ชีวิตใหม่ ‘น้องผู้ยากไร้’

โอกาสและต้นทุนของชีวิตมนุษย์ไม่เคยเท่ากัน

นี่คือสิ่งที่เราทุกคนรู้มาตลอด ต่อให้ไม่เคยสัมผัสถึงความลำบากด้วยตัวเอง แต่ก็สัมผัสได้จากข่าวสารต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามา และสาเหตุหลักๆ ของความเหลื่อมล้ำเหล่านั้นมาจากโอกาสและต้นทุนชีวิตที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ในวัยทำงาน โอกาสยังสามารถที่จะขยับขยายได้ตามความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ว่าสำหรับ “เด็ก” นั้น “การมอบโอกาส” คือสิ่งจำเป็นของการ “สร้างอนาคต” โดยเฉพาะ “โอกาสทางการศึกษา”

โอกาสหนึ่งในนั้นที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง “กองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2522 เพราะกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาเด็กที่ยากจนและด้อยโอกาสในชนบท ตั้งแต่วัยแรกเกิดถึง 6 ปีให้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และในวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงรับกองทุนพัฒนาเด็กชนบทไว้ในพระราชูปถัมภ์ และพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “กองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

Advertisement
น้องใบบัว- ด.ญ.สรชา บุญประเสริฐ
ใบบัว-ด.ญ.สรชา บุญประเสริฐ

ใบบัว-ด.ญ.สรชา บุญประเสริฐ วัย 7 ขวบ คือเด็กคนหนึ่งที่เคยได้รับทุนจากกองทุนฯ ซึ่งบอกด้วยรอยยิ้มหวานว่าชอบเรียนและอ่านหนังสือมาก

“โตขึ้นหนูอยากเป็นพยาบาลค่ะ เพราะจะได้ช่วยเหลือคนอื่นและช่วยเหลือแม่และยายตอนเจ็บป่วยได้ อยากมีโอกาสได้เรียนสูงๆ จะตั้งใจเรียนให้ดีเพื่อให้ที่บ้านสบาย”

น้องใบบัว- ด.ญ.สรชา บุญประเสริฐ 3

Advertisement

ด้านยุวดี ขาวขำ คุณยายของน้องใบบัว เล่าให้ฟังว่าทางครอบครัวประสบปัญหาคือพ่อแม่ของหลานสาวแยกทางกัน คุณยายอยู่กับหลานสองคน ส่วนแม่ของหลานได้เข้าไปทำงานในกรุงเทพฯรับจ้างทั่วไปไม่มีงานประจำ ส่งเงินกลับมาครั้งละ 500 ใช้จ่ายในบ้าน โดยที่ตนไม่ได้ประกอบอาชีพเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

“หลังจากได้ทุนมาก็แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในบ้านไปได้บ้าง ในส่วนค่าไปโรงเรียนแต่ละวันของหลาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะทุนต่างๆ ถูกแบ่งกระจายไปตามครอบครัวต่างๆ ที่ลำบาก ซึ่งมีหลายบ้านมาก ทำให้ต้องกระจายทุน ปัจจุบันหลานเรียนอยู่ชั้น ป.1 เป็นเด็กเรียนดี ชอบอ่านหนังสือ”

ขณะที่ครอบครัวของ ลูกศร-ด.ญ.ธนสรณ์ เนียมเจียม วัย 2 ขวบ ซึ่งเพิ่งได้รับทุนในปีนี้ มีเพียงคุณยายปาริชาติ ดีพิมาย ที่เลี้ยงหลานโดยลำพัง เพราะแม่ของลูกศรขายของตามตลาดนัดจึงต้องเดินทางเสมอ ส่วนคุณตาของลูกศรก็พิการ

น้องลูกศร-ด.ญ.ธนสรณ์ เนียมเจียม2
ลูกศร-ด.ญ.ธนสรณ์ เนียมเจียม2

วชิรพร แจ้งเอี่ยม พัฒนาการอำเภอเมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี เล่าถึงเคสของน้องลูกศรว่า แม้ทุนการศึกษาของลูกศรที่ต่อไปจะต้องเข้าไปเรียนในศูนย์เด็กเล็กนั้นอาจจะได้ไม่เยอะ แต่ก็จะได้ต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นการเยียวยาและช่วยเหลือครอบครัวที่ลำบากในเบื้องต้น ซึ่งทุนจากกองทุนพัฒนาเด็กชนบทในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นี้นั้น 1 อำเภอจะได้ 5 คน ขณะที่ อ.เมืองปทุมธานี มี 14 ตำบล บางตำบลจึงไม่ได้ เพราะเราต้องคัดเลือกเด็กที่ด้อยโอกาส ขาดแคลนผู้อุปการะ หรือว่ายากจนจริงๆ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยมากที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ยังมีเด็กๆ จากครอบครัวยากจนอีกมากมายที่หวังถึง “โอกาส” ทางการศึกษาที่จะช่วยทั้งชีวิตตนเองและครอบครัว สามารถดูรายละเอียดเพื่อร่วมบริจาคเข้ากองทุนได้ที่ www.cdf.cdd.go.th ซึ่งใบเสร็จสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image