เราจะผ่านห้วงเวลานี้ไปด้วยกัน ‘จิตไม่ตก’ สู้โควิด

สู้โควิด เกรซ
สู้โควิด เกรซ

เราจะผ่านห้วงเวลานี้ไปด้วยกัน ‘จิตไม่ตก’ สู้โควิด

สู้โควิด – จากคำพูดที่หยอกล้อในโลกออนไลน์เพื่อคลายความเคร่งเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เช่นว่า “ก่อนจะเป็นโควิด น่าจะเป็นโรคจิตไปเสียก่อน” หรือคำพูดที่ว่า “แกว่าเราติดโควิดหรือยังนะ” สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความหวาดวิตก ความกังวล และความเครียดที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

ประกอบกับสถานการณ์ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนจึงเกิดความเครียด และรู้สึกวิตกว่าการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็น “เรื่องใกล้ตัว” โดยแต่ละคนก็มีวิธีรับมือในสถานการณ์ที่ “อ่อนไหว” นี้แตกต่างกันออกไป กระนั้น ล่าสุดได้เกิดกรณีสะเทือนใจหลังหนุ่มใหญ่ตัดสินใจจบชีวิตโดยเขียนจดหมายร่ำลา พร้อมระบุว่า “ผมอาจจะติดโควิด” รวมไปถึงกรณีหญิงสาวโพสต์เล่าเรื่องพ่อชวนทั้งครอบครัวฆ่าตัวตายหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด

ฉะนั้น ในช่วงเวลาที่อ่อนไหวและเปราะบาง นอกจากจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และปฏิบัติตามข้อแนะนำในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดแล้ว

“สุขภาพจิตใจ” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องดูแลให้แข็งแรงด้วย

Advertisement

กับเรื่องนี้ “นางงามนักจิตวิทยา” เกรซ-นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 และแบรนด์แอมบาสเดอร์ กรมสุขภาพจิต ให้คำแนะนำว่า ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างช่วยกันทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น สิ่งที่ทุกคนทำได้ดีที่สุดในตอนนี้คือ “การอยู่บ้าน” เพื่อป้องกันตัวเอง อย่างน้อยการที่เราดูแลตัวเองก็เป็นการช่วยส่วนรวมไปด้วยในตัว คอยล้างมือบ่อยๆ แต่หากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้านจริงๆ ก็ให้สวมหน้ากากอนามัยและพกเจลล้างมือไปด้วยทุกครั้ง

“เพราะเมื่อเราดูแลตัวเองและครอบครัวให้ดี ก็คือการ ‘หยุดเชื้อ’ ทั้งส่งต่อและรับมาจากผู้อื่น การรับผิดชอบในส่วนของตัวเองอย่างจริงจัง จะทำให้ทุกอย่างในสังคมดีขึ้น” เธอกล่าว และแนะนำว่า

Advertisement

“อย่าเครียด พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส แม้ว่าวันนี้จะยังไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ แต่หากเรามีสุขภาพจิตที่ดี ก็จะทำให้สุขภาพกายของเราแข็งแรงมากยิ่งขึ้น”

ทั้งยังย้ำอีกว่าการป้องกันที่ดีควรเริ่มจาก “ตัวเอง”

“เกรซเชื่อว่าทุกคนดูแลตัวเองได้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้มากกว่าเดิม” นรินทรกล่าว

สำหรับ “วิธีรับมือกับความเครียด” เกรซบอกว่า ทุกคนมีวิธีรับมือที่แตกต่างกัน แต่ในมุมของเธอทางที่ดีที่สุดคือ “ตระหนักแต่ไม่ตื่นตระหนก” เพราะอาจจะส่งผลเสียกับสุขภาพจิตได้ ขณะเดียวกันอยากให้มองว่าช่วงเวลานี้ที่หลายๆ อย่างหยุดชะงักหรือชะลอตัว คือช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีเวลาในการคิดทบทวนรวมไปถึงมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้นด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์เฟคนิวส์ เกรซแนะนำว่า ควร “เลือกเสพข่าว” ที่เชื่อถือได้ และใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์ตาม

“เลือกเสพข่าวที่มีประโยชน์ในการนำมาปรับใช้ในการดูแลป้องกันตัวเอง” เธอแนะ

‘กำลังใจ’ สำคัญมาก

เกรซเล่าจากประสบการณ์ตรงหลังได้รับตำแหน่ง “มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019” เธอได้รับคำวิจารณ์มากมายจากสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ แต่ก็ผ่านมาได้เพราะสิ่งที่เรียกว่า “กำลังใจ”

“เราอาจจะช่วยแก้ไขเรื่องการรักษาโรคโควิดไม่ได้ แต่อย่างน้อยสามารถให้กำลังใจ เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งรวมไปถึงการแสดงความห่วงใยกัน หมั่นคอยถามไถ่และบอกกล่าวกันเสมอ เช่น เวลากลับจากการออกไปนอกบ้าน คุณแม่จะทักตลอดว่าล้างมือหรือยัง หรือก่อนจะออกนอกบ้านก็ให้กำลังใจกันว่าอย่าลืมใส่หน้ากากด้วยนะ หมั่นล้างมือนะ และดูแลตัวเองด้วย” นางงามนักจิตวิทยาแนะ

‘ความสุข’ คำตอบกันว่าง

แน่นอนว่าเพราะเคยออกไปข้างนอกบ้านอยู่ประจำ ทั้งทำงาน กิน หรือท่องเที่ยว การต้องอยู่ติดบ้านหลายวันต่อเนื่องอาจจะทำให้หลายคนเกิดอาการเบื่อ เศร้า ซึม

เกรซแนะนำว่า หากอยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไร ลองตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่า “ทำอะไรแล้วมีความสุข” อย่างที่หลายคนอาจจะเลือกอ่านหนังสือ หรือใช้เวลาท่องโลกหาข้อมูลในเรื่องที่สนใจ อยากค้นคว้าศึกษามานานแล้วแต่ไม่มีเวลา ก็สามารถทำได้ รวมไปถึงการหากิจกรรมยามว่างทำกับครอบครัว เช่น เข้าครัวทำกับข้าวด้วยกัน หรือทำกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อน เช่น วิดีโอคอลดูหนัง อ่านหนังสือ แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย

 

ให้พื้นที่ ‘สบายใจ’

สำหรับหลายคนที่มีโรคประจำตัวก็จะมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากกว่าปกติ อย่างเช่นเพื่อนของเกรซที่อาศัยอยู่หอพักนักศึกษาต้องเจอคนเยอะจะมีความกังวลในหลายด้านมากกว่าเธอที่อาศัยอยู่บ้าน ก็จะขอกักตัวก่อนเลยเพราะทั้งกลัวว่าตัวเองจะติดเชื้อและนำเชื้อไปติดเพื่อน

เกรซบอกว่า ในฐานะเพื่อนก็มีหน้าที่ให้กำลังใจ โดยบอกเสมอว่า “ไม่เป็นไร แต่หากมีอาการไม่สบาย หรือไม่ไหวก็ต้องให้รีบโทรมาบอกเพื่อนๆ นะ”

“เพราะเราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา และยอมให้เขาทำในสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ เพราะตอนนี้ทุกคนก็มีความกังวลที่จะติดเชื้ออยู่แล้ว แต่ก็พยายามพูดคุยกันตลอด เวลาทำกิจกรรม เช่น ดูหนัง ก็วิดีโอคอลกับกลุ่มเพื่อนไปด้วย จะได้ไม่เหงา เพราะถ้าไปนั่งดูด้วยกันก็จะยิ่งทำให้เขากังวลมากขึ้นได้ ก็เป็นการเซฟทั้งตัวเราและเพื่อนด้วย” เธอกล่าว และว่า

เรื่องความเครียดไม่เข้าใครออกใคร ในฐานะที่ทำโครงการร่วมกับกรมสุขภาพจิตในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เกรซเล่าว่า สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าสถานการณ์โควิดในตอนนี้ ความเครียด ความกังวล อาจจะส่งผลต่อบางคน แต่อาจจะไม่ทุกคน เพราะปัจจัยที่ทำให้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้านั้นมีหลายประการ ขึ้นอยู่กับการโฟกัสว่าสิ่งนี้เป็นปัญหามากแค่ไหนของแต่ละบุคคล

แต่สถานการณ์โควิดตอนนี้อาจจะส่งผลให้เกิดความเครียดกับ “ทุกคน” ซึ่งก็ “ไม่ใช่เรื่องแปลก” แต่กลับเป็นเรื่องดีที่เราจะเปลี่ยนความกังวล มาเป็นความตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเองมากขึ้น เปลี่ยนจากความกังวลมาเป็นการดูแลตัวเองให้ดี ให้ห่างจากโรค

รับผิดชอบต่อสังคม ดูที่ ‘เจตนา’

สำหรับกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิดออกมาประกาศว่า “ติดเชื้อ” และมีผู้เข้าไปแสดงความเห็นมากมายทั้งให้กำลังใจ รวมถึงบางคนที่เข้าไป “ตำหนิ” นรินทรให้ความเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะทุกคนมีอิสระ ในส่วนของเกรซมองว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนไม่ตั้งใจจะนำไปแพร่เชื้อสู่คนอื่น เพียงแต่เขายังไม่รู้หรือยังไม่ปรากฏอาการออกมาแน่ชัด การที่เขาติดเชื้อแล้วเขาออกมาบอก จึงเป็นเหมือนการรับผิดชอบต่อสังคมในอีกทางหนึ่ง

“อย่างน้อยเป็นการทำให้เราตระหนักและกลับมาเช็กตัวเองว่า เราได้ไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงไหม ซึ่งการได้ทราบไทม์ไลน์ว่าเขาไปที่ไหนมาบ้างก็เป็นอีกทางที่จะช่วยหยุดการลุกลามได้เร็วมากขึ้นด้วย เพราะทุกคนที่เข้าข่ายเสี่ยงได้หยุดอยู่บ้าน หยุดแพร่เชื้อ” นรินทรกล่าว และฝากถึงเพื่อนๆ นักศึกษาอีกด้วยว่า ตอนนี้ทุกคนก็ต้องเรียนออนไลน์ เชื่อว่าอาจารย์ทุกคนพยายามทำทุกอย่างให้ปลอดภัยต่อตัวนักศึกษาและให้ดีกับนักศึกษาที่สุดในเวลานี้

ซึ่งมองว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปอาจจะไม่ได้เจอเพื่อนๆ การเรียนออนไลน์อาจจะติดขัดบ้างเรื่องอินเตอร์เน็ต ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาก็ซัพพอร์ตเรื่องอินเตอร์เน็ตสำหรับคนที่บ้านไม่อำนวยเรื่องอินเตอร์เน็ตด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะแสดงให้เห็นว่าทุกคนช่วยกันคนละไม้ละมือในสิ่งที่สามารถทำได้

เกรซ ร่วมส่งเจลล้างมือ – สเปรย์แอกอฮอล์ ให้รพ.ที่ขาดแคลน

นักศึกษาต้องตั้งใจเรียน

ช่วงนี้ทุกอย่างต้องออนไลน์ แม้กระทั่ง “การเรียนออนไลน์ที่บ้าน” เกรซกล่าวด้วยน้ำเสียงสดใสและแนะเคล็ดลับการเรียนออนไลน์ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การมีสมาธิ” เพราะเรียนที่บ้านไม่มีคนคอยดู บรรยากาศก็จะไม่เข้มข้นเท่าในห้องเรียน เพราะฉะนั้น ต้องมีสมาธิกับการเรียนมากๆ นอกจากนี้เธอยัง “ตั้งเป้าหมาย” ไว้ว่าเทอมนี้เทอมสุดท้ายแล้วจะต้องได้เกรดสวยๆ

ฉะนั้น ต้องพยายามขยันตั้งใจเรียนให้มาก ที่สำคัญเรียนออนไลน์อาจารย์ยังบันทึกเทปการสอนไว้ทำให้การทบทวนบทเรียนง่ายขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ทุกคนก็ต้อง “ปรับตัว” รับผิดชอบต่อตัวเอง และส่งกำลังใจให้กัน

“เกรซเชื่อว่าเราทุกคนจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกันได้” เกรซกล่าวทิ้งท้าย

รักษาใจห่างไกลโควิด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

น้ำใจนางงาม! เกรซ มิสไทยแลนด์เวิลด์ ส่งเจล-สเปร์ยล้างมือ ช่วยรพ.ที่ขาดแคลน

รู้จักกันให้มากขึ้น ‘เกรซ – นรินทร’ มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019

ฟังสกิล ‘เกรซ’ มิสไทยแลนด์เวิลด์ สปีคอิงลิช วาทะเด็ดรอบสุนทรพจน์ เวทีมิสเวิลด์

เปลี่ยนความเสียใจเป็นพลัง ‘เกรซ’ พร้อมสู้พิชิต ‘มงมิสเวิลด์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image