พิษโควิด ทำยอดว่างงานพุ่ง แต่ทำไม ‘คนถึงสมัครงานน้อยลง’

คนสมัครงานน้อยลง

พิษโควิด ทำยอดว่างงานพุ่ง แต่ทำไม ‘คนสมัครงานน้อยลง’

คนสมัครงานน้อยลง – ไม่ต้องเปิดโทรทัศน์ หรือพลิกหน้าหนังสือพิมพ์อ่านข่าว รายงานความเดือดร้อนจากการระบาดของ โรคโควิด-19 ก็เชื่อว่าหลายคนต่างสัมผัสได้เองในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงคนรอบข้าง ที่ต่างได้รับผลกระทบอย่าง “สาหัส” โดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ไปจนถึงพนักงานออฟฟิศ และผู้ประกอบการ ทั้ง ถูกเลิกจ้าง, ลีฟ วิธเอาต์ เปย์, การปรับลดเงินเดือน ไปจนถึงขั้นร้ายแรงคือ “ปิดกิจการ”

พรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ภาคเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประเมินผลกระทบที่เกิดจากโควิดว่า “มากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งอย่างแน่นอน” เพราะครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งคนที่ได้รับผลกระทบส่วนมากจะเป็นบริษัทขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการแปลกเปลี่ยน เช่น มีการกู้เงินจากต่างประเทศ หรือนำเข้า-ส่งออก แต่วิกฤตโควิดสร้างผลกระทบต่อทุกธุรกิจ ตั้งแต่รถเข็นขายของยันบริษัทใหญ่

โดยกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบ “เยอะที่สุด” คือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 95 ของจำนวนคนตกงานทั้งหมด

Advertisement

กอดงานไว้ให้แน่น

วิกฤตโควิด ทำยอดสมัครงานติดลบ

สอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลของจ๊อบส์ ดีบี ที่มีผลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1.จำนวนประกาศหางานที่โพสต์อยู่ในตลาดแรงงานและในเว็บไซต์จ๊อบส์ ดีบี มียอดลดลง เมื่อเปรียบเทียบปีต่อปี ในเดือนมีนาคม 2019 กับเดือนมีนาคม 2020 การประกาศหางานมียอดตกลงถึงร้อยละ 27 สะท้อนว่าความต้องการคนมาทำงานลดน้อยลง เพราะหลายบริษัทหยุดชะงัก ไม่จ้างงาน หรือปิดตัวไปก็มี

2.จำนวนผู้สมัครงาน เมื่อลองเปรียบเทียบในส่วนของผู้สมัครงานว่า สถานการณ์แบบนี้กล้าสมัครงานหรือไม่ พบว่า เป็น “ครั้งแรก” ที่ยอดการสมัครงานบนเว็บไซต์จ๊อบส์ ดีบี ลดน้อยลง ด้วยที่ผ่านมายอดสมัครงานไม่เคยลด จะเป็นบวกเสมอ แต่จะบวกมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ สถานการณ์ตลาดแรงงาน ในขณะนั้น

Advertisement

ปีนี้จึงเป็น “ปีแรก” ที่ยอดสมัครงานเป็นลบ

พรลัดดา ชี้ว่า ยอดการสมัครงานของวันที่ 1-15 มีนาคม ช่วงก่อนที่โควิดจะเข้ามาแพร่ระบาดในไทย “ยังเป็นบวก” แต่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม ที่เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รัฐบาลประกาศนโยบายเว้นระยะห่างทางกายภาพ รวมไปถึง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” บางบริษัทให้พนักงานเวิร์ก ฟรอม โฮม ทำให้ยอดผู้สมัครงานลดลงถึงร้อยละ 30

หลายบริษัทได้เปิดเผยว่า แม้ว่าบริษัทจะมีบางตำแหน่งเปิดรับสมัครงานอยู่ แต่ผู้สมัครงานก็ไม่กล้าที่จะย้ายงาน เพราะคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยในการทำงาน เช่นว่า เคยมีแพลนที่จะย้ายงานก่อนหน้านี้ แต่พอมีสถานการณ์โควิดเข้ามา หลายคนก็คิดว่าอดทนไว้ก่อนดีกว่า เพราะไม่อาจทราบได้ว่าหากย้ายงานไปบริษัทใหม่ที่ยังไม่เคยได้สัมผัสเลย สถานการณ์จะเป็นอย่างไร อาจจะแย่กว่าบริษัทปัจจุบันที่ทำอยู่ก็เป็นได้ เป็นต้น

3.จำนวนผู้เข้ามาอัพเดตและสร้างโปรไฟล์หางานเพิ่มขึ้น สวนทางกับจำนวนผู้สมัครงานที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนมีความกังวลถึงสถานการณ์ในอนาคต ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน การสร้างโปรไฟล์ไว้ก่อนจึงอุ่นใจกว่า เกิดอะไรขึ้นมาจะได้กดสมัครงานใหม่ทันที

พรลัดดาเผยว่า ตัวเลขการสร้างโปรไฟล์ใหม่ในเดือนมีนาคม 2020 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2019 มีอัตราเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 17 จากสถานการณ์ปกติที่โตขึ้นเพียงแค่จุดเดียว เพราะจ๊อบส์ ดีบี ไม่ได้ครอบคลุมการสมัครงานทุกเซ็กเมนต์ จะเป็นเซ็กเมนต์พนักงานออฟฟิศขึ้นไป จนถึงระดับผู้บริหาร

ทั้งนี้ กลุ่มที่สร้างโปรไฟล์หางานใหม่มากที่สุด คือกลุ่ม “ผู้มีประสบการณ์ต่ำกว่า 10 ปี” กล่าวคือ คนกลุ่มนี้เริ่มทำงานได้ไม่นาน อยู่ระหว่าง 2-3 ปี หรือน้อยกว่า 4 ปี ยังมีทักษะในการทำงานไม่เยอะมาก จึงค่อนข้างกังวลเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงของหน้าที่การงาน

กลุ่มธุรกิจไอที-อีคอมเมิร์ซ

สายงานปัจจุบันและอนาคต

ในสถานการณ์แบบนี้ยังมีบางกลุ่มธุรกิจ หรือบางสายงาน ที่ยังคงฮอตเหมือนเดิม “ไม่มีตก” นั่นก็คือ “กลุ่มธุรกิจไอที”

พรลัดดากล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบปี 2019 กับ 3 เดือนแรกของปีนี้ (2020) ธุรกิจกลุ่มไอที ซึ่งรวมไปถึงอี-คอมเมิร์ซ นักพัฒนา (Developer) และทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี มีจำนวนการประกาศหางาน “ลดน้อยที่สุด”

แต่ในขณะเดียวกัน “ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร หลักทรัพย์” จำนวนการประกาศหางานในกลุ่มนี้จะ “ลดลงมาก” ถึงร้อยละ 20 เพราะว่ากลุ่มธุรกิจนี้มีการปรับตัวไปใช้แอพพลิเคชั่นมากขึ้น จำนวนสาขาก็จะลดลง เพราะฉะนั้นการจ้างงานก็จะลดลงตามไปด้วย

สะท้อนให้เห็นว่าในทุกบริษัทตอนนี้มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับไอที ย่อมเป็นที่ต้องการ

นอกจากนี้ ในด้านของ “จำนวนการสมัครงาน” กลุ่มธุรกิจไอทีก็ยังคงเป็นแชมป์

เพราะเป็นสายงานเพียงหนึ่งเดียวที่มี “ยอดการสมัครงานเพิ่มมากขึ้น” ในขณะที่สายงานอื่นๆ มียอดสมัครงานติดลบ ด้วยเป็นสายงานที่มี “ดีมานด์สูง ซัพพลายต่ำ” มาหลายปีแล้ว ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสที่ดีมาถึง คนงานสายไอทีจึงพร้อมที่จะสมัครงาน และมองหาโอกาสใหม่อยู่เสมอ

มากกว่านั้น หนึ่งในสายงานของกลุ่มธุรกิจไอที อย่าง “อีคอมเมิร์ซ” (E-Commerce) มีใบสมัครเติบโตเยอะที่สุด ในระยะเวลา 1 ปี มีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 45

แสดงว่าให้เห็นว่า “อีคอมเมิร์ซ” คือสายงานของปัจจุบันและในอนาคต

ใช้เวลาที่มีเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง

ต้องบอกเลยว่าข้อดีของการ “เวิร์ก ฟรอม โฮม” คือ ทุกคนสามารถเซฟเวลาเดินทางอย่างน้อยวันละ 2-4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในส่วนเวลา

ที่เพิ่มขึ้นตรงนี้สามารถนำ “เพิ่มทักษะ” ให้กับตนเองได้ โดยผู้จัดการบริษัทจัดหางานฯ ได้แนะนำ “ทักษะ” ที่คนทำงานควรมี ดังนี้

1.ทักษะเกี่ยวกับไอที ไม่จำเป็นต้องศึกษาจนแตกฉาน แต่เรื่องพื้นฐานก็ควรจะต้องมี เพราะในปัจจุบันหลายคนเริ่มรู้สึกว่า ทำงานอาชีพเดียวไม่มั่นคง จึงมองหาทางเลือกที่สอง หรืออาชีพที่สองเผื่อเอาไว้ ซึ่งการทำธุรกิจออนไลน์ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางยอดนิยม เพราะฉะนั้นหากมีความสนใจ เรียนรู้ไว้ก็จะดีมาก

2.ทักษะที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้น เพราะเศรษฐกิจไม่ดี นั่นหมายความว่าหุ้นดีๆ หลายตัวจะมีราคาต่ำลง จากที่สถานการณ์ปกติอาจจะมีราคาที่เอื้อมไม่ถึง บางคนที่มีความสนใจเรื่องหุ้นก็สามารถนำเวลานี้มาศึกษาได้

3.ทักษะการออกกำลังกาย นอกจากจะเรียนรู้ได้หลายช่องทางในออนไลน์ ยังสามารถสะสมองค์ความรู้แล้วต่อยอดเป็นอาชีพได้ เช่น ครูสอนโยคะ หรือเทรนเนอร์ เป็นต้น

4.ทักษะเกษตรอินทรีย์ ก็เป็นอีกหนึ่งทักษะที่มีคนสนใจ เนื่องจากมีเวลามากขึ้น หลายคนอยากทดลองปลูกผักกินเอง ใช้พื้นที่ไม่เยอะ หากศึกษาดีๆ จะเป็นอีกช่องทางในการสร้างธุรกิจขายพืชผักก็เป็นได้

สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีความสนใจในทักษะที่กล่าวมาข้างต้น พรลัดดาแนะนำว่าให้ใช้เวลานี้ “อัพสกิลในสายงานที่ตัวเองทำอยู่” พอสถานการณ์กลับเป็นปกติ ก็จะเท่ากับว่าเราได้ใช้เวลา “เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง” มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันก็มีคอร์สเรียนออนไลน์เปิดสอนฟรีจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม จ๊อบส์ ดีบี ยังเปิด “ไมโครไซต์” ให้ผู้ประกอบการลงโฆษณาประกาศหางานได้ฟรี 3 ตำแหน่งงานต่อ 1 องค์กร ลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์จ๊อบส์ ดีบี ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน และเข้าร่วมรับฟังสัมมนาออนไลน์ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายกับทุกองค์กรที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดฟรี ได้ที่ https://th.jobsdb.com/th

พรลัดดา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จัดแมชชิ่งตลาดแรงงาน ลดเสี่ยงตกงาน7ล้านคน นำร่อง29บริษัท  หอค้าไทยแนะรัฐทำ”ยุทธศาสตร์ใหม่”รับนิวนอร์มอล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image