวนให้พระองค์มาพักตากอากาศที่ตำบลคลองเตย พระองค์มาแล้วรู้สึกทรงพระสำราญ เนื่องจากที่นี่มีอากาศโปร่งบริสุทธิ์ พระองค์จึงทรงหาซื้อที่นาริมคลองมาแปลงหนึ่งและปลูกสร้างตำหนักจนแล้วเสร็จเมื่อปี 2457

ในที่สุดพระองค์ทรงย้ายจากที่ประทับเดิมคือ วังท่าพระ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร) มาประทับที่ตำหนัก ณ ตำบลคลองเตย

และทรงเรียกตำหนักที่ประทับนี้ว่า “บ้านปลายเนิน” ซึ่งเป็นสถานที่ประทับในบั้นปลายของพระชนม์และสิ้นพระชนม์ ณ ห้องบรรทม ที่ตำหนักตึกในบ้านปลายเนิน ขณะพระชันษา 83 ปี

ทั้งนี้ ใน ด้านการทรงงาน แม้ว่าพระองค์ทรงลาออกจากราชการมาประทับที่บ้านปลายเนิน แล้วก็ยังคงทรงงานสนองพระเดชพระคุณในงานช่างและงานประณีตศิลป์ต่างๆ อยู่เป็นนิจ รวมทั้งทรงงานฝีมือสำคัญต่างๆ จากห้องทรงเขียนที่บ้านปลายเนิน

ต่อมาในปี พ.ศ.2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสชักชวนให้พระองค์กลับมารับราชการแผ่นดิน ทรงรับตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็นอุปนายกราชบัณฑิตยสภา แผนกศิลปากร อีกทั้งทรงได้รับการแต่งตั้งให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้กำกับการราชวงศ์ มีหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์

ตำแหน่งสุดท้ายในงานราชการคือ ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2476 จนตลอดรัชกาล

ขณะที่ ด้านชีวิตครอบครัว พระองค์ทรงมีพระชายา และพระโอรสและพระธิดา ดังนี้

1.หม่อมราชวงศ์ปลื้ม จิตรพงศ์ (ศิริวงษ์) มีพระธิดาคือ หม่อมเจ้าหญิงปลื้มจิตร จิตรพงศ์ (เอื้อย)

2.หม่อมมาลัย จิตรพงศ์ ณ อยุธยา (เศวตามร์) มีพระโอรสคือ หม่อมเจ้าอ้าย และหม่อมเจ้าเจริญใจ จิตรพงศ์ (ยี่)

และ 3.หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ (งอนรถ) มีพระโอรสและพระธิดาคือ หม่อมเจ้าสาม หม่อมเจ้าหญิงประโลมจิตร ไชยันต์ (อี่) หม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ (อาม) หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ (ไส) หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ (งั่ว) และหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ (ไอ)

พระปรีชาสามารถ
‘สมเด็จครู’แห่งสยาม

ผลงานในสมเด็จครูเป็นองค์รวมแห่งศิลปวิทยาหลากสาขา ทรงนิพนธ์บทโขน ละคร หลายเรื่องมีรามเกียรติ์ อิเหนา สังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น

โดยทรงเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉากและกำกับการแสดงในแบบที่เรียกว่า “ละครดึกดำบรรพ์” ซึ่งหมายถึงการผสานละครไทยกับละครโอเปร่าแบบยุโรป ทรงนิพนธ์เพลงไว้มากมาย ที่รู้จักกันดีคือ เพลงเขมรไทรโยค รวมทั้งคำร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ทรงวาดภาพลายเส้นทศชาดก ทรงออกแบบตาลปัตรพัดยศจำนวนมาก เช่น พัดดำรงธรรม เฟรสโก้พระเวสสันดรชาดกบนฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดราชาธิวาส เฟรสโก้พระอาทิตย์ชักรถบนเพดานห้องทรงเขียน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมหาราชวัง พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะที่ผลงานด้านสถาปัตยกรรมที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมีตัวอย่างเช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร พระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร และพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

ซึ่งเป็นผลงานที่คนไทยประจักษ์กันดีว่า งดงามและวิจิตรยิ่งนัก

นอกจากนี้ยังมีผลงานสำคัญของพระองค์ที่เป็นที่รู้จักกันดีและยังคงพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ผลงานทรงออกแบบองค์แม่พระธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา พระปฐมบรมราชานุสรณ์ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า

งานออกแบบศิลาจารึกโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร รูปสุนทรีย์ แบบที่ 1-3

เรื่องเล่าในรั้ว
พระตำหนัก’บ้านปลายเนิน’

บ้านปลายเนิน เป็นอาณาบริเวณที่ศิลปินต่างยุคต่างวัฒนธรรมทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะรวมถึงสถาปัตยกรรมร่วมสมัย สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงสนับสนุนศิลปินชาวอิตาเลียนซึ่งเดินทางมารับราชการในสยามประเทศ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนึ่งในนั้นคือ คอร์ราโด เฟโรชี หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาเลียน สัญชาติไทย จากเมืองฟลอเรนซ์ ผู้ก่อตั้งและทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนผู้วิชาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งภายหลังได้รับการยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร

หม่อมหลวงจิตตวดี จิตรพงศ์ หรือคุณแหวว ทายาทรุ่นที่ 4 แห่งราชสกุลจิตรพงศ์ พระปนัดดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้นำพาชมบริเวณบ้านปลายเนิน พร้อมเล่าเรื่องในรั้วพระตำหนักได้อย่างน่าสนใจว่า ที่มาของชื่อ “บ้านปลายเนิน” มาจากการที่ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ รับสั่งถึงเส้นทางการเดินทางมายังพระตำหนักว่าให้เดินทางมาตามถนนพระรามสี่แล้วหยุดตรง “ปลายเนิน” ให้เลี้ยวซ้ายนั่นเอง

ทั้งนี้ พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถในหลากหลายแขนง ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากการศึกษาด้วยพระองค์เอง ผ่านตำรา รูปปั้น สถาปัตยกรรม และสิ่งของจริงๆ

บุษบกทรงศึกษา
‘หัวโขนครูดำ’ (กลาง) หัวโขนทรงโปรด สมเด็จครูทรงรับสั่งว่าเพียงแค่ลงรักก็งามพอแล้ว จึงไม่ให้ปิดทองเพิ่ม

“สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โปรดที่จะนำสิ่งของจริงๆ มาศึกษาโครงสร้างอย่างละเอียด เช่น หัวโขน หรือบุษบก และอื่นๆ ด้วยทรงให้ความสำคัญและโปรดที่จะทรงออกแบบหรือทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์แบบเสมือนจริง ดังเช่นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัญ ซึ่งตั้งพระทัยถวายในหลวงรัชกาลที่ 6 มีความโดดเด่นตรงที่ช้างเอราวัณ พระองค์ทรงวาดให้มีเศียรเดียว ไม่ใช่ 3 เศียร พร้อมรับสั่งว่าเป็นไปไม่ได้ที่ช้างจะมี 3 เศียร เมื่อวาดออกมาอาจจะไม่สมดุล และเพื่อความสมพระเกียรติพระองค์ทรงวาดช้างเอราวัณมีงา 4 งาแทน

นอกจากนี้ ในส่วนของพระอินทร์ท่านก็ไม่ใช้สีเขียวระบายลงไปแต่เป็นการระบายสีในโทนผิวสีคล้ำเข้มจนเขียวเสียมากกว่า ซึ่งต่อมาภาพวาดฝีพระหัตถ์ดังกล่าวก็ได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร” หม่อมหลวงจิตตวดีกล่าว และว่า

“ขณะเดียวกัน เมื่อพระองค์จะทรงวาดรูปพระโอรสและพระธิดา ก็จะให้มาวิ่งเล่นตรงที่บ้านหน้าต่างห้องทรงงาน เพื่อที่จะทอดพระเนตรได้ชัดเจนและวาดได้อย่างเสมือนจริงที่สุด”

ห้องทรงงาน

และเนื่องด้วยทรงเป็นนายช่างใหญ่แห่งสยาม ตำหนักไทย ซึ่งเป็นเรือนที่ประทับจึงมีการแบ่งห้องออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน โดยเฉพาะห้องทรงงานที่พระองค์โปรดให้มีบานหน้าต่างเปิดกว้าง เพื่อสามารถรับแสง และมีอากาศปลอดโปร่ง

ขณะเดียวกันในยุคสมัยก่อน ชาวไทยนิยมสร้างห้องน้ำไว้นอกเรือน แต่ในห้องบรรทมของพระองค์ ทรงมีห้องน้ำข้างใน และเป็นห้องน้ำที่แบ่งโซนเปียกและแห้งออกจากกัน

เรียกว่านำสมัยไม่น้อย

ห้องบรรทม
ห้องเวรยาม

เช่นเดียวกับ “ตำหนักตึก” ซึ่งเป็นที่ประทับขณะสิ้นพระชนม์ และเป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของราชกุลจิตรพงศ์ จึงไม่เปิดให้เข้าชมภายใน

“ตำหนักตึกนี้ หากสังเกตจะเห็นว่ามีบานหน้าต่างที่สามารถเปิดได้ทั้งจากข้างบน หรือข้างล่าง อยู่โดยรอบ เพราะเมื่อเปิดทั้งสองบาน จากตึกก็จะกลายเป็นศาลาที่มีลมพัดผ่าน เป็นที่พักผ่อนของทุกคน ซึ่งในภายหลังได้ต่อเติมห้องทรงงานของพระธิดาองค์เล็ก หม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ โดยที่บานประตูหน้าต่างจะมีรอกติดอยู่ ซึ่งมีไว้เพื่อให้หม่อมเจ้าหญิงกรณิกาลำเลียงของ” หม่อมหลวงจิตตวดีเล่าด้วยรอยยิ้ม

ตำหนักตึก
ต้นกล้วยหน้าตำหนักตึก

นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบพระตำหนักบ้านปลายเนิน ยังเต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายชนิด ซึ่งเป็น “ที่รัก” ของคนในราชสกุล เพราะดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน อาทิ ต้นกล้วยที่เมื่อมองเผินๆ ก็ไม่เหมือนต้นกล้วยแล้ว เพราะสูงใหญ่จนเลยพระตำหนัก บ่งบอกถึงอายุที่มีมานานหลายสิบปี

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบ้านปลายเนินยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของพระทายาทในราชสกุลจิตรพงศ์ และยังเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมอบรางวัลนริศรานุวัดติวงศ์ หรือรางวัลนริศ เพื่อให้เกียรติและสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นิสิต นักศึกษาและนักเรียนจากทั่วประเทศ ในการศึกษา เรียนรู้ และวิจัยศิลปะไทยทุกประเภท

อย่างไรก็ตาม ทายาทรุ่นที่ 4 ยังตั้งใจว่าจะอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารทั้งหมดเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ และสถานที่อบรมที่สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าชมและศึกษาได้

เพื่อส่งเสริมศิลปินที่มีความรู้ความสามารถให้สืบสานงานศิลป์คู่กับแผ่นดินไทยต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

ติดตามข่าวบันเทิงไลฟ์สไตล์ กับ Line@มติชนนิวเจน

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image