อย่าให้ข้อจำกัดเป็นอุปสรรคชีวิต เปิดใจคนไทยระดับโลก ‘มณเฑียร บุญตัน’ นั่ง 2 สมัยคกก.สิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ

เป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยิ่งต้องชื่นชมมากๆ เพราะเส้นทางชีวิตที่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องเพียรพยายาม อดทน ดิ้นรนมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า เขาคือ มณเฑียร บุญตัน ผู้พิการทางสายตาตั้งแต่กำเนิด ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, รองประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย และเป็นกรรมการอีกหลายองค์กร

ล่าสุดยังได้รับเลือกเป็น “คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ” สมัยที่ 2 (พ.ศ.2560-2563) ในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ หรือซีอาร์พีดี สมัยที่ 9 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ภายหลังได้รับเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้นายมณเฑียรเข้าพบเพื่อแสดงความยินดี ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีภารกิจดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. ได้ถือโอกาสจัดงานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเลี้ยงรับรอง เป็นโอกาสพูดคุยถึงบทบาทหน้าที่และภารกิจที่จะขับเคลื่อนในวาระที่ 2 ณ กระทรวง พม. สะพานขาว

นายมณเฑียรกล่าวว่า กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติมีหน้าที่ 5 ประการ ได้แก่ 1.พิจารณารายงานคนพิการของ 165 ประเทศที่เป็นรัฐภาคี ซึ่งแต่ละประเทศจะต้องจัดทำรายงานส่งคณะกรรมการทุก 4 ปี ซึ่งเมื่อส่งรายงานมา กรรมการจะกำหนดประเด็นซักถามไปยังประเทศนั้น ก่อนชวนหารือและให้ข้อเสนอแนะอย่างเป็นทางการ 2.รับเรื่องราวร้องทุกข์คนพิการที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีผู้พิการที่ร้องทุกข์ผ่านกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศจนถึงที่สุดแล้วและไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผู้จะร้องทุกข์ได้ประเทศนั้นต้องเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับด้วย 3.ตรวจสอบกรณีที่ประเทศรัฐภาคีมีนโยบายที่มีผลกระทบต่อคนพิการทั้งประเทศ 4.จัดทำคำอธิบายบท บัญญัติในอนุสัญญา เพื่อให้ประเทศรัฐปฏิบัติตามบทบัญญัติที่มีเนื้อหาเป็นภาษากฎหมายได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังจัดทำคำอธิบายร่างสิทธิสตรีพิการ การศึกษาสำหรับคนพิการ การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ และ 5.ให้คำแนะนำปรึกษากับรัฐภาคีในเรื่องปฏิบัติตามอนุสัญญา

Advertisement

 

4-11

1.4

Advertisement
มณเทียณ บุญตัน
มณเทียณ บุญตัน

 

ครั้งนี้ตั้งใจทำสิ่งสำคัญคือ การทำให้อนุสัญญาไม่อยู่บนหิ้ง ฉะนั้น กรรมการจะต้องทำงานเชิงรุก ในการเดินสายพบปะและอธิบายให้ผู้คนให้ทราบถึงสิทธิ โดยเฉพาะกับคนพิการรากหญ้า คนพิการในชนบท รวมถึงเพิ่มการทำงานกับหน่วยงานที่กำหนดยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ อย่างของไทยก็สภาพัฒน์ไปบอกว่าเป้าหมายการพัฒนาจะต้องไม่เลือกปฏิบัติกับคนพิการ การพัฒนากระแสหลักจะต้องผนวกรวมเรื่องคนพิการเข้าไปด้วย รวมถึงการบอกสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่บอกคนอื่นให้ทำโน่นนี่ ว่าได้ปฏิบัติตามสิทธิคนพิการหรือยัง

“ผมให้ความสำคัญเป็นพิเศษในครั้งนี้กับเรื่องคนพิการไร้รัฐ เพราะคนเหล่านี้บางคนเป็นคนไทย เพียงแต่ตอนเกิดไม่ได้ไปแจ้ง เพราะมีคำพูดจากเจ้าหน้าที่เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วว่า ถ้าเป็นคนพิการไม่ต้องไปแจ้งเกิด อยู่ไปก็ไม่ใช่คนเต็มคนอยู่แล้ว ถือว่าเป็นเศษคน ตรงนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อน สวนทางกับกฎหมายคนพิการของไทยมีความก้าวหน้าเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ทำให้คนพิการไร้รัฐนี้ไม่ได้รับสิทธิใดๆ ต่างจากคนพิการทั่วไปที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ลองคิดว่าพวกเขาจะน้อยเนื้อต่ำใจเพียงใด ซึ่งผมคิดว่ามีจำนวนมาก”

แม้บทบัญญัติกฎหมายสิทธิคนพิการไทยไม่แพ้ใครในอาเซียน แต่นายมณเฑียรยอมรับว่า “สังคมก้าวไม่ทันกฎหมาย เพราะคนไทยใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลตัดสินคนพิการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ใครจะว่าบันทึกสิทธิมนุษยชนของไทยเป็นอย่างไร แต่บันทึกด้านสิทธิคนพิการ เรามาถูกทางแล้ว เพียงทำอย่างไรให้สังคมไทยก้าวทันกฎหมายให้ได้”

เพราะสังคมไทยใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลในการตัดสินคนพิการ จึงทำให้คนพิการต้องพิสูจน์ตัวเองว่าทำได้ ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน เขาจึงต้องอดทนกว่า พยายามกว่า ดิ้นรนกว่า ชีวิตนายมณเฑียรก็เป็นอย่างนั้น แต่เขาก็ผ่านมาได้ด้วยหลักดำเนินชีวิต 4 ข้อ

“ผมมี 4 คำ ที่พยายามปฏิบัติอยู่ และเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ได้แก่ 1.ใฝ่รู้ ต้องใฝ่รู้ตลอดชาติ เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้วไปตลอด 2.ยิ้มสู้ ซึ่งน้อมนำบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ 3.รับใช้ เราไม่ใช่นายใคร แต่เป็นผู้รับใช้ และต้องอ่อนน้อมถ่อมตน และ 4.ไม่ยอมจำนน ซึ่งจะแพ้จะล้มเหลวกี่ร้อยกี่พันครั้งก็อย่าไปยอมจำนน”

และแม้จะพยายามทุ่มเทมากกับบทบาทงานเบื้องหน้าทุกวัน แต่บทบาทงานเบื้องหลังในฐานะหัวหน้าครอบครัวเขาก็ไม่ทิ้ง

“ผมเป็นคนไม่เที่ยว ทำงานเสร็จก็กลับบ้าน ไปกินข้าวเย็นที่บ้านตลอด” แม้จะไม่ค่อยพูดเรื่องทางบ้านเท่าไหร่ เพราะภรรยา (ยูมิ ชิราอิชิ ชาวญี่ปุ่น) ขอเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ก็พอพูดถึงลูกสาว (มิกะ) ว่า “ตอนนี้อยู่ชั้น ม.6 แล้ว เตรียมแอดมิสชั่นส์ปีหน้า ลูกเก่งมาก ตอนนี้พูดได้ 4 ภาษา ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น อังกฤษ และจีนกลาง”

 

มณเฑียร
นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ พร้อมคณะผู้แทนคนพิการไทย ร่วมแสดงความยินดีนายมณเฑียร ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
มณเฑียร-บุญตัน
นายมณเฑียรพร้อมคณะผู้พิการไทย

 

ก่อนจะพูดถึงตัวเองซึ่งเคยเรียนทางด้านดนตรีจบจากเมืองนอก เริ่มต้นอาชีพเป็นนักดนตรี และอาจารย์สอนดนตรีประจำที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ทุกวันนี้ไม่ได้เล่นมา 20 ปีแล้ว หลังจากตัดสินใจแบบหักศอก

“การเป็นนักดนตรีของผมในขณะนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครนอกจากตัวเอง จึงมาทำด้านนักสิทธิคนพิการ แต่ทุกวันนี้ก็พยายามสนับสนุนคนอื่นที่อยากเป็นนักดนตรีให้ได้เป็นนักดนตรี ขอเพียงเขามีความสามารถจริงๆ ไม่ใช่มีความพิการที่มาเสแสร้งเป็นนักดนตรี” นายมณเฑียรกล่าวทิ้งท้าย

ลุ้นต่อเดือนเมษายน 2560 ว่านายมณเฑียรจะได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติหรือไม่ สายข่าวแว่วว่ามีลุ้นอยู่นะ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image