คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : ที่นั่นมีความสุข

ห่างหายไปสักพัก เพราะวงไทยแลนด์ ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา หรือทีพีโอ หยุดพักไป 1 เดือน

พอเข้าเดือนพฤษภาคม วงทีพีโอเปิดการแสดงอีกครั้ง

วันก่อนแวะเวียนไปฟังตามประสาแฟนคลับ

พบปะผู้คนที่คุ้นหน้า แค่ยกมือสวัสดี พยักหน้า ก้มศีรษะทักทายก็รู้สึกคุ้นเคย

Advertisement

แวะเข้าไปในหอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล สถานที่แสดง

ทุกอย่างยังเหมือนเก่า สะอาด สงบ ก่อนการแสดงมีวิทยากรมาให้ความรู้

วิทยากรคือ ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ หัวหน้าสาขาวิชาอำนวยเพลง ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Advertisement

ส่วนคอนเสิร์ตในวันนั้น มีชื่อว่า “The Flying Dutchman”

เป็นทั้งชื่อเรือ และชื่อกัปตัน ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง “Pirates of the Caribbean” คงคุ้นๆ กับเรื่องราว

เรื่องนี้เป็นตำนานบอกเล่าของชาวยุโรปเกี่ยวกับ เรือปีศาจ ที่ถูกสาป

ทั้งเรือและกัปตันถูกสาปให้แล่นเรือวนเวียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้ผุดได้เกิด

ยกเว้นเสียแต่ว่า กัปตัน Dutchman จะพบรักแท้

และทุกๆ 7 ปี กัปตัน Dutchman สามารถลงจากเรือไปหาความรักได้ 1 ครั้ง

แล้วปีหนึ่งกัปตันก็ได้เจอกับลูกสาวของกัปตัน Daland ทั้งคู่รักกัน แต่มีเรื่องบางอย่างทำให้เกิดความไม่มั่นใจในรัก

ที่สุดกัปตัน Dutchman ตัดสินใจจะขึ้นเรือ ลูกสาวของ Daland พยายามยื้อให้อยู่ก็ไม่ยอม

ในที่สุดสาวเจ้ากระโดดทะเลฆ่าตัวตายเพื่อพิสูจน์ความจริงใจในรัก

ผลจากการพิสูจน์รักแท้ ทำให้เรือปีศาจ และกัปตัน Datchman พ้นจากคำสาป

เรื่องราวจบลงอย่างมีความสุข

เรื่องทั้งหมดนี้ ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) นักประพันธ์ดนตรีชาวเยอรมัน (ค.ศ.1813-1883) ได้ยินตอนที่ล่องเรือจากเยอรมนีจะไปอังกฤษ แต่โดนคลื่นลม

แทนที่จะใช้เวลาเดินทางแค่ 8 วัน กลับต้องเดินทางเป็นเดือน

เมื่อวากเนอร์เดินทางไปถึงฝรั่งเศส เกิดแรงบันดาลใจเขียนโอเปร่าเรื่องนี้ขึ้น

แต่วันที่ไปฟังวงทีพีโอบรรเลง ได้ฟังแต่บทโหมโรง หรือ Overture

บทโหมโรงที่รวมเอาทำนองเด็ดจากโอเปรามา “โหมโรง”

ทั้งเสียงประโคมอันดุดัน เปรียบเสมือนเรือปีศาจปรากฏ ทั้งเสียงทำนองไพเราะ ซึ่งเป็นทำนองในบทขับร้อง

รวมถึงทำนองสนุกสนานที่เป็นช่วงคอรัสของลูกเรือ

การแสดงในวันนั้น นอกจากบทเพลงที่น่าฟังแล้ว ยังมีคอนดักเตอร์รุ่นใหม่ และนักเชลโลดาวรุ่ง

Dionysis Grammenos เป็นคอนดักเตอร์เป็นชาวกรีก

Alexey Stadler เป็นนักเชลโลชาวรัสเซีย

นักเชลโลมาโซโลบทเพลง Cello Concerto in E minor,Op.85 ของ Edward Elgar นักประพันธ์ดนตรีชาวอังกฤษ (ค.ศ.1857-1934)

บทเพลงนี้โด่งดังมาก และเคยเป็นเพลงเอกในภาพยนตร์ประวัติของนักเชลโลหญิง Jacqueline du Pre มาแล้ว

บทเพลงนี้ เชลโลมีบทบาทตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งจบเพลง

คนที่เป็นโซโลอิสต์จึงต้องเจ๋ง

Alexey Stadler นักเชลโลที่มาแสดงในคอนเสิร์ตถือว่าฝีมือดี จึงขับกล่อมออกมาแล้วผู้ฟังชอบ

ส่วน Dionysis Grammenos คอนดักเตอร์หนุ่มหล่อชาวกรีกก็ได้แสดงฝีมือควบคุมเสียง

โดยเฉพาะบทเพลงสุดท้าย

บทเพลง Piano Quartet No.1 ที่ประพันธ์โดย โยฮันเนสส์ บราห์ม (Johanness Bramhms) (ค.ศ.1833-1897) นักประพันธ์ชาวเยอรมัน แต่ผ่านการ Orchestration โดย อาร์โนลด์ โชนเบิร์ก (Arnold Schoenberg) นักประพันธ์ดนตรีชาวออสเตรีย สัญชาติอเมริกัน (ค.ศ.1875-1951)

ก่อนการแสดงจะเริ่ม ดร.ธนพล ได้อธิบาย “คำ” ที่เกี่ยวกับการนำเอาบทเพลงต้นแบบมาดัดแปลง

คำหนึ่ง คือ Arrange หมายถึงนำของเก่ามาเรียบเรียงใหม่

อีกคำ คือ Orchestration คือการนำเอาเครื่องดนตรีในวงออเคสตรามาแทนเครื่องดนตรีที่ใช้ในบทเพลงเดิม

ดังนั้น Piano Quartet ซึ่งผ่านการ Orchestration จึงไม่มีเปียโนร่วมบรรเลงด้วยแต่อย่างใด

ช่วงที่เปียโนเคยบรรเลง จะถูกแทนที่โดยเครื่องเป่า อาทิ คลาริเนต และอีกหลายช่วงเครื่องเป่าได้เข้ามามีบทบาท

บทเพลงที่ได้ยิน จึงประกอบไปด้วยเสียงจากเครื่องดนตรีจากวงออเคสตราทั้งวง

บทเพลงจึงหนักแน่น หลากหลาย มีสีสันกว่าเดิม

การบรรเลงบทเพลงโดยวงออเคสตราเช่นนี้ จำเป็นต้องมีคอนดักเตอร์เป็นผู้ควบคุมการเล่น

ควบคุมเสียง ทั้งดัง-เบา ทั้งเร็ว-ช้า และอื่นๆ

ปรากฏว่า Dionysis Grammenos คอนดักเตอร์หนุ่มหน้าหล่อ สามารถควบคุมเสียงที่เปล่งออกจากวงทีพีโอได้เป็นอย่างดี

ธรรมดาเวลามาฟังเพลงที่มหิดลสิทธาคารจะพกพาความสุขจากที่นั่นกลับบ้านอยู่แล้วเป็นประจำ

พอมาเจอนักดนตรีเก่งๆ พอมาฟังคอนดักเตอร์ที่มากความสามารถในการควบคุมผสมเสียง

มาฟังบทเพลงคลาสสิกที่นักประพันธ์ดนตรีบรรจงแต่ง

ทุกอย่างล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ผู้ฟังมีความสุข

หลายคนที่ชอบเพลงคลาสสิกคงรู้ว่า ฟังการบรรเลงสดๆ นี่สุดยอด

หลายคนที่เคยไปฟังเพลงที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร คงทราบว่า ระบบเสียงที่นั่นเอื้อต่อการฟังแล้วมีความสุข

หลายคนจึงเวียนแวะไปฟังวงทีพีโอบรรเลง

ไปฟังกันถึงหอประชุมมหิดลสิทธาคาร ที่ศาลายา

ไปถึงที่นั่น เพราะรู้ว่าค่ำวันศุกร์ และเย็นวันเสาร์ เขามีดนตรี

ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มีดนตรีที่ให้ความสุข

ที่นั่นมีความสุข

เป็นความสุขที่รอให้ทุกคนไปหยิบฉวย

รอให้ทุกคนไปเติมเต็มความสุข เพื่อนำไปใช้ในวันข้างหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image