อ่านบทสนทนา #ย้ายประเทศกันเถอะ 5 ประเทศฮอตที่คนไทยอยากไปอยู่

อ่านบทสนทนา #ย้ายประเทศกันเถอะ 5 ประเทศฮอตที่คนไทยอยากไปอยู่

คึกคักไม่คึกคักก็ลองจินตนาการถึงสมาชิกในกลุ่ม “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” หรือแต่เดิมคือกลุ่ม “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่เพิ่มจำนวนแบบแตกหน่อ ก่อตั้งได้ 11 วัน ยอดสมาชิกพุ่งไปถึง 1 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อย (ข้อมูลวันที่ 11 พฤษภาคม) เฉลี่ยมีสมาชิกใหม่วันละราวๆ 1 แสนคน และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

#ย้ายประเทศกันเถอะ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากนึกภาพให้อลังการหน่อยก็เทียบความจุเท่ากับ 12 สนามราชมังคลากีฬาสถานเลยทีเดียว

เริ่มต้นจากกลุ่มผู้ประกอบการเล็กๆ ที่เจ็บปวดจากการทำธุรกิจในยุคโควิดได้ตั้งกลุ่มปรึกษากันเผื่อย้ายการลงทุนไปต่างประเทศ จนกลายเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น ไม่ได้มีเพียงแค่คนรุ่นใหม่แต่ยังมีวัยทำงาน ไปจนถึงวัยเกษียณที่มีเยอะจนน่าแปลกใจ

Advertisement

“ตัวเองคงย้ายไม่ทันแล้ว ก็ขอให้ลูกได้ย้ายไปประเทศอื่น” ความในใจของคุณแม่รายหนึ่ง

ซึ่งคงสรุปความทั้งหมดไม่ได้ว่าสมาชิกทั้ง 1 ล้านแอคเคาท์จริงจังกับการจะย้ายประเทศทั้งหมด แต่เชื่อว่าส่วนมากล้วนมีเสี้ยวหนึ่งในใจที่ฝันจะออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ตามหาโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศอื่น ซึ่งสิ่งสำคัญคือ “ข้อมูล” จากผู้มีประสบการณ์เพื่อมาวางแผนเส้นทางของตัวเอง

รวม 5 สาวดาว ‘ยูทูบเบอร์’ นำเสนอชีวิตคนไทยในต่างแดน

Advertisement

โดยเหตุผลหลักๆ ที่หลายคนระบุถึงการอยากย้ายประเทศ ประกอบด้วย รู้สึกสิ้นหวังกับการบริหารจัดการในประเทศ อยากหางานทำเพื่อคุณภาพชีวิตในอนาคตที่ดีกว่านี้ และเตรียมอนาคตไว้ให้ลูก

อดีตกลุ่มย้ายประเทศกันเถอะ จึงได้กลายเป็นกลุ่มที่จริงจังในการแบ่งปันข้อมูล ให้คำปรึกษาทั้งในการเตรียมเอกสารยื่นเป็น “พลเมือง” ของประเทศนั้นๆ ข้อดีข้อเสีย ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม และสวัสดิการที่จะได้รับ ตลอดจนเกิดการสอนภาษาขึ้นด้วย

ซึ่งในแต่ละวันมีสมาชิกตั้งกระทู้ในกลุ่มมากถึง 1 พันโพสต์ ครบสัปดาห์ก็ทะลุ 1 หมื่นโพสต์ไปโดยปริยาย สะท้อนถึง ‘อุปสงค์’ ในการย้ายประเทศได้ค่อนข้างชัด

แล้วประเทศไหนที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด วิเคราะห์จากหัวข้อในกลุ่มที่ติดแฮชแท็ก #ทีมประเทศ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม) ได้ดังนี้

อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา

ประเทศมหาอำนาจที่ได้รับความนิยมจากสมาชิกมากที่สุด ทั้งยังมีคนไทยในอเมริกาออกมาแชร์ประสบการณ์เยอะที่สุด โดยมีทั้งคนไทยที่ได้เป็นพลเมืองอเมริกาจากการแต่งงานกับคู่ชีวิต ยื่นสมัครลอตเตอรีกรีนการ์ด ทำวีซ่านักเรียน วีซ่าทำงาน และวีซ่านักลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้มีผู้มาแชร์ถึงข้อดีของการทำงานในหน่วยงานของรัฐที่อเมริกาว่า มีประกันสุขภาพ มีเงินเกษียณ เงินบำเหน็จบำนาญเอาไว้ใช้ตอนเกษียณ โดยเก็บเงินเข้ากองทุนเกษียณของตัวเองปีละ 6 แสนบาท มีสิทธิลาคลอดได้ตั้งแต่ท้อง 2 เดือนโดยที่ยังได้รับเงินเดือนปกติ

ส่วนประเภทงานก็มีหลากหลาย ซึ่งค่อนข้างมีอิสระและมีความยืดหยุ่น ระบบด้านเทคโนโลยีทันสมัย ขณะที่ข้อเสียคือในการดำเนินการในต่างประเทศอาจจะต้องใช้เงินจำนวนมากพอสมควร น้ำหนักความกดดัน ความเครียด ไม่ใช่น้อยๆ ต้องอดทนและซื่อสัตย์ หากเป็นเจ้าของกิจการอาจจะต้องคำนึงถึงค่าภาษีที่ค่อนข้างสูง แต่ในช่วงโควิด-19ระบาด รัฐบาลอเมริกาได้โอนเงินสดช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบการในประเทศด้วย

“อยู่ต่างประเทศไม่สบายหรอก แต่คุ้มค่าเหนื่อยเพราะเห็นอนาคตที่สดใสกว่า” ชายไทยใช้ชีวิตในอเมริกา 10 ปี รายหนึ่งกล่าว

อันดับ 2 ออสเตรเลีย

 

ที่ฮอตฮิตไม่แพ้กัน เส้นทางการย้ายประเทศของคนไทยในออสเตรเลียก็คล้ายๆ กับของอเมริกา อาทิ วีซ่านักเรียน วีซ่าทำงาน วีซ่าติดตามคู่ครอง/คู่สมรส วีซ่าสปอนเซอร์โดยนายจ้าง เป็นต้น ซึ่งมีคนแชร์ว่าทำงานทั่วไปสำหรับคนไม่ได้ภาษา รายได้ขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 17 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (436 บาทไทย) ต่อชั่วโมง รายได้ต่อสัปดาห์ (หากขยัน) อยู่ที่ 800-1,500 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (19,400-36,000 บาทไทย) แต่ค่าครองชีพก็ค่อนข้างสูง เช่น ที่พักเฉลี่ยสัปดาห์ละ 130 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (3,153 บาทไทย) ที่น่าสนใจคือมีคนแชร์สายงานช่างในประเทศออสเตรเลียว่ามีคนทำน้อยมาก โดยสายงานนี้จะนิยมให้ลองทำงานเลย ถ้าทำได้ก็รับเข้าทำงาน ทั้งยังแนะนำว่าใครอยากจะย้ายประเทศก็ต้องรีบย้ายเพราะกฏและเงื่อนไขต่างๆ เปลี่ยนทุกวัน การมี 2 พาสปอร์ตบางครั้งก็เป็นข้อดีว่ามีสิทธิมากขึ้นในการเลือกว่าจะอยู่ประเทศไหน

 

โดยมีคนชี้ให้เห็นว่า ข้อดีของออสเตรเลียคือใกล้บ้าน ต่อวีซ่าง่าย อัตราค่าแรงขั้นต่ำสูง เป็นศูนย์กลางของโลกยุคใหม่ ขนส่งสาธารณะดี อาหารการกินร้านเอเซียเยอะ ส่วนข้อเสียคือในประเทศที่พัฒนาแล้วคนหนึ่งคนสามารถทำอะไรได้หลายมากจนกระทั่งเกิดอาการเบื่อที่จะรับผิดชอบ และเบื่อที่จะหาข้อมูล จนนำไปสู่การจ้างทำให้จบๆ ไป ทำให้ค่าจ้างตรงนี้สูงซึ่งหากไม่ประหยัดก็อาจจะทำให้เงินหมดได้ ประกอบกับออสเตรเลียยังเป็นประเทศที่มีคนรวยจริงอยู่เยอะ ไลฟ์สไตล์หรูหรา หากไม่มีสติใช้ชีวิตตามเรฟเฟอเรนซ์คนดังก็อาจจะหมดตัวได้ง่ายๆ

อันดับ 3 ญี่ปุ่น

ประเทศที่นอกจากจะเป็นเดสติเนชั่นท่องเที่ยวยอดฮิตของคนไทย ยังติดอันดับประเทศที่คนไทยอยากย้ายไปอยู่ด้วย โดยมีสมาชิกรายหนึ่งเผยแพร่กระทู้ว่าด้วย 3 เหตุผลไม่ควรมาญี่ปุ่นเพื่อประกอบการตัดสินใจ ประกอบด้วย ภาษาญี่ปุ่นค่อนข้างเรียนยาก หากเทียบกับประเทศอื่นที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ, คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าทำงานหนัก แม้ว่าองค์กรสมัยใหม่จะเริ่มปรับให้มีความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตกับการทำงานมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีองค์กรที่มีคนรุ่นเก่าทำงานหามรุ่งหามค่ำ แม้จะไม่มีการบังคับแต่หากทำงานภายใต้สังคมแบบนั้นเราก็อาจจะกลายเป็นแบบนั้นได้ และเศรษฐกิจแย่ลงทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์

ทว่าข้อดีก็ยังคงมีมากกว่า ทั้งเรื่องค่าครองชีพที่ไม่แพง ผู้คนเป็นมิตร การขนส่งสาธารณะสะดวก ส่วนราชการให้บริการรวดเร็วเป็นระบบ สวัสดิการและการดูแลจากรัฐดี บ้านเมืองปลอดภัยเป็นระเบียบ เรียบร้อย และสะอาด อาหารอร่อย ฝนตกน้ำไม่ท่วม…

“ดีขนาดที่ลืมข้อเสียไปเลยก็ได้” สมาชิก #ทีมญี่ปุ่น รายหนึ่งกล่าว

อันดับ 4 แคนาดา

ประเทศที่มีสมาชิกจั่วหัวว่า “แคนาดาประเทศนี้อยู่ลำบาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ไม่ได้” แคนาดาเป็นประเทศที่ภาษีหนักหน่วง และภาษีบ้านก็แพงเช่นกัน ประกอบกับค่ารักษาที่แพงหูฉี่ ฉะนั้นหากมีเป้าหมายจะอยู่คนเดียว อาจจะต้องเตรียมตัวเยอะหน่อย ที่สำคัญคือสภาพอากาศที่แตกต่างจากไทยมากๆ แคนาดาในฤดูหนาวบางเมืองอุณหภูมิ -10 จนขนตาแข็ง คนไม่ชอบหนาวอาจจะไม่อิน!

แต่ในข้อดีก็คือกฏหมายของประเทศทำให้ทุกคนเท่าเทียม ไม่มีเรื่องชนชั้นให้เห็นเด่นชัด เรื่องอาหารการกินมีร้านสะดวกซื้อเอเซียเยอะ บ้านเมืองวิวสวย การศึกษาดีมาก สอนให้เด็กมีอิสระได้คิดได้เลือกในสิ่งที่ทำ และชาวแอลจีบีทีคิวเอ็นพลัสสามารถแต่งงานกันได้ หรือจะรับบุตรบุญธรรมก็ได้

อันดับ 5 เยอรมัน

สมาชิกรายหนึ่งแชร์ว่า เยอรมันเป็นประเทศที่มีข้อดีมาก เช่น สวัสดิการที่ดีต่อทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะแม่และเด็ก ระบบประกันสุขภาพและบำนาญที่ดี ครอบคลุมเท่าเทียม มีรากฐานมานาน และระบบการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ ขอเรียนฟรีจากรัฐได้ ในเรื่องค่าแรงเริ่มต้นที่ประมาณ 9 ยูโร (338 บาท) ต่อชั่วโมง

ทว่ามีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย อาทิ ในเยอรมันภาษีถือว่าจ่ายสูงพอสมควรโดยเฉพาะคนโสด ที่จะโดนเยอะกว่าคนมีครอบครัว, ไม่มีสายชำระให้, ระบบการแพทย์ที่แตกต่างจากไทย หากต้องการพบหมอเฉพาะทางจะต้องนัดหมายก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา (ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน) และหากมีเงินมากก็ไม่ได้ช่วยให้ได้พบแพทย์ไวขึ้น และไม่ว่าจะดำเนินการเรื่องอะไรต้องเก็บเอกสารเป็นหลักฐานไว้เสมอ

ที่สำคัญคือการสื่อสาร “ภาษาเยอรมัน” สำคัญมาก เพราะแม้ว่าคนในประเทศจะสื่อสารอังกฤษได้ แต่ก็มีพลเมืองอีกจำนวนมากที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษเลย

อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีข้อเสียกี่ข้อแต่หากปรับตัวได้ก็ใช้ชีวิตได้

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่คนไทยสนใจอยากจะย้ายไป อาทิ นิวซีแลนด์ อังกฤษ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และสวีเดน ตามลำดับ

ซึ่งจากที่หลายๆ กระทู้ได้โพสต์มักจะลงท้ายว่าไม่ว่าจะต้องการเดินทางไปยังประเทศไหนสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการหา “ข้อมูล” ที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง! นอกจากนี้หลายเคสก็ยังต้องเริ่มจากการมีวินัยในการทำงาน ขยันหางาน จนกว่าจะเจอกับงานที่ชื่นชอบจริงๆ ด้วย

ขณะเดียวกันในกลุ่มยังมีสมาชิกตั้งกระทู้สอบถามถึง “สายงานอาชีพ” ที่ตนทำอยู่ว่าในต่างประเทศนั้นมีแนวทางการทำงานคล้ายหรือแตกต่างกันอย่างไรกับในประเทศไทยจำนวนมาก โดยสายอาชีพที่ได้รับความสนใจขอคำปรึกษาก็มีความหลากหลาย อาทิ วิศวกร พยาบาล แพทย์ ไอที อาชีพบนเรือสำราญ ทหาร พ่อบ้าน โปรแกรมเมอร์ นักดนตรี นักกีฬา ยังมีอาชีพหมอดู ช่างไม้ และอื่นๆ ด้วย ขณะที่กลุ่มเยาวรุ่นก็สนใจที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ แลกเปลี่ยน สอบชิงทุน เข้าร่วมโครงการยอดนิยมอย่างเวิร์ก แอนด์ ทราเวล หรือโครงการออแพร์ (เลี้ยงเด็ก) จำนวนมาก

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องราวซีเรียสไปเสียหมด ยังมีหลายๆ โพสต์ที่มาแชร์เรื่องราวสนุกๆ ให้ได้มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะกัน เช่น กระทู้ว่าด้วยเรื่องหากได้ย้ายประเทศ ไอเท็มของไทยอะไรที่ควรพกไป สำหรับเจ้าของเรื่องแนะนำให้พก ยางวง ของไทยไปด้วยเพราะในต่างประเทศมีแต่เส้นใหญ่ๆ เส้นเล็กแทบไม่มี! ขณะที่บรรดาลูกหาบก็มาร่วมจอยกระทู้บอกว่า ยาดม/พิมเสนน้ำ ก็ห้ามลืมเพราะยกเป็นแรร์ไอเทมหาซื้อยาก นอกจากนี้สายกินก็ต้องมี ครกหินและสาก !! (ฮา)

ทั้งนี้ทั้งนั้น กลุ่มโยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย ก็ยังคงพัฒนาต่อไปโดยมีการจัดสัมนาออนไลน์ให้ความรู้เรื่องต่างประเทศ เปิดคอร์สสอนภาษา สอนการเขียนเรซูเม่สมัครเรียน/งาน ทั้งยังอยู่ในขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา ล่าสุดยังมีข่าวดีแชร์ข้อมูลข่าวสารเรื่องการหาทุนเรียนฟรีในต่างประเทศอีกด้วย

นับเป็นอีกหนึ่งโซเซียลมูฟเมนต์ในช่วงโควิด-19 ที่น่าจับตามอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image