ไลฟ์สไตล์แบบ ‘ช่อ-พรรณิการ์’ ชอบสะสมผ้าพื้นเมือง ยืนยัน ‘ผ้าไทยไม่เชย แต่งให้ชิคได้ค่ะ”

ไลฟ์สไตล์แบบ ‘ช่อ-พรรณิการ์’ ชอบ สะสมผ้าพื้นเมือง ยืนยัน ‘ผ้าไทยไม่เชย แต่งให้ชิคได้ค่ะ”

สะสมผ้าพื้นเมือง – ยังคงเป็นกระแสไม่มีวันตก สำหรับ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ที่ไม่เพียงประชาชนจะติดตามถึงการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังรวมไปถึงสไตล์การแต่งตัวในแต่ละครั้งที่มีประชุม

ตั้งแต่แต่งชุดสูทสีขาวดำ แบรนด์ โพเอม ที่ไปเตะตาโลกออนไลน์ ไปจนถึงล่าสุดที่เธอสวมเสื้อพื้นเมือง เข้าประชุมสภาในลุกแม่หญิงซ้องปีป จากกลิ่นกาสะลอง ละครดังนำแสดงโดย ญาญ่า-อุรัสยา สเปอร์บันด์ ที่กำลังฮอตฮิตเรียกเรตติ้งในช่วงนี้

มติชนออนไลน์ จึงได้ย้อนนำบทสัมภาษณ์ของ โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับมติชน มาให้อ่านอีกครั้ง

ชีวิตประจำวันของช่อทุกวันนี้ เจ้าตัวว่า แทบจะไม่มีเวลาว่างไปทำงานอดิเรกอย่างอื่น เพราะทุกวันคือวันทำงาน ตื่นเช้ามาเช็กข่าว เข้าออฟฟิศ ประชุมตอนเช้า บรีฟข่าว นัดหมายต่างๆ กินข้าวกับคนโน้นคนนี้ ออกรายการต่างๆ ตอนเย็นก็มีนัดอีก แล้วก็จบวัน

Advertisement

“ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกวัน” เธอว่า

เห็นเป็นสาวมั่นทำงานเก่ง สาวคนนี้ก็เป็นแม่บ้านแม่เรือนไม่น้อย เพราะทั้งชอบทำอาหาร ทำขนม ส่วนงานอดิเรกก็ชอบอ่านหนังสือ และช้อปปิ้ง คลายเครียด

Advertisement

“เป็นคนชอบแต่งตัว และเป็นคนชอบซื้อผ้า ระหว่างทำงาน เครียดๆ ยุ่งๆ ก็จะหาวิธีคลายเครียดด้วยการเปิดอินเตอร์เน็ตหาแบบเสื้อที่ต้องการ และเซฟๆ เก็บไว้ มีเวลาก็จะไปซื้อผ้า และเอาแบบไปให้ร้านตัด เพราะมีร้านประจำกันอยู่ นี่ก็เป็นไลฟ์สไตล์ยุคคุณย่า คุณยายมากเลย แต่ว่ามันสนุก”

จากชุดที่เป็นประเด็นดราม่า เธอก็ว่า โดนแซวเยอะว่าเป็นคนฟุ่มเฟือย และขอแก้ข่าว

“ในชีวิตของมนุษย์ผู้หญิงที่ชอบแต่งตัว เราก็ต้องมีชิ้นที่พิเศษที่เรารู้สึกจะต้องลงทุน เสื้อธรรมดาตัวละพันสองพันเราก็มี แต่สูท กระโปรงทรงดินสอดีๆ หรือกางเกงขายาวสีดำเนี้ยบๆ ซึ่งเป็นชิ้นที่เราจะใส่ได้ตลอดไป ก็ควรจะลงทุนกับมัน อย่างโพเอมที่เราซื้อเพราะเป็นชิ้นคลาสสิกมากๆ และเราใส่ได้เรื่อยๆ

ถ้าเป็นใส่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน จะเป็นคนชอบใส่สีโมโนโทน ขาว ดำ น้ำเงิน แต่พอมาทำงานการเมืองก็แต่งตัวน้อยลง เพราะเวลาเราลงพื้นที่ ก็ไม่อยากแต่งตัวให้ประหลาดกว่าคนอื่น ส่วนใหญ่เสื้อเชิ้ตกางเกง”

อีกงานอดิเรกที่โปรดปรานและมีความสุขที่ได้ทำ คือ การสะสมผ้า โดยเฉพาะผ้าไทยผ้าประจำท้องถิ่น หรือชุดประจำชาติต่างๆ ทั้งชุดกิโมโน ชุดอัปสรา ชุดกี่เพ้า ชุดอ๋าวใหญ่ ชุดส่าหรีอินเดีย

“ที่ชอบผ้าไทย ชอบนุ่งผ้าซิ่น เพราะเป็นคนชอบคอสเพลย์ตั้งแต่สมัย ม.ต้น พอโตขึ้นมา ด้วยความชอบชุดแฟนตาซี ชอบแต่งตัว ชอบชุดไทยๆ และพอมาเป็นนักข่าวแล้วเดินทางเยอะก็มีพฤติกรรมสะสมผ้า เพราะผ้าเป็นจิตวิญญาณของประเทศนั้น เวลาเราไปประเทศไหน เราอยากจะเก็บจิตวิญญาณ เก็บวัฒนธรรมความสวยงามของเขากลับมา”

“คนก็ชอบพูดว่า แก่ตัวไป ควรจะต้องเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้า ซึ่งเอาจริงๆ คิดว่า เป็นไปได้ อายุสัก 50 คิดว่า น่าจะมากพอที่จะเปิดพิพิธภัณฑ์ได้” ว่าพลางหัวเราะสดใส

คนจะมองว่าผ้าไทยเชย?

“ไม่ใช่ค่ะ ดิฉันทำให้ชิคได้ค่ะ” เธอตอบทันที

อีกหนึ่งกิจกรรม “ท่องเที่ยว” ที่จะมีความสุขสุดสุด ถ้าได้เที่ยวกับกลุ่มเพื่อนซี้ ซึ่งมีสัญญาใจต่อกันว่า ต้องไปเที่ยวทริปใหญ่ทริปเมืองนอกเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง

“การท่องเที่ยว เป็นอภิสิทธิ์ของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 เพราะว่ามันเป็นยุคที่มีโลคอสแอร์ไลน์ หรือต่อให้ไม่มีโลคอสต์มันก็ค่อนข้างถูกกว่าสมัยก่อนเยอะ ฉะนั้นชีวิตคนเราเกิดมา 1 ครั้งใช้ให้คุ้ม ถ้าการเดินทางมันเอื้อ เทคโนโลยีมันเอื้อให้เราได้ไปไหนง่ายกว่าสมัย 100-200 ปีที่แล้ว เราก็ใช้อภิสิทธิ์นั้นให้เป็นประโยชน์ ไปเห็นโลกยิ่งมาก มันจะยิ่งให้เราเข้าใจโลก เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น”

สุดท้าย แม้จะคิดไม่ผิดที่ตัดสินใจทำงานการเมือง แต่เธอก็ยืนยันว่า “ไม่คิดว่าจะเป็นนักการเมืองไปจนตาย”

“การทำงานการเมืองของเรา เราไม่ได้มองว่า เราต้องเป็นอะไรอยู่แล้ว ถ้าภารกิจขยับไปข้างหน้า สังคมเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างที่ต้องการประมาณหนึ่ง แล้วมีคนทำต่อ ช่อก็ไปทำอย่างอื่น อาจจะแบบเริ่มแก่ไปเปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าเป็นของตัวเอง (หัวเราะ) อยู่บ้านเป็นนักเขียน นักแปลอิสระ อบขนม เปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าเล็กๆ ไปด้วย”

“มันคงเป็นชีวิตที่มีความสุขกว่าการเป็นนักการเมือง แต่อันนั้น หมายความว่า ภารกิจเราบรรลุแล้วนะ ไม่ใช่ว่า เราเลิก เราถอดใจไป มีชีวิตที่มีความสุขกับตัวเอง เราคงมีความสุขไม่ได้ ถ้าประเทศยังเป็นแบบนี้อยู่ ก็หวังว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศจะดีขึ้น แล้วเราพอใจ และถอยออกไปได้แล้ว”

อ่านบทสัมภาษณ์ทั้งหมด

เปิดใจ ‘ช่อ’ ‘หญิงแกร่ง’ ในรัฐสภา และการเดินทางความคิดทางการเมือง (คลิป)

ขอบคุณภาพจาก 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image