วงเสวนาผู้หญิงจี้รัฐเลิกล่อซื้อหญิงค้าบริการ หลังละเมิดสิทธิ-สร้างหลักฐานไม่สุจริต

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์จัดกิจกรรมเสวนา “จับเข่าคุย ล่อซื้อ 10 ปี แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือยัง?” เนื่องในสัปดาห์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานระหว่างประเทศ เอ็จจีโอด้านสิทธิสตรี ตลอดจนสื่อมวลชนกว่า 100 คนร่วมรับฟัง

โดย นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผุ้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะเห็นข่าวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจล่อซื้อ และบุกทลายสถานบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ก็จะเห็นภาพที่พนักงานบริการต้องใช้ผ้าเช็ดตัวสีขาว คลุมหัวด้วยความกลัวและอับอาย ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจและบรรดาสื่อมวลชนมากมายที่มาร่วมทำข่าว ขณะที่ตัวผู้ซื้อบริการกลับปล่อยตัวไปอย่างไม่มีความผิด การกระทำเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิพนักงานบริการอย่างมาก เป็นการเลือกปฏิบัติ และเข้าข่ายการสร้างหลักฐานโดยไม่สุจริต ซึ่งผิดตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 226 ที่ว่าด้วยพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีความผิด ต้องมิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ หลอกลวง อีกทั้งยังผิดอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ หรือซีดอ ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามไว้

นางสาวมันตากล่าวอีกว่า มูลนิธิยังอยากเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ แล้วใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้ามาดูแล ซึ่งคิดว่าวิธีนี้เท่านั้นจะช่วยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบอาชีพเลิกถูกตีตรา ได้รับความยุติธรรม ความคุ้มครอง และมีศักดิ์ศรี จากนั้นพวกเธอก็จะคอยเป็นหูเป็นตาให้รัฐ หากพบเห็นว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้ที่ถูกบังคับหลอกหลอกมาค้าบริการ ก็จะแจ้งรัฐดำเนินการต่อไป ดีกว่ามาจับผู้ขายบริการเสียค่าปรับและปล่อยตัว สุดท้ายก็กลับมาทำงานใหม่ในวันถัดไป

ขณะที่ นางสาวไหม จันทร์ตา ตัวแทนพนักงานบริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่า จากการได้พูดคุยกับพนักงานขายบริการหลายคนที่ถูกล่อซื้อและจับกุม พวกเธอได้รับผลกระทบทางจิตใจมาก เพราะส่วนมากจะล่อซื้อในลักษณะเข้ามาถามว่ามีเด็กไหม ชวนไปพูดคุย สร้างความไว้วางใจและความรู้สึกดี ถือเป็นการหลอกล่อให้พวกเธอกระทำผิด จนกระทั่งได้ขึ้นห้องก็ถูกจับกุมดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบในระหว่างคุ้มครอง โดยเฉพาะที่อายุเกินและรอเป็นพยานมักจะถูกส่งตัวไปในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งในนั้นไม่มีการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรเลย แม้จะไม่ใช่คุก แต่สภาพโดยรวมแย่ว่าคุกเสียอีก อย่างสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นๆ ไม่มีเลย อาทิ เสื้อผ้า แชมพู ผ้าอนามัย หรือเรื่องยาที่มีให้แค่ยาแก้ปวดเท่านั้น จนพวกเธอตั้งคำถามว่าเมื่อไม่พร้อมแล้วจะเอาพวกเธอมาไว้ทำไม

Advertisement

 

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การล่อซื้อพนักงานบริการที่ผ่านมา เป็นไปเพื่อต้องการจับกุมหญิงที่ขายบริการ โดยเจ้าหน้าที่จะใช้หลักการเดียวกับการล่อซื้อเพื่อจับกุมผู้ค้ายาเสพติด คือมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า โดยมีสายเข้าไปล่อซื้อโดยต้องจับให้ได้แบบคาหนังคาเขา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้ค้ายา แต่ทั้งนี้ การล่อซื้อพนักงานบริการหญิงกลับแตกต่าง และเข้าข่ายละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล อย่างการล่อซื้อจับกุมพนักงานบริการ แล้วใช้ผ้าคลุมโม่ง กรณีนี้มีผลวิจัยระบุว่า คนที่ถูกจับคลุมโม่ง จะมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนร้าย คนน่ารังเกียจ จึงต้องปกปิดอัตตลักษณ์ของตนเอง หนำซ้ำยังถูกสังคมตรีตรา ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กสม.เคยมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับเพศ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันไปถึงครอบครัว และคนรอบข้างเรา เจ้าหน้าที่จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง การนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวไม่ก่อประโยชน์อะไรเลย สังคมอาจได้เพียงแค่ความสะใจ และอาจตีตราบุคคลเหล่านั้นว่าเป็นคนผิด เป็นคนไม่ดี สมควรประณาม แต่ในทางกลับกันเรื่องนี้กลับเป็นความย้อนแย้ง ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสวนามีผู้เข้าร่วมงานออกมาแสดงความเห็น โดยเฉพาะผู้ทำงานด้านสิทธิสตรี ต่างแสดงความต้องการให้รัฐยกเลิกการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ เพื่อให้พนักงานขายบริการได้รับกูคุ้มครองดูแลจากรัฐ จากปัจจุบันที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายหน้าต่างๆนานา รวมถึงจะได้มีสิทธิในการทำงาน สุขภาพ การกู้เงิน ฯลฯ เสมือนแรงงานทั่วไป อีกทั้งจะเป็นหูตาให้รัฐช่วยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ก่อนมูลนิธิจะมีข้อเสนอ 3 ข้อไปยังรัฐบาล อาทิ ให้รัฐหยุดทำการล่อซื้อ เพราะถือเป็นการสร้างหลักฐานที่ไม่สุจริต เจ้าหน้าที่ที่ล่อซื้อต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ตลอดจนให้ผู้ค้าประเวณีไม่ผิด แต่ให้ถือเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ต้องได้รับความคุ้มครองช่วยเหลือ

นางสาวทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผุ้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image