เจ้าแม่คริสปี้ ครีม ‘อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ’ ถอดบทเรียนมหาวิกฤตโควิด ที่ ‘เขียนเป็นหนังสือ’ ได้เลย

เจ้าแม่คริสปี้ ครีม ‘อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ’ ถอดบทเรียนมหาวิกฤตโควิด ที่ ‘เขียนเป็นหนังสือ’ ได้เลย

“ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน คนเราเกิดมาบนโลกใบนี้ เราไม่รู้หรอกว่า พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร แต่จะพยายามวางแผนให้ได้มากเท่าที่ความรู้เรามี หรือประสบการณ์ที่เราเคยผ่านมาตลอดชีวิต”

บทเรียนจากมหาวิกฤตโควิด-19 ที่ “อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ” ประธานบริษัท เคเอฟยู จำกัด ผู้สร้างปรากฏการณ์คนแห่เข้าคิวรอซื้อโดนัทสัญชาติอเมริกา ‘คริสปี้ ครีม’ จนแถวยาวล้นออกมานอกศูนย์การค้า เผยกับ “มติชน” ในวันที่เธอฝ่ามรสุมโควิด-19 มาแล้วตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา

กว่า 13 ปีที่โดนัทคริสปี้ ครีม เปิดจำหน่ายในเมืองไทย “ตุ๊ก อุษณีย์” หรือที่ใครๆ ขนานนามเธอว่า “เจ้าแม่คริสปี้ ครีม” ผ่านบททดสอบมามากมาย ยิ่งมาเจอโควิด เธอถึงกับออกปากว่า “สามารถนำมาเขียนเป็นหนังสือได้เลย”

“คริสปี้ ครีม ปัจจุบันมี 50 กว่าสาขา เปรียบเหมือนคนอายุ 13 ปี ที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ผ่านอะไรมาเยอะแยะ เหมือนเด็กที่กำลังเรียนรู้ เหมือนกำลังจะเริ่มอยู่ตัว และกำลังพัฒนาไปในมุมอื่น แต่พอมาเจอวิกฤตโควิด ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเราไม่ได้คาดการณ์ตรงนี้มาก่อน ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา จึงเหมือนเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมพนักงานและลูกค้า เป็นสถานการณ์ที่เปิดตำราเรียนใหม่ตลอดเวลาว่า วันนี้ เราใช้บทไหนแก้ปัญหาดี ทุกวันจะต้องมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามาให้คิด มีเรื่องตื่นเต้นตลอดเวลา จนเป็นความเคยชินไปแล้วว่า วันนี้ ตื่นมาจะแก้ปัญหาอะไร เรียกว่า ต้องปรับตัวแก้ไขตลอด”

Advertisement

เผชิญหลาย “วิกฤต” ที่ทำให้ “มีสติ”

ยกตัวอย่างวันแรกที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ และประกาศให้ “ปิดห้าง” ซึ่งเรียกว่า สะเทือนธุรกิจสินค้าอาหาร เบเกอรี่ และเครื่องดื่ม ทุกแบรนด์ในเครือของเธอ เพราะสินค้าส่วนใหญ่เปิดร้านจำหน่ายในห้าง ไม่ว่าจะเป็น โดนัทคริสปี้ ครีม, ซินนาบอน, บูลโกกิ บราเธอร์ส, พาย เฟสซ์, แจมบาร์ จูซ และไอฮ็อป ซึ่งมีสาขารวมทุกแบรนด์มากกว่า 60 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

“ตอนนั้น พอรู้ว่าต้องปิดห้าง เบลอแบบงงไปเลย” เธอเล่าถึงความรู้สึกแรกแต่กระนั้นก็ยังประคองสติได้

Advertisement

“ตอนนั้นคิดเพียงว่า ถ้าตอนเบลอ เราไม่ควรตัดสินใจ ถ้าเราไม่เคลียร์ ไม่อยากตัดสินใจอะไรเร็วเกินไป เราต้องรวบรวมข้อมูลก่อน เลยคิดว่า เมื่อยังเครียดอยู่ เราไปทำอะไรที่ทำให้ผ่อนคลายก่อนดีกว่า เลยเดินไปทำผม (หัวเราะ) ไปทำสีผมดีกว่า จะได้ไม่เครียด เพราะร้านต้องปิดเป็นเดือน”

และในระหว่างทำผมอยู่นั้น

“เวลานั้นคือ อยากอยู่กับตัวเอง และมีสติ ระหว่างทำผม เราก็คิดวางแผนไปด้วย (หัวเราะ) ว่าจะทำยังไงต่อดี เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ใหม่ ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ทุกคนก็เจอ และเราจะผ่านตรงนี้ไปยังไง แล้วสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบอยู่ มันคือความรับผิดชอบต่อพนักงาน ต่อลูกค้า”

สุดท้าย หนทางแก้ปัญหาก็คิดได้ระหว่างที่ทำผมอยู่นั่นเอง

“เราต้องใช้ทุกนาทีให้มีค่า” เธอย้ำ แล้วว่า

“พอห้างปิด ร้านเราก็ปิดไปด้วย พนักงานที่พึ่งเราอยู่ 600 กว่าชีวิต ทำยังไงให้เค้ายืนต่อไปได้ จึงต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ในการเข้าถึงลูกค้า เช่น ในเมื่อห้างปิด ร้านเราปิด แต่เรามีร้านขายสินค้าแบบเคลื่อนที่ที่เรียกว่า Tuk Tuk เราก็ต้องหาสถานที่ เพื่อให้สามารถนำร้านไปตั้งได้ ในกรุงเทพฯ มีไหม เราเริ่มหาทำเลใหม่ๆ ทั้งห้องแถว และตามปั๊มน้ำมันตต่างๆ แล้วต่างจังหวัดล่ะ มีไหม โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังไม่เคยไปเปิดสาขา เพราะพอเป็นร้านแบบเคลื่อนที่ ทำให้ง่ายและสะดวกต่อการเปิดร้าน

ซึ่งต้องขอบคุณพนักงานทุกคน เพราะพอถามว่า พรุ่งนี้เราไประยองกันมั้ย ไป!! พรุ่งนี้ไปสุพรรณมั้ย ไป!! ทุกคนพร้อมไปกับเรา และต้องขอบคุณลูกค้าทุกท่าน เพราะเมื่อเราประกาศว่า วันนี้จะไปเปิดตรงนี้ จังหวัดนี้ ก็จะมีลูกค้ามาให้กำลังใจเรา มาซื้อสินค้า ด้านพนักงานเองก็ให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนหน้าที่ บางคนทำงานการเงินก็เปลี่ยนมาช่วยรับออเดอร์ นอกจากรูปแบบร้าน และสถานที่เปิดร้านที่ถูกปรับเปลี่ยนไป เรายังต้องหันมาพิจารณาแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ในมือว่า แบรนด์ใดที่ได้รับผลกระทบมากสุดกับการปิดร้าน ซึ่งร้านไอฮ็อป เป็นร้านแพนเค้กและอาหารที่ต้องรับประทานที่ร้าน

แม้เราจะเลือกบางเมนูมาขายแบบเดลิเวอรี่ แต่ยอดขายก็ยังน้อยมาก สุดท้ายจึงต้องตัดสินใจหยุดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ไอฮ็อป เพื่อไม่ให้แบกรับภาระมากเกินไป”

“เรามีการประชุมวอร์รูมพูดคุยวางแผนว่าจะปรับไปทิศทางไหนตลอด ตั้งแต่เกิดวิกฤตมา เราไม่ทิ้งพนักงานสักคน เราพร้อมที่จะจูงมือกันไป เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน แต่บางครั้งเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผน ก็สนุกไปอีกแบบ พยายามมองชีวิตในแง่บวก เพื่อที่จะได้เรียนรู้การมีสติ และคุมสติได้”

ตลอด 13 ปีที่อยู่ในวงการธุรกิจอาหาร เบเกอรี่ และเครื่องดื่ม ตุ๊ก อุษณีย์ ยอมรับว่า ครั้งนี้ “หนักที่สุด”
“ที่ผ่านมา คิดว่าแค่น้ำท่วมก็เหนื่อยแล้ว” เธอเปรย ก่อนว่า

“เราผ่านมาหลายวิกฤต ผ่านเรื่องเครียดมาเยอะ บางเรื่องจบใน 72 ชั่วโมง อย่างคดีจ่าคลั่งที่โคราชที่กราดยิงในห้างสรรพสินค้า ตอนนั้นมีคุณพ่อคุณแม่พาลูก 2 ขวบกว่า และ 3 ขวบมาซื้อโดนัท พอเกิดเหตุขึ้นพนักงานจึงปิดประตูร้าน และพาครอบครัวของลูกค้าไปซ่อนตัวกันอยู่หลังร้าน ตอนนั้นเครียดมาก เพราะชีวิตของพนักงานและลูกค้าอยู่ที่นั่น ตุ๊กบอกพนักงานตลอดเวลาว่า ใจเย็นๆ สวดมนต์ไว้ พนักงานก็จะคอยรายงานว่า จ่าเดินผ่านไปผ่านมาหน้าร้านตลอดเวลา ยิ่งทำให้เครียดมาก เพราะร้านเป็นกระจกใส แถมมีเด็กเล็กอยู่ข้างในตั้ง 2 คน ถ้ามีเสียงแอ๊ะขึ้นมา จ่าจะยิงเข้าไปในร้านทันที ทุกนาทีเราไม่รู้อนาคตคืออะไร อยู่กันแบบนั้น 8 ชั่วโมงเต็ม

“แต่ด้วยเดชะบุญ เหมือนปาฎิหารย์จริงๆ เราผ่านตรงนั้นมาได้ด้วยโดนัท เพราะพอเด็กหิว แล้วเค้าได้กินขนมได้กินของหวาน เค้าจะมีความสุข เค้าเลยไม่ร้อง เงียบตลอดเวลา ซึ่งเป็นไปได้ยังไง คือ ทุกคนงงมาก เด็กเล็กขนาดนี้ ไม่ร้องเสียงดังเลย จะมีตื่นเต้นก็ตรงพนักงานต้องคลานออกมาเพื่อหยิบโดนัทในตู้ และหลบเข้าไปข้างใน วันนั้นเครียดจนเหมือนตัวเกร็งไปหมดทั้งตัว โดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อชีวิตคน ทั้งลูกค้าและพนักงานที่ติดในร้านเรา เราต้องดูแลอย่างดีที่สุด”

เหตุจ่าคลั่งเกิดเดือนกุมภาพันธ์ อุษณีย์คิดว่า “จบแล้วปัญหาหนัก” กระทั่งเดือนมีนาคม

“โควิดก็มาต่อเลยค่ะ จริงๆ เริ่มพบผู้ป่วยตั้งแต่เดือนมกราคม แต่เริ่มมีมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมและเป็นปัญหาที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ยังตอบไม่ได้ เพราะความเสี่ยงยังมีอยู่”

แม้ปัญหาจะหนักเพียงไหน ผู้หญิงเก่งคนนี้ก็ยึดคำสอน “คุณพ่อ” ประยุทธ มหากิจศิริ เจ้าพ่อเนสกาแฟ ที่ว่า

“ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้แบก”

“พยายามเข้มแข็ง สู้กับวิกฤตที่เกิดขึ้น เพราะเรายังไม่รู้ว่าโควิดจะจบลงเมื่อไร ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สุขภาพสำคัญที่สุด เราจะทำยังไงให้สุขภาพแข็งแรง และมีแรงมาทำงาน และเพื่อวางแผนเท่าที่เราจะทำได้ เท่าที่ความรู้เรามี เพื่อที่เราจะสามารถผ่านไปได้”

ผู้หญิงเก่ง-แบบอย่างที่ดีของลูก

เป็นผู้หญิงเก่งที่เจ้าตัวบอกอย่างถ่อมตัวว่า “ไม่เลยค่ะ”

แต่เมื่อพลิกดูโปรไฟล์ ตุ๊ก-อุษณีย์ จบการศึกษาปริญญาตรีจากเศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปริญญาโท 2 ใบ MSA มหาวิทยาลัยบอสตัน และ MBA วิทยาลัยแบ็บสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา, ปริญญาเอกบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย

ประวัติการทำงานนอกจากธุรกิจด้านอาหาร เบเกอรี่ และเครื่องดื่มแล้ว ยังเป็นผู้บรรยายพิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยชื่อดัง ทั้ง ม.ธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งทำงานเพื่อสังคมมากมาย และได้รับรางวัลผู้หญิงเก่งในด้านต่างๆ ทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ มากถึง 25 รางวัล ล่าสุดกับรางวัล Outstanding Leader และ คริสปี้ ครีม ประเทศไทย รับรางวัล Top Brand ในฐานะที่เป็นบุคคลและแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งปี 2564

“ผู้หญิงเก่งๆ กว่าตุ๊กมีมากมาย ตุ๊กมองว่าตัวเองเพิ่งจะเริ่มต้น และมองรุ่นพี่ที่อยู่ในโลกธุรกิจเป็นอินสไปเรชั่น และตั้งใจทำทุกวันให้ดีที่สุดเมื่อเรามีโอกาส เพราะนอกจากการทำงาน ผู้หญิงเรายังมีหน้าที่อื่นๆ ทั้งเป็นแม่ของลูก เป็นภรรยา และเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ ผู้หญิงมีหลายๆ หน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้การทำงาน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ทำหน้าที่ตรงนี้ให้สมดุลกันและควบคู่กันกันอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน ก็ต้องเป็นการบริหารจัดการในแต่ละวันที่มีความละเอียดอ่อนและมีความสำคัญ เพราะไม่มีอะไรสำคัญมากน้อยไปกว่ากัน ซึ่งตุ๊กเป็นแม่ของลูกสาว 2 คน ลูกชาย 1 คน ก็อยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ถ้าบอกลูกไปว่า ตั้งใจเรียนนะลูก ต่อไปจะได้ทำงานดีๆ ซึ่งถ้าตุ๊กไม่ทำงาน ลูกก็จะถามได้ว่า แล้วแม่ทำอะไรล่ะคะ แค่คำถามเดียวก็จอดแล้ว ไม่อยากเจอคำถามนี้จากลูกในอนาคต”

“การมาอยู่ตรงนี้ก็ทำให้เราสามารถแบ่งปัน เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น พอมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เค้าก็จะสามารถไปดูแลครอบครัวของเค้าได้ ดีใจที่เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยเหลือดูแลพนักงาน รวมทั้งได้มีโอกาสทำโปรเจ็ค “Super60″ คือการรับคนที่เกษียนอายุงานแล้ว แต่ยังอยากทำงาน อยากมีรายได้ มาเป็นพนักงานของร้านคริสปี้ ครีม ซึ่งคุณตาคุณยายที่สมัครมาร่วมงานมีเกือบ 100 คน กระจายไปตามสาขาต่างๆ ที่ใกล้บ้าน และสะดวกต่อการเดินทางไปทำงาน ท่านสามารถเลือกวันและเวลาในการทำงานได้เอง โดยได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าพนักงานทั่วไป และมีสวัสดิการเช่นเดียวกับพนักงานประจำ แต่ตอนนี้ต้องขอให้ท่านหยุดงานชั่วคราว เนื่องจากผู้สูงอายุจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงลำดับต้นๆ”

“และดีใจที่สุด คือ เมื่อลูกค้าได้ทานขนมของเราแล้ว มีรอยยิ้ม หรือซื้อไปทานกับคนที่เค้ารัก แล้วครอบครัวของเค้ามีความสุข เท่านี้ก็ดีใจมากแล้ว รวมทั้งในหลายๆ โอกาสสำคัญในชีวิตของลูกค้าที่เราได้มีส่วนร่วม เช่น ลูกค้ามาขอแต่งงาน หรือมาขอเป็นแฟนกันที่ร้านเรา”

“หลายๆ อย่างเกิดขึ้น และเป็นความสุขที่เกิดขึ้นที่ร้าน เราก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในโอกาสที่สำคัญๆ ของลูกค้า ซึ่งเราจะพยายามทำเต็มที่ต่อไป”

ทำเต็มที่ในทุกด้าน

แม้จะต้องรับมือกับสารพัดปัญหาที่เข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน อีกทั้งยังต้องทำหน้าที่แม่และภรรยา แต่ผู้หญิงเก่งคนนี้ก็ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง แบ่งเวลาจากการที่เวิร์ก ฟรอม โฮม ที่ทำให้ไม่ต้องตื่นเช้าฝ่ารถติดไปทำงานที่ออฟฟิศ ลงเรียนออนไลน์ปริญญาโทนิติศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเห็นความสำคัญของกฎหมายที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และสามารถนำมาใช้กับการทำงานได้ด้วย

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตุ๊กก็ได้ปริญญาโทเพิ่มอีก 1 ใบ ทางด้านนิติศาสตร์ พยายามใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หาความรู้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับลูกด้วย เพราะลูกเรียนออนไลน์ที่บ้าน ก็ทำให้ลูกเห็นว่า แม่ก็เรียนเหมือนกัน เค้าจะได้รู้สึกว่ามีเพื่อน ไม่ได้เรียนคนเดียวนะ และเพื่อให้ลูกๆ เห็นว่า ถึงแม้แม่จะต้องทำงานและแก้ปัญหามากมาย แต่การเรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ และหากจัดสรรเวลาได้ เราก็สามารถทำหลายๆ เรื่องให้สำเร็จไปควบคู่กันได้ ซึ่งเมื่อลูกเห็นแม่ทำงานและเรียนหนักแบบนี้ ลูกก็บอกว่า โตขึ้นอยากจะทำงานให้เก่งๆ ให้แม่ได้พักบ้างนะ แค่นี้ก็ดีใจแล้ว”

นอกจากการเรียน โควิด-19 ทำให้เธอและครอบครัวหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

“ที่บ้านมีสนามเทนนิสอยู่ ก็ลงมาเล่นเทนนิสทุกวัน ลูกก็ได้เล่นกีฬาเทนนิสไปด้วย ใช้ 24 ชั่วโมงอย่างมีประสิทธิภาพ คือมาเล่นเทนนิสพร้อมกัน ก็ใช้เวลาร่วมกับลูก ลูกก็เริ่มเล่นได้ ก็ดีใจที่เค้าจะได้มีกีฬาติดตัวไปทั้งชีวิต และการเรียนรู้ที่จะดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็กก็สำคัญ”

กับสามี “ลอภ์เรนฆ์ ลีโอณีโอ” นักธุรกิจชาวฟิลิปปินส์ ที่โควิดทำให้สามีเดินทางไปฟิลิปปินส์ไม่ได้ ต้องทำงานแบบทางไกลเช่นกัน จึงกลายเป็นได้มีโอกาสอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมงจริง ๆ และคอยเป็นกำลังใจให้กันและกันในยามวิกฤต ขณะที่กับ “คุณพ่อ-คุณแม่” ประยุทธ-สุวิมล มหากิจศิริ โควิดทำให้ “อยู่ห่างๆ แบบห่วงๆ”

“ไม่ได้ทานข้าวกับคุณพ่อคุณแม่มาเป็นปีแล้ว ผู้ใหญ่อายุ 70 กว่าแล้ว ก็ต้องระวัง มีทานข้าวร่วมกันเฉพาะวันปีใหม่ แต่เป็นการทานข้าวร่วมกันโดยที่ไม่มีแอร์ จัดโต๊ะอยู่ในสวน ก็เป็นช่วงเวลาเคาท์ดาวน์ที่แตกต่างไปจากทุกปี”

ตุ๊ก-อุษณีย์ เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเวลา เพราะเห็นว่า เราย้อนเวลาไม่ได้ จึงบริหารเวลาทุกวันให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

“หลักบริหารเวลาของตุ๊ก จะคิดก่อนว่า ลำดับความสำคัญคืออะไร วันนี้ก็จะคิดแล้ว พรุ่งนี้ทำอะไร อะไรสำคัญกับชีวิต โอเค เรื่องสุขภาพ ถ้าเราไม่แข็งแรง เราจะดูแลคนอื่นต่อยังไง เราดูแลสุขภาพเราดีหรือยัง นอนดึกมั้ย เริ่มมาดูแลตัวเอง พอดูแลตัวเองเสร็จปุ๊บ ก็จะมองเป็นวงกลมที่ใหญ่ขึ้นๆ สามีเป็นยังไง ลูกเป็นยังไง พ่อแม่ พนักงาน ลูกค้า ก็เป็นวงกลมๆ ขยายออกไป คิดว่า พรุ่งนี้ มีปัญหาอะไรสำคัญ 1 2 3 ก็จะลิสต์ ตื่นเช้าปุ๊บ ตุ๊กจะใช้เวลาแค่ 3-5 นาทีในการคิดว่า วันนี้จะทำอะไร 1 2 3 4 5 ใช้สมาธิแป๊ปเดียว (หัวเราะ)”

เรียนรู้จากโควิด-วางแผนอนาคต

ผู้บริหารคริสปี้ ครีม มองว่า เกิดวิกฤตนี้ ทำให้เห็นว่า โลกเหมือนกับกว้าง แต่จริงๆ ไม่กว้างเลย เชื้อโรคมันไปทั่วโลกได้รวดเร็ว ถึงจะปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เปลี่ยนเป็นทำงานและเรียนผ่านออนไลน์ หลีกเลี่ยงการพบปะ แต่จริงๆ แล้วเชื้อโควิด-19 ก็ติดต่อกันได้เร็วมาก ดังนั้น เราต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังทุกฝีก้าว พยายามอ่านหนังสือ หรือพยายามดูข่าว และเมื่อดูข่าวก็ต้องมาวิเคราะห์ว่า ข่าวตรงนี้เป็นยังไง กระทบกับส่วนไหนบ้าง มิติไหนบ้าง มิติครอบครัว หรือสุขภาพ ต้องดูหลายๆ มุมมอง เพราะความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

“เราต้องอยู่กับโลกใบนี้ที่หมุนไปทุกวัน เราต้องทำทุกวันอย่างดีที่สุด เพราะเราย้อนกลับไปเมื่อวานไม่ได้ จึงต้องทำปัจจุบันนี้อย่างมีสติ และดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ มีสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เราก็ต้องอยู่ให้ได้”

สำหรับแผนธุรกิจหลังจากนี้ ตุ๊ก อุษณีย์ เผยว่า จริงๆ มีแผนจะไปเปิดร้านที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ตอนนี้ก็ยังอยู่ในความคิดว่า จะไปดีหรือไม่ไปดี เพราะขนาดประเทศเราที่พูดภาษาเดียวกัน ยังต้องแก้ปัญหาร้อยแปดพันเก้า แต่ถ้าไปต่างประเทศ ณ วิกฤตแบบนี้ เราไม่รู้ว่าเค้าจะมีกฎหมายหรือกฎระเบียบอะไรใหม่ๆ หรือเปล่า เพื่อใช้เป็นแนวทางการใช้ชีวิตถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ซึ่งกับที่นี่ กับคนไทยเราเริ่มคุ้นชินแล้ว พูดจาภาษาเดียวกัน ก็พอจะหาทางออกให้ได้ แต่กับต่างประเทศเป็นความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิตว่าจะก้าวเดินไปหรือไม่

แม้จะเผชิญกับวิกฤตหนักแค่ไหน แต่ผู้หญิงคนนี้ก็ยังมองว่า ยังมีคนที่หนักกว่าเธอ ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เธอจึง “ส่งความอร่อย” ของโดนัทคริสปี้ ครีม ไปให้หน่วยงานและโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นการส่งพลังใจและคำขอบคุณไปยังบุคลากรด่านหน้าทุกคน

“ถึงแม้เราเหนื่อย แต่ก็มีคนที่เหนื่อยกว่าเรา เลยอยากให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้ามีรอยยิ้ม อยากให้เค้ามีกำลังใจ และรู้ว่า เราซาบซึ้งและอยากขอบคุณในความเสียสละของเค้า อยากให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อยากเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นพลังให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เล็กๆ น้อยๆ อาจไม่ได้มีมูลค่าอะไรมากมาย แต่เป็นความตั้งใจมากกว่าว่า เราพอจะทำอะไรได้บ้าง และอยากทำในสิ่งที่เราคิดว่าดี” เจ้าแม่คริสปี้ ครีม ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image