เบื้องหลังสุดยิ่งใหญ่ ‘ฉาก-ประติมากรรม’ โขนศิลปาชีพฯ ตอน ‘สะกดทัพ’ หนุมานเคลื่อนไหวได้

เปิดเบื้องหลังสุดยิ่งใหญ่ ‘ฉาก-ประติมากรรม’ โขนศิลปาชีพฯ ตอน ‘สะกดทัพ’ หนุมานเคลื่อนไหวได้

ก่อนที่การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี 2565 อันงดงามตระการตาจะโลดแล่นบนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เปิดโอกาสสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมความคืบหน้างานฉากและประติมากรรม ประกอบการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สะกดทัพ”

โดยมีอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างประติมากรรม และเครื่องประกอบฉาก ร่วมพาชมพร้อมเปิดเผยเบื้องหลังการจัดทำหุ่นยักษ์หนุมานแปลงกาย และงานจิตรกรรมฉาก พร้อมด้วยอาจารย์วิชัย รักชาติ ผู้ดูแลการเขียนฉาก ณ อาคารเรียน-รู้-เรื่อง-โขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

Advertisement

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างประติมากรรม และเครื่องประกอบฉาก การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สะกดทัพ” กล่าวถึงฉากไฮไลท์ที่แตกต่างจากเดิม เนื่องจากเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ได้แก่ ฉากหนุมานต้องแผลงฤทธิ์ แปลงร่างใหญ่ยักษ์ 4 พักตร์ 8 กร สูงเทียมฟ้า เคลื่อนไหวด้วยกลไกทันสมัย รวมทั้งฉากที่เคยสร้างความประทับใจอื่นๆ ซึ่งจะมีการปรับเพิ่มเติมเทคนิคให้มีความน่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น เช่น ฉากหนุมานอมพลับพลา ที่จะโชว์ความประณีตอลังการของการสร้างสรรค์ฉากที่ชวนตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น

“การแสดงโขนครั้งนี้ ท้ายเรื่องมีฉากไฮไลท์ที่เพิ่มเติมจากตอน ‘ศึกมัยราพณ์’ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ที่เคยแสดงเมื่อ 10 ปีก่อน คือ ฉากที่หนุมานแปลงกายขนาดใหญ่ ใช้มือจับแมลงภู่ในหุบเขาไร้รักแล้วขยี้จนตาย ไมยราพที่ฝากดวงใจไว้ในแมลงภู่ก็ขาดใจตายในที่สุด จึงมีการสร้างสรรค์ประติมากรรมหนุมานแปลงกาย 4 พักตร์ 8 กร ขนาดใหญ่สูงถึง 8 เมตร พร้อมมีเทคนิคพิเศษในการออกแบบกลไกให้เคลื่อนไหวได้ เพื่อให้เป็นไปตามบทพระราชนิพนธ์ รวมทั้งมีประติมากรรมที่เป็นที่จดจำและนำกลับคืนสู่เวทีอีกครั้ง อย่างฉากหนุมานอมพลับพลา ขนาดใหญ่ สูง 8.50 เมตร ที่นำโครงสร้างเดิมนำกลับมาปรับปรุงใหม่ให้อลังการยิ่งขึ้น”

Advertisement

อาจารย์สุดสาคร กล่าวอีกว่า สำหรับ ฉากงานจิตรกรรมฉากออกแบบและเขียนใหม่เกือบทั้งหมด เนื่องจากฉากเดิมชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา จึงระดมช่างฝีมือดีจากทีมงาน อ.วิชัย รักชาติ มาช่วยกันสร้างสรรค์ฉากให้สวยสมบูรณ์แบบ โดยมีฉากใหญ่ 4 ฉาก เช่น ฉากเขาชนกัน ฉากป่าตาล ฉากป่าทึบ ฉากม่านพระ โดยความพิเศษ คือ “งานจิตรกรรมฉากม่านพระ” ที่ต้องทำขึ้นใหม่แทนฉากเดิมที่ทอด้วยพรมของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งส่งไปทอประเทศญี่ปุ่น ชำรุดเสียหายไปหมดแล้ว

“ความสำคัญของฉากและประติมากรรมประกอบการแสดงโขน เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมโขน ช่วยขยายจินตนาการให้ผู้ชมได้เห็นภาพความเป็นจริง ช่วยขยายความท่าร่ายรำว่าโขนแต่ละตัวแสดงอยู่ในเหตุการณ์อะไร สร้างรสนิยมให้ผู้ชมในการชมศิลปะการแสดงในราชสำนักชั้นสูง”

อ.สุดสาคร กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รับสั่งว่า การที่เราทำโขนเท่ากับการฟื้นช่างทุกสาขา ซึ่งเป็นศิลปะราชสำนัก ตระกูลช่างหลวง ชาติไทยเรารักษาเก่งเป็นสิ่งที่เราประสบความสำเร็จจริงๆ

ด้าน อาจารย์วิชัย รักชาติ ผู้ดูแลการเขียนฉาก นำทีมนักศึกษาที่สำเร็จแล้วและยังศึกษาอยู่จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ และช่างเขียนจิตรกรรมกรรมฝาผนังที่มีความชำนาญ ร่วมระดมสรรพกำลังเพื่อสร้างสรรค์จิตรกรรมฉากในการแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” ให้งดงามตระการตาอย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมเล่าถึงเบื้องหลังในการทำงาน ว่า

“การสร้างจิตรกรรมฉากต้องตีความจากวรรณกรรม โดยมีต้นแบบของภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์มาจากระเบียงคดวัดพระแก้ว, ลายรดน้ำ, ภาพหินแกะสลักที่วัดโพธิ์ ซึ่งเมื่อนำมาตีความก็จะต้องนำมาออกแบบใหม่ในรูปแบบของโขนมูลนิธิฯ ที่ยังคงรักษาจารีตในรูปแบบศิลปกรรมไทย เช่น การเขียนสีอย่างเทคนิคลายกำมะลอ เทคนิคการเขียนลายรดน้ำ เพื่อถ่ายทอดความงามของศิลปกรรมไทยที่นำเสนอผ่านการแสดงโขนด้วย”

“โดยจิตรกรรมฉากต่างๆ จะเขียนให้สอดรับกับประติมากรรม อย่างฉากภูเขาถล่ม ในด่านเขากระทบกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในด่านที่หนุมานต้องฝ่าฟัน โดยใส่จินตนาการบวกเข้าไปให้เป็นภาพภูเขาไฟถล่ม มีไฟปะทุขึ้นมา เพื่อให้สอดรับกับเนื้อเรื่องและประติมากรรม หรือฉากดงตาล ก็จะสอดรับกับประติมากรรมไฮไลท์คือ หนุมานเนรมิตกายใหญ่ยักษ์ เพื่อมาจับแมลงภู่ที่ซ่อนดวงใจไมยราพไว้ในหุบเขาไร้รัก รวมทั้งฉากม่านพระ ที่เขียนขึ้นมาใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด โดยเปลี่ยนเทคนิคจากการปัก เป็นการเขียนขึ้นใหม่ อย่างเทคนิคลายรดน้ำโดยมีองค์ประกอบเป็นรูปพระพุทธเจ้าเป็นประธานและเทพเจ้าต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาอยู่ในวรรณกรรมรามเกียรติ์ เช่น พระนารายณ์ พระอิศวร พระพรหม พระอินทร์ พระพิฆเนศ พระวิษณุกรรม พระอาทิตย์ พระจันทร์ โดยอ.สุดสาคร เป็นผู้ออกแบบม่านพระ และควบคุมการจัดสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนดการจัดแสดงโขน โดยในม่านพระนี้มีการสอดแทรกปริศนาธรรมเข้าไว้ด้วย”

สำหรับความยากง่ายในการสร้างสรรค์แต่ละฉาก อาจารย์วิชัย กล่าวเสริมว่า “หากเป็นภาพที่มีลวดลายเป็นแบบแผน ก็ต้องใช้ช่างเขียนที่มีทักษะด้านจิตรกรรมไทย และต้องมีความรู้ด้านการเขียนแบบประเพณี รวมทั้งมีความเข้าใจในเรื่องนาฏยลักษณ์ คือ ท่าทางการยืน เดิน นั่ง อันเป็นลักษณะเฉพาะตามแบบแผนนาฏศิลป์ไทย นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานทั้งการเขียนแบบศิลปะไทยและสากลเข้าด้วยกัน เพื่อสื่อความหมายให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ด้วย”

นอกจากความงดงามของงานประติมากรรมและจิตรกรรมฉากแล้ว ในส่วนของเครื่องโขนก็มีการออกแบบให้มีความวิจิตรตระการตายิ่งขึ้น ทั้งพัสตราภรณ์ (เครื่องแต่งกายโขน) และถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับตกแต่ง) จัดทำโดยช่างฝีมือรุ่นใหม่ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่มีทักษะฝีมือจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากว่า 10 ปี โดยครั้งนี้มีการสร้างเครื่องแต่งกายของไมยราพและตัวโขนอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ อีกกว่า 100 ชุด เพื่อทำให้พัสตราภรณ์ที่ปรากฏแก่สายตาผู้ชมบนเวที งดงามสมการรอคอย

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2565 ตอน “สะกดทัพ” กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 1,820 / 1,520 / 1,020 / 820 / 620 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดพักการแสดงทุกวันจันทร์และอังคาร) ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและควบคุมการสร้างประติมากรรม และเครื่องประกอบฉาก การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สะกดทัพ”
อาจารย์วิชัย รักชาติ ผู้ดูแลการเขียนฉาก

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image