แค่รองเท้าผ้าใบ ก็ลุยได้แล้ว! ‘เกรซ นรินทร’ นางงามจิตอาสา กับเป้าหมายทำเพื่อสังคม

นางงามจิตอาสา

แค่รองเท้าผ้าใบ ก็ลุยได้แล้ว! ‘เกรซ นรินทร’ นางงามจิตอาสา กับเป้าหมายทำเพื่อสังคม

“แค่มีกางเกงขายาว รองเท้าผ้าใบ ก็ลุยได้แล้ว” นางงามจิตอาสา เกรซ-นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ กล่าวถึง “ความพร้อม” ในการลงพื้นที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่เธอมีพลังเต็มเปี่ยม ด้วยหลังจากได้ครองมง (กุฎ) มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ทูตกรมสุขภาพจิต” กระทรวงสาธารณสุข

เรียกว่ามี “วิกฤต” ที่ไหน ก็มักจะเห็นสาวเกรซลงพื้นที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเสมอ

สมกับที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “นางงามจิตอาสา” แห่งเวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019

Advertisement

“เกรซมองว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เมื่อได้รับเกียรติเป็นมิสไทยแลนด์เวิลด์แล้ว จะใช้โอกาสนี้เป็นกระบอกเสียงในการช่วยเหลือคน เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โปรเจ็กต์แรกที่ทำจึงเป็นการแจกแอลกอฮอล์ไปในพื้นที่ที่ขาดแคลน ตอนนี้ส่งไปกว่า 300 ที่แล้ว ทั้งสำนักสงฆ์ โรงพยาบาล ศูนย์คนพิการ และเนิร์สเซอรี่ต่างๆ โดยเน้นพื้นที่ห่างไกลก่อน เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ และต่างจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ เกรซลงพื้นที่เองร่วมกับหน่วยงานต่างๆ” นรินทรกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ซึ่งไม่เพียงแค่ลงพื้นที่ “พบปะให้กำลังใจแล้วจบไป” แต่ทุกครั้งหลังลงพื้นที่เธอจะกลับมาคุยกับครอบครัวเสมอว่า จะทำอะไรเพื่อช่วยสังคมได้บ้าง?

“พอลงพื้นที่ เกรซได้เห็นว่าทุกคนเดือดร้อนกันค่อนข้างมาก คือนึกไม่ออกเลยว่าถ้าเราเป็นเขา หลังหมดโควิดจะทำอย่างไรต่อไป จะแย่ขนาดไหน เพราะเชื่อว่าหลายคนน่าจะตั้งตัวไม่ทัน เพราะที่ผ่านมาภาคเศรษฐกิจหยุดชะงักและได้รับผลกระทบไม่น้อย น่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ฉะนั้นอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน ซึ่งมักเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดความเครียด อาชญากรรม และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สะเทือนใจอย่างการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ยังไงก็เป็นอีกหนึ่งของปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตยุคปัจจุบัน”

Advertisement

ที่สำคัญ “เราไม่อยากลงพื้นที่เพื่อพูดให้กำลังใจแต่ช่วยอะไรไม่ได้จริงๆ ซึ่งมองว่าการสร้างอาชีพเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดี” เกรซกล่าว

จึงกลายเป็นที่มาของโครงการเพื่อสังคม “ฟื้นฟูเศรษฐกิจในครัวเรือน” ด้วยการ “สร้างอาชีพ” ที่เธอตั้งเป้าว่าจะเริ่มทำหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ซึ่งก็คือในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยเกรซและครอบครัว พร้อมด้วยแฟนคลับ จะลงพื้นที่ไปสอนชุมชนทำ “ขนมไทย” เพื่อสร้างอาชีพ 3 อย่าง คือ ขนมชั้น บัวหิมะ และขนมเปี๊ยะ โดยให้ชุมชนได้ทดลองทำเองและประยุกต์ให้เข้ากับวัตถุดิบขึ้นชื่อในท้องถิ่น พอเข้าสู่ขั้นตอนบรรจุภัณฑ์ก็จะมีทีมให้คำปรึกษา ไปจนถึงการหาตลาดให้กับชุมชน

“เกรซไม่ทิ้งแน่นอนจะอยู่กับชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จนกว่าชุมชนจะมีรายได้เข้ากระเป๋า” นางงามจิตอาสาย้ำ

อย่างไรก็ตาม นรินทรเล่าต่อว่า ไอเดียทั้งหมดนี้มีส่วนมาจากการที่เธอได้ “ลงพื้นที่” เพื่อมอบความช่วยเหลือ แต่ในขณะเดียวกันเธอกลับ “ได้” หลายสิ่งกลับมาว่า อย่างแรกที่ได้รับคือ “ความสุข” รู้สึกว่าบรรลุเป้าหมายของตัวเองแล้ว ตั้งแต่โครงการ Let me hear you เป็นที่รู้จักทุกคนเวลาเห็นเราก็จะมาปรึกษาและสอบถามเรื่องจิตวิทยา เช่นว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีวิธีสังเกตอาการอย่างไร ทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโรคจิตเวชมากขึ้น โดยที่ไม่มองว่าประหลาด หรือว่าเข้าไม่ถึง

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาตัวเองทุกวัน เพราะบางทีสิ่งที่เรารู้ก็มีแค่เรื่องตัวเองและสิ่งรอบตัวเรา แต่พอได้เจอคนหลากหลาย หลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่รู้มาก่อน จึงได้รับทั้งประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น แพทย์ พยาบาล เชฟ คนจิตอาสาที่เขาทำมานานแล้ว ตรงนี้จึงเป็นเหมือนการพัฒนาทัศนคติของเกรซ รู้สึกได้เลยว่า “ทัศนคติเปิดกว้างขึ้น” ว่าในสังคมของเรามีคนที่เดือดร้อนอยู่อีกมาก และเข้าไม่ถึงโอกาส ทำให้เข้าใจปัญหาที่มีและเข้าไปแก้ได้ตรงจุดมากขึ้น

“ถ้าพื้นที่ไหนสามารถพาน้องชายไปด้วยได้ เกรซก็จะพาไปด้วย เพราะอยากให้น้องได้เรียนรู้ว่าเราต้องช่วยเหลือคนอื่น ถ้าเรามีเราก็ควรที่จะช่วยคนที่เขาไม่มีด้วย” เกรซเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส และเมื่อถามว่า ลงพื้นที่ถี่ๆ แบบนี้ ไม่เหนื่อยบ้างหรือ? นางงามจิตอาสาก็ตอบทันทีว่า

“ไม่เหนื่อย เพราะไปด้วยความเต็มใจ แถมเวลาที่เจอป้าๆ ยายๆ หลายคนทักหยอกว่า เอ้า! คนสวยมา แล้วมีรอยยิ้มระบายบนหน้า เราก็แฮปปี้แล้ว”

นางงามจิตอาสา

ภาพจาก Grace Narintorn

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราจะผ่านห้วงเวลานี้ไปด้วยกัน ‘จิตไม่ตก’ สู้โควิด

เกรซ นรินทร ส่งเจลแอลกอฮอลล์ ถึงสถานพยาบาลทั่วประเทศ เป็นกำลังใจคนไทยสู้โควิด-19

สมมง ‘นางงามจิตอาสา’ เกรซ นรินทร โพสต์ภาพในชุดครุย เรียนจบแล้วพร้อมลุยงานช่วยสังคมเต็มที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image